เกิดเพลิงไหม้ด้วยสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร
1064

เกิดเพลิงไหม้ด้วยสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร

ถ้าเกิดเพลิงไหม้ด้วยสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร ในส่วนคดีอาญาศาลยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าเจ้าของบ้านมิได้ประมาท คดีส่วนแพ่งเจ้าของบ้านต้นเพลิงจะต้องรับผิดหรือไม่

ศึกษาวิเคราะห์จากคำพิพากษาฎีกา 467/2557
ป.พ.พ. มาตรา 420 ละเมิด
มาตรา 437 ความเสียหายเกิดจากทรัพย์อันตรายได้โดยสภาพ
ป.วิ.อ. มาตรา 46, 47 คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

ข้อเท็จจริง
1. ตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้องเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ที่เต้ารับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในร้านค้าของจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยที่ 2 เช่าจากบริษัท ก. จำกัด ทำให้เกิดเพลิงไหม้ร้านค้าของจำเลยทั้งสองแล้วลุกลามไปไหม้ร้าน อ. ซึ่งเป็นร้านขายดอกไม้ประดิษฐ์จากกระดาษสาและยางพาราของโจทก์และร้านค้าใกล้เคียง ทำให้ทรัพย์สินในร้านค้าของโจทก์ถูกไฟไหม้ได้รับความเสียหาย ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากการสะสมของความร้อนในเต้ารับอุปกรณ์ไฟฟ้าในร้านของจำเลยทั้งสองจนเกิดความลุกไหม้ หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 618/2555 ของศาลจังหวัดลพบุรี ในความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทและเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ซึ่งคดีอาญาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องและคดีถึงที่สุด
2. ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 618/2555 ของศาลจังหวัดลพบุรีที่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทและเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า เหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 เหตุเพลิงไหม้จึงเกิดแต่เหตุสุดวิสัย
3. ตามฎีกาของจำเลยในข้อ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะรับฟังเป็นยุติว่าเหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 และคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แต่เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่เต้ารับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในร้านค้าที่จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของร้านและเป็นผู้ครอบครองดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในร้านรวมถึงเต้ารับอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งมีสายไฟฟ้าต่อเชื่อมและมีกระแสไฟฟ้าเดินอยู่สายไฟฟ้าและเต้ารับอุปกรณ์ไฟฟ้าจึงเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีทรัพย์ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทรัพย์ดังกล่าว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั่นเองตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดในคดีส่วนอาญาหรือไม่ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง
ส่วนจำเลยทั้งสองอ้างว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยนั้น จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีภาระการพิสูจน์ แต่จำเลยทั้งสองนำสืบแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองได้ตรวจตราดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างอย่างวิญญูชนพึงกระทำ และจะถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าและสับเบรคเก้อลงตัดกระแสไฟฟ้าภายในร้านทุกครั้งที่ปิดร้านหรือออกจากร้าน ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำสืบว่าจำเลยทั้งสองใช้ความระมัดระวังดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างดีและมิได้ประมาทเลินเล่อแต่ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการที่เต้ารับอุปกรณ์ไฟฟ้าเกิดการสะสมความร้อนจนทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้อย่างไรจึงฟังไม่ได้ว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย จำเลยทั้งสองจึงไม่พ้นความรับผิดแม้จะมิได้ประมาทเลินเล่อก็ตาม



INSURANCETHAI.NET
Line+