INSURANCETHAI.NET
Fri 19/04/2024 10:32:02
Home » ประวัติบริษัทประกันวินาศภัย แอ๊ดวานซ์อินชัวรันส์ » แอ๊ดวานซ์ อินชัวรันส์(ปิด)\"you

แอ๊ดวานซ์ อินชัวรันส์(ปิด)

2011/09/15 2461👁️‍🗨️

แอ๊ดวานซ์ อินชัวรันส์ / เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ หรือ APFII

บริษัท แอ็ดวานซ์อินชัวรันส์ จำกัด
ainsure.co.th

บริษัท แอ๊ดวานซ์อินชัวรันส์ จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น AFPII

“เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด” (A.P.F. International Insurance Co., Ltd) หรือ “APFII”
ซึ่งเมื่อก่อนเป็น บริษัทแอ๊ดวานซ์ อินชัวร์รันส์ จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540 ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยแบบครบวงจร ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 320 ล้านบาท (ชำระเต็ม) วันที่ 20 สิงหาคม 2551 ปัจจุบันมีกองทุนส่วนบุคคล Asia Partnership Fund Group หรือ APF Group เข้ามาร่วมถือหุ้นและทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 477 ล้านบาท ทำให้การดำรงเงินกองทุนบริษัทเป็นไปตามกฎหมายกำหนด จนกลายมาเป็น “APFII” ในปัจจุบัน

บริษัท แอ๊ดวานซ์ อินชัวร์รันส์ จำกัด ซึ่งเป็นอีกบริษัทที่ได้รับการผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ แต่แล้ววิกฤตต่างๆก็ได้ผ่านพ้นไป เมื่อได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก APF Group ซึ่งเป็นกองทุนส่วนบุคคลระดับนานาชาติจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีพอร์ตการลงทุนทั่วเอเชีย มากกว่า 30,000 ล้านบาทในปัจจุบันและเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด”(APFII) และ มีแผนขยายพอร์ตการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็น 300,000 ล้านบาท

ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา “APFII” ได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้ง เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ปัจจุบัน“APFII”มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 527 ล้านบาท พร้อมทั้งมีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการบริหารงานแบบมืออาชีพจากทีมงานของกลุ่ม APF Group และบริษัทในเครือ โดยมี “มร.มิทซึจิ โคโนชิตะ” ประธานกรรมการ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APF Group มาเป็นประธานกรรมการบริษัทฯและผู้บริหารมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับในธุรกิจประกันภัย คือ “คุณวรศักดิ์ เกรียงโกมล” มาเป็น“กรรมการผู้จัดการ”

ผลจากพิษเศรษฐกิจทำให้ “บริษัท แอ๊ดวานซ์ อินชัวร์รันส์ จำกัด” กลายเป็นบริษัทฯมีขาดทุนสะสมอยู่หลักร้อยล้านบาท จนทำให้บริษัทมีชื่อแขวนอยู่ในเว็บไซต์ของ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย” หรือ “คปภ.”

บริษัท แอ๊ดวานซ์อินชัวรันส์ จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น AFPII และทำการปลดแอกตนเองจากพันธนาการหนี้สินเป็นที่เรียบร้อย จึงทำให้ชื่อ “APFII” หลุดจากเว็บไซต์ “คปภ.”

“เรื่องหนี้สินต่างๆเราจัดการเรียบร้อยแล้วครับ เมื่อเราแก้ปัญหาเรื่องเงินกองทุนเรื่องหนี้สินจนหมด รายชื่อก็ได้ถูกเอาออกจากเว็บไซต์ของ คปภ.ไปแล้ว เรื่องหนี้สินก็จบไปด้วยดี ส่วนในเรื่องของโครงสร้าง เราก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรอยู่เรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ยังไม่นิ่งเรายังมีการปรับผังองค์กรอยู่ตลอด เนื่องจากเราพึ่งได้ทำการเทกโอเวอร์กิจการมา เราจึงต้องมีการปรับโครงสร้างให้กระชับขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงต้องมีการปรับโครงสร้างส่วนต่างๆให้สอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบัน”

ปิดฉาก APF international insurance
คปภ.เพิกถอนใบอนุญาตเอพีเอฟฯ อินชัวรันส์

คปภ.ประกาศเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ เหตุเงินกองทุนไม่ครบตามกฎหมาย
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่ง ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2553 ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1583 /2553 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2553 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด นั้น

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ขอสรุปข้อเท็จจริง ดังนี้

1. บริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด มีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ จัดสรรทรัพย์สินไม่เพียงพอกับหนี้สินและภาระผูกพันต่อเจ้าหนี้ของบริษัทฯ และมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายแก่ผู้เอาประกันภัย หรือประชาชนเป็นจำนวนมาก บริษัทอยู่ในฐานะที่มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2553 จำนวน 265.13 ล้านบาท

2. สำนักงาน คปภ. ในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัทประกันภัยได้ให้โอกาสแก่บริษัทในการแก้ไขปัญหาของบริษัทมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว หากบริษัทสามารถระดมเงินทุนใหม่จะทำให้บริษัทสามารถชำระหนี้สินที่มีต่อเจ้าหนี้ทั้งปวงได้ แต่บริษัทไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะการเงินของบริษัทได้ และบริษัทยังคงค้างจ่ายค่าสินไหมทดแทนอีกเป็นจำนวนมาก บริษัทจึงมีฐานะการเงินหรือการดำเนินงานอันอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงใช้อำนาจตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2553 ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ประชาชน หรือผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายเพิ่มเติม

3. การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์ เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด ในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันวินาศภัยอื่นๆ

4. สำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันภัยให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ในกรณีกรมธรรม์ที่ยังมีระยะเวลาคุ้มครองเหลืออยู่ ให้ทำประกันภัยกับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือ โดยสามารถซื้อความคุ้มครอง 1 ปี แล้วบริษัทประกันภัยจะขยายระยะเวลาความคุ้มครองเพิ่มเติมให้เท่ากับระยะเวลาประกันภัยที่เหลืออยู่ตามกรมธรรม์ประกันภัยเดิม หรือบริษัทประกันภัยอาจให้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาคุ้มครองที่เหลืออยู่ โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิที่จะได้รับเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือ จากผู้ชำระบัญชี กองทรัพย์สินของบริษัทในคดีล้มละลาย หรือจากกองทุนประกันวินาศภัยให้แก่บริษัทที่รับประกันภัยใหม่ สำหรับรายชื่อบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือ

ผู้เอาประกันภัย สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186

5. สำหรับผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี และกองทุนประกันวินาศภัย ภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยออกประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชน ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อผู้ชำระบัญชีของบริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด ได้ตามสถานที่ดังต่อไปนี้

5.1 ส่วนกลาง ยื่นได้ 4 แห่ง ดังนี้

(1) สำนักงาน คปภ. เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

(2) สำนักงาน คปภ.เขต 1 เลขที่ 8/8 ซอยวิภาวดี 44 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

(3) สำนักงาน คปภ.เขต 2 เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษกท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600

(4 ) สำนักงาน คปภ. เขต 3 เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนา ตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260

5.2 ต่างจังหวัด ยื่นที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ

6. สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่และภายในกำหนดเวลาตามข้อ 5 พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการขอยื่นชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเองจะต้องมี หนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ

7. ปัจจุบันมีกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตโดยเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจะต้องไปขอรับชำระหนี้จากผู้รับชำระบัญชี และ/หรือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายก่อนหากจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้จากบริษัทฯ (ผู้ชำระบัญชี และ/หรือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) มีไม่เพียงพอ เจ้าหนี้ดังกล่าวมีสิทธิได้รับชำระหนี้ส่วนที่ขาดจากกองทุนฯ แต่รวมกันทุกสัญญาแล้วไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อราย





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow