INSURANCETHAI.NET
Thu 25/04/2024 13:43:07
Home » การประกันภัย ประกันรถยนต์ » ผู้เอาประกันไม่ยอมตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ประกันคุ้มครองไหม?\"you

ผู้เอาประกันไม่ยอมตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ประกันคุ้มครองไหม?

2018/06/10 3935👁️‍🗨️

รถยนต์เกิดอุบัติเหตุ และ ผู้เอาประกันไม่ยอมตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ และตามกฎหมายใหม่หากไม่ยอมให้ตรวจให้ถือว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน ตำรวจแจ้งข้อหาเมาแล้วขับเคสแบบนี้ประกันจ่ายหรือไม่?

คาดว่า … ประกันจะยังไม่จ่ายจนกว่าจะทราบผลปริมาณแอลกอฮอล์ หรือ จากคำตัดสินของศาล หรือ อาจจะดึงเรื่องไว้เพราะข้อมูลยังไม่ครบจึงพิจารณาไม่ได้ และสุดท้าย ประกันจะไม่จ่าย (ซึ่งก็ควรเป็นอย่างนั้น เพราะ ผู้เอาประกันผิดจริง)

อย่างไรก็ตาม มีแอลกอฮอล์ในร่างกายก็ไม่ควรขับรถเพราะ นอกจากจะอันตรายกับตัวเราแล้วยัง อันตรายต่อคนรอบข้างด้วย ปัญหาบางอย่างจะไม่เกิดขึ้นหกาเพียงเราป้องกันไว้ ซึ่งก็ทำได้ง่ายๆ

การพิจารณาว่าผู้ขับขี่รถคันเอาประกันภัยเมาสุราหรือไม่ เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดไว้ว่าต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าในขณะขับขี่รถผู้ขับขี่มีแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดเกินกว่า 50 mg% (มิลลิกรัมเปอร์เซนต์) และตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก กำหนดการพิสูจน์นี้ ด้วยการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ทำได้ 3 วิธี คือ เป่าลมหายใจ / ตรวจเลือด,ปัสสาวะเท่านั้น

การสันนิษฐานหรือ การประเมินจากสภาพผู้ขับขี่แล้ว สรุปว่าผู้ขับขี่นั้นเมาสุรา ได้เคยมีคำพิพากษาวินิจฉัยว่าไม่สามารถรับฟังได้ ต้องมีการยืนยันโดยการตรวจใน 3 วิธีนั้นเท่านั้น

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัย เรื่องนี้เป็นกรณีการยกเว้นความรับผิดของบริษัทประกันภัย (ประกันไม่จ่าย)

การตีความต้องตีความโดยเคร่งครัดตามลายลักษณ์อักษร ดังนั้นถ้าไม่มีผลการตรวจแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่า 50 mg% แล้ว บริษัทที่รับประกันภัยรถคันดังกล่าวก็ต้องรับผิดชอบ

มันต่างกัน ระหว่าง ไม่มีผลตรวจ กับ ไม่ยอมให้มีการตรวจ

นอกจากนี้ แต่ในละกรมธรรม์ต้องพิจารณาด้วยว่า หากเป็นกรมธรรม์ที่วันคุ้มครองก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2560 จำนวนแอลกอฮอล์ในเส้นเลือด ต้องไม่น้อยกว่า 150 mg% แต่ถ้าเป็นกรมธรรม์ที่มีวัน คุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 จึงจะใช้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดที่เกินกว่า 50mg%

ขณะที่ท่านกำลังอ่านบทความนี้ เงื่อนไขเรื่อง เรื่อง ปริมาณแอลกอฮอล์ ไม่ต้องไปดูแล้ว เพราะล่วงเลยเวลานั้นมาแล้ว ใช้ 50mg% ตามกฏหมายใหม่

ตาม “พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่10) พ.ศ. 2557 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522

แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 กำหนดข้อสันนิษฐานในกรณีผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบว่าหย่อนความสามารถในการขับขี่โดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ จะให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถ เมื่อเห็นว่ารถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ และในกรณีที่ผู้ขับขี่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าเสี่ยงเมาสุรา หรือขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่

กรณีไม่ยินยอมให้ทดสอบให้สันนิษฐานว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าเมาไว้ก่อนจะ มีบทลงโทษคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี
ปรับตั้งแต่ 10,000 -20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้ถูกกล่าวหาไปสืบพยานหักล้างในศาลได้

ระบุอำนาจเจ้าพนักงานจราจร สามารถสั่งให้ผู้ขับขี่ขับรถเข้าช่องทางที่มีกรวยวางตั้งไว้ให้ไขกระจกเพื่อให้เจ้าหน้าที่ยื่นอุปกรณ์เข้าไปตรวจวัดแอลกอฮอล์เข้าไปในรถได้ หรือเรียกให้ผู้ขับขี่เป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ รวมทั้งสั่งให้ลงจากรถเพื่อดูว่าร่างกายสามารถรักษาสมดุลของการเดินได้หรือไม่ หากผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นเมาสุรา เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีฐานขับรถขณะเมาสุราได้

กรณีตรวจวัดจากเลือด เกิน 50mg% เว้นแต่ผู้ขับขี่ในกรณี ดังต่อไปนี้ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน20mg%
1 ผู้ขับขี่ซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
2 ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
3 ผู้ขับขี่ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้
4 ผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรืออยู่ระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่”

เกี่ยวกับกฏหมาย

ผู้เอาประกัน ได้รับบาดเจ็บหัสอุบัติเหตุรถยนต์ พนักงานสอบสวนทำหนังสือขอให้แพทย์ตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด (โดยผู้บาดเจ็บไม่ทราบ) และใบชันสูตรบาดแผลได้สอบถามปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด หากแพทย์ยืนยันว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พนักงานสอบสวนได้ใช้ประกอบสำนวนคดี สั่งฟ้องผู้บาดเจ็บรายนี้ พนักงานกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

การเจาะเลือดจากร่างกายผู้ต้องหาโดยปราศจากคำยินยอมในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าศาลจะยอมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตาม226/1 ก็ไม่ได้ทำให้การเจาะเลือดนี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้

การตรวจแอลกอฮอล์ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายให้อำนาจ หากกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ย่อมไม่อาจนำมารับฟังได้ ด้วยเหตุเพราะว่า พยานดังกล่าวสามารถหามาด้วยวิธีอื่น ด้วยการถามคำยินยอมก่อน แต่ไม่ยอมกระทำเอง และก็ยังมีโทษสำหรับผู้ไม่ให้ความยินยอม นั้นแสดงให้เห็นว่า กฎหมายไม่ต้องการให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานในเรื่องการตรวจวัดอัลกอฮอล์ โดยไม่ได้รับความยินยอม จึงยังไม่อาจที่จะมาอ้างเรื่องคุณค่าของพยานหลักฐานในเชิงการตรวจพิสูจน์ เพราะมีทางเลือกให้ปฏิบัติอยู่แล้ว(แต่ไม่ปฏิบัติ)

ป.วิ.อาญา มาตรา 131 “ให้ พงส.ฯ รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะกระทำได้ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา หรือเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำความผิด และพิสูจน์ให้เห็นความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา”
ตาม 131/1 อัตราโทษจำคุกต้องเกิน 3 ปี ถ้าสมมติเมาแล้วขับ+ชนคู่กรณีแค่บาดเจ็บ จำคุกตั่งแต่ 1-5 ปี ถ้าสาหัส 2-6ปี …

เป็นการกระทำที่ขัด รธน. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนหากทำไปแล้วศาลจะยอมรับฟังเป็นพยานหลักฐานก็เป็นดุลพินิจของศาลตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่ก็มิได้ทำให้การกระทำของพนักงานสอบสวนและแพทย์ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอลกอฮอล์ ต้องได้รับความยินยอม หากไม่ได้รับความยินยอม ก็เข้าหลัก “ผลไม้ของต้นไม้เป็นพิษ” รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เป็นบทตัดพยานหลักฐาน บทที่ 3 ว่าด้วยการได้มาของพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจราจรทางบก เป็นคดีเล็กน้อย หากศาลไม่รับฟังย่อมไม่กระทบกระเทือนความยุติทางอาญาของประเทศ ต่างกับคดียาเสพติด 100,000 เม็ดซึ่งศาลรับฟัง แต่ต้องมีพยานหลักฐานอื่นประกอบ

ต้นไม้เป็นพิษ ในศาลไทยยังมีไม่มากนัก หลักการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ ป.วิอาญา มาตรา 226/1 ยังมีข้อยกเว้นไว้ หากศาลเห็นว่าการรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสีย โดยศาลจะต้องใช้ดุลพินิจอย่างระมัดระวัง
จากคำถามจึงตีความหมายได้ 2 แนวทาง
1.แพทย์เจาะเลือดตามคำสั่งพนักงานสอบสวนหรือไม่ ถ้าฟังได้ว่าแพทย์เจาะเลือดตามคำสั่งพงส. ก็จะเป็นต้นไม้เป็นพิษ
2.แพทย์เจาะเลือดเพื่อประกอบการวินิจฉัยรักษาโรคตามปกติ แล้วตามคำถาม พงส. ตามปกติ (ใบชันสูตรบาดแผลที่ พงส.ตั้งคำถามให้แพทย์ตอบนั้น ถือว่าเป็นคำให้การแพทย์อีกส่วนหนึ่ง) ถือว่าเป็นพยานหลักฐานโดยชอบ

ประเด็นคือ การเจาะเลือดวัดแอลกอฮอลนั้น จำเป็นต่อการรักษาครั้งนั้นหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม หมอสามารถจัดการให้ได้ด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ขัดรธน ในการเจาะเลือดตรวจและรักษา ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมีผลกระทบต่อยาที่ใช้รักษาโรคตามปกติ เช่น เอาเลือดออกมาสองปริมาณ วิเคราะห์เพื่อการรักษา กับ วิเคราะห์เพื่อหาระดับ มล.กรัม/เปอร์เซนต์ ตอบคืน พงสฯ

ม.131/1 มันใช้กับโทษที่เกิน 3 ปี ขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่มันจะผิดฐานหนักๆ จำเลยก็มีสิทธิเต็มที่ในการต่อสู้ แต่เหตุผลของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่ มันอีกเรื่อง

เมาแล้วขับ

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 43 (2)
ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น

มาตรา 160 ตรี
ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43(2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง
เป็นเหตุให้ผู้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี ปรับสองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปีหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสอง
เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-6ปี และปรับตั้งแต่ 40k-120k บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 2ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10ปี และปรับตั้งแต่ 60k-200k บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1
กรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ตาม มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด ๆโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้

ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน3ปี หากการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง จำเป็นต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรมหรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจให้แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็น และสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ทั้งจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น และผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องให้ความยินยอม หากผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือผู้ต้องหา หรือผู้เสียหายกระทำการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอม โดยไม่มีเหตุอันสมควรให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ ที่หากได้ตรวจพิสูจน์แล้วจะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายนั้นแล้วแต่กรณี

เพิ่มเติมบทลงโทษทั่วไปสำหรับคนที่ปฏิเสธการทดสอบ
หากมีการฝ่าฝืนตามกฎหมายใหม่ กรณีผู้ขับขี่ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานในการทดสอบ เดิมระวางโทษปรับครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท กรณียินยอมให้ทดสอบแต่พบว่าเมาสุราขณะขับรถ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบขับขี่

แต่กฎหมายใหม่ได้ปรับเพิ่มความเข้มงวดในการเอาผิดทางกฎหมาย โดยกรณีไม่ยินยอมให้ทดสอบให้สันนิษฐานว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าเมาไว้ก่อนจะ มีบทลงโทษคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้ถูกกล่าวหาไปสืบพยานหักล้างในศาลได้

สรุป

1.เมาแล้วขับไม่ชนใครหรือทำให้ใครบาดเจ็บ
จำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี ตำรวจอาจสั่งให้เป่าแอลกอฮอล์ได้ แต่บังคับหรือสั่งให้ตรวจเลือดไม่ได้
ถ้าสั่งให้เป่า แต่ไม่เป่า ให้สันนิษฐานว่าดื่มสุรามา ลงโทษเหมือนเมาแล้วขับ จับไว้ แล้วส่งฟ้อง หากสู้คดี หาหลักฐานไปหักล้างในชั้นศาล

2.เมาแล้วขับ ชนคนบาดเจ็บ ทั้งร่างกายและจิตใจ
โทษจำคุกสูงสุด 5 ปี
ถ้าบาดเจ็บสาหัสโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 ปี
ชนคนตาย โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี
ซึ่งเข้าข่ายความผิดที่โทษสูงสุดเกิน3ปี กรณีนี้ ตำรวจ สั่งให้เจาะเลือดได้ โดยผู้ต้องสงสัยต้องยินยอม หากไม่ยินยอมตำรวจสามารถใช้เป็นข้อสันนิษฐานว่า ผลตรวจถือว่าดื่มหรือเสพยาจริง

3.เมื่อตำรวจสั่งให้ผู้ต้องสงสัยตรวจ อธิบายให้ผู้ต้องสงสัยรับทราบข้อกฏหมาย และเซ็นต์ยินยอมเจาะตรวจก่อนส่งตรวจ
ถ้าไม่ยินยอม ก็ให้เซ็นต์รับทราบไม่ยินยอมตรวจแล้ว สันนิษฐาน ว่าผู้ต้องสงสัยเสพมาจริงจึงปฏิเสธการตรวจ

4.แพทย์หรือ เจ้าหน้าที่ที่เจาะเลือด ต้องให้ตำรวจสั่งมา และ ผู้ต้องสงสัยเซ็นต์ ยินยอมให้เจาะตรวจ ต่อหน้าก่อน จึงเจาะได้
ถ้าผู้ต้องสงสัยไม่ยินยอมให้ตำรวจไปจัดการกันเอง ตามข้อ 3






คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow