Insurance Regulatory Sandbox นำเทคโนโลยีมาให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย
1175

Insurance Regulatory Sandbox นำเทคโนโลยีมาให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย

วัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย
(Insurance Regulatory Sandbox)

ท่านสามารถ download เอกสารได้จาก http://www.oic.or.th/th/consumer/news/announcements 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทรศัพท์ 0-2515-3999 โทรสาร 0-2515-3970
22/79 Ratchadaphisek Road, Jankasame, Jatujak, Bangkok 10900 Tel.0-2515-3999 Fax.0-2515-3970 
สายด่วนประกันภัย / Hot Line 1186    www.oic.or.th

1. หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันโลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีครั้งสำคัญจนได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล  ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนการและกิจกรรมของมนุษย์ในหลายๆด้าน เช่น รูปแบบการดำเนินชีวิต สังคมความเป็นอยู่ การปกครอง และเศรษฐกิจ  โดยการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิตอล นั้นดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคการผลิต ภาคการบริการและคุณภาพชีวิตของประชาชน  ซึ่งในหลายๆประเทศก็มีการเตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องดังกล่าว
สำหรับประเทศไทยเองได้มีการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยได้มีกำหนดแผนพัฒนาดิจิตอล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการผลักดันให้นำเทคโนโลยีดิจิตอล มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ  ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางความคิดในทุกภาคส่วน
ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจหนึ่งจะต้องเผชิญกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิตอล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าวนับเป็นปัจจัยภายนอกที่เข้ามาส่งผลกระทบโดยตรงทั้งทางด้านบวก เช่น การช่วยส่งเสริมสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจ และอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ในธุรกิจประกันภัยขึ้นได้ 
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ตระหนักถึงความสำคัญในการยกระดับการกำกับและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อม (ecosystem) ที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิตอล  เพื่อให้บริษัทประกันภัยและประชาชนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยยังคงรักษาระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้  สำนักงาน คปภ.จึงได้จัดทำโครงการการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) เพื่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยสามารถทดสอบนวัตกรรมใหม่ โดยการให้บริการแก่ผู้บริโภคจริง ภายในสภาพแวดล้อมและการให้บริการจำกัด ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่สำนักงาน คปภ.อาจพิจารณาการกำกับดูแลให้ยืดหยุ่นตามความเหมาะสมและความจำเป็นแล้วแต่กรณี
ในการนี้ สำนักงาน คปภ.จึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ แนวทางการเข้าร่วมโครงการการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) ตามเอกสารฉบับนี้ โดยท่านสามารถส่งความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้ทาง
e-mail : vannaganc@oic.or.th ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ดังนี้
1. นางสาวสมนา ทัฬหเมธา โทรศัพท์ 02-515-3999 ต่อ 4703
2. นางวรรณกานต์ แก้วรัตนปัทมา โทรศัพท์ 02-515-3999 ต่อ 4405

2. แนวทางการเข้าร่วมโครงการ Insurance Regulatory Sandbox
2.1 วัตถุประสงค์
1. สร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ทั้งด้านการดำเนินงานของอุตสาหกรรม และลดอุปสรรคด้าน Regulation
2. เพื่อพัฒนามาตรฐาน วิธีการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ให้สอดคล้องกับการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมประกันภัยไทย
3. เพื่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยสามารถทดสอบนวัตกรรมใหม่ โดยการให้บริการแก่ผู้บริโภคจริง ภายในสภาพแวดล้อมและการให้บริการจำกัด ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่สำนักงาน คปภ.
อาจพิจารณาการกำกับดูแลให้ยืดหยุ่นตามความเหมาะสมและความจำเป็นแล้วแต่กรณี
4. ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ร่วมกันกับผู้เข้าร่วมโครงการ และช่วยให้การกำหนดหลักเกณฑ์ นโยบาย ทำได้เหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
2.2 กลุ่มเป้าหมายของผู้สมัคร
1. บริษัทประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต/วินาศภัย
2. นายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัยประเภทนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตฯ
3. ผู้ประกอบธุรกิจ FinTech (FinTech Firms) หรือผู้ที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี (Technology Firms) ที่สนใจจะเสนอนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัย หรือมีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ใน
ธุรกิจประกันภัยโดยดำเนินการร่วมกับบริษัทประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต/วินาศภัย หรือนายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัยประเภทนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตฯ

2.3 คุณสมบัติของผู้สมัคร
กรณีเป็นบริษัทประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต/ประกันภัยวินาศภัย หรือนายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัยประเภทนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตฯ ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
1. มีทรัพยากรด้านเงินทุน ระบบงาน และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์เพียงพอที่จะให้บริการได้อย่างเหมาะสม
2. มีการกำหนดกรอบ ขอบเขตในการทดสอบ รวมทั้งผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการนำนวัตกรรมมาทดสอบอย่างชัดเจนและมีความประสงค์ต้องการนำนวัตกรรมนั้น มาเสนอให้กับผู้บริโภคในประเทศไทย หลังจากผ่านการทดสอบใน Insurance Regulatory Sandbox
3. ผู้สมัครต้องนำเสนอผลการศึกษาที่แสดงถึงความเป็นไปได้ของนวัตกรรมที่จะนำมาทดสอบ รวมถึงศึกษาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทดสอบ พร้อมมีแผนการจัดการความเสี่ยงนั้น
4. ผู้สมัครมีแผนรองรับการออกจาก Insurance Regulatory Sandbox ทั้งกรณีผู้สมัครประสบความสำเร็จ และกรณีผู้สมัครไม่ประสบความสำเร็จ
กรณี FinTech Firms หรือ Technology Firms ต้องดำเนินการร่วมกับบริษัทประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต/ประกันภัยวินาศภัย หรือนายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัยประเภทนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตฯ ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น

2.4 ประเภทของธุรกรรมที่สามารถนำมาทดสอบใน Insurance Regulatory Sandbox
ประเภทของธุรกรรมที่ผู้สมัครสามารถนำมาทดสอบต้องเป็นธุรกรรมที่อยู่ในขอบเขตการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) และต้องเป็นนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ ซึ่งอาจเป็นนวัตกรรมที่ไม่เคยมีหรือไม่เหมือนกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่นำเสนออยู่แล้วในประเทศไทย หรือเป็นนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการที่มีอยู่เดิม ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่
2. กระบวนการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย
3. กระบวนการเรียกร้อง และ/หรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
4. Smart contract
5. ธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน หรือนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวกับธุรกรรมตามข้อ ๑ ถึง ข้อ ๔
6. ธุรกรรมอื่นที่สำนักงาน คปภ.พิจารณาเห็นชอบ

2.5 ขั้นตอนการสมัครและกรอบระยะเวลาการพิจารณา
ผู้สมัครสามารถยื่นใบสมัคร พร้อมนำเสนอแผนการทดสอบ กระบวนการ ขั้นตอน ผลลัพธ์ที่คาดหวัง และแผนรองรับการออกจาก Insurance Regulatory Sandbox ทั้งในกรณีที่การทดสอบประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ ต่อสำนักงาน คปภ. ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.จะแจ้งผลการพิจารณาภายใน 60 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครยื่นใบสมัครพร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องครบถ้วนและนำเสนอแผนฯ

2.6 ระยะเวลาการทดสอบใน Insurance Regulatory Sandbox
ระยะเวลาการทดสอบไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.อาจพิจารณาขยายระยะเวลาการทดสอบให้โดยผู้สมัครต้องยื่นขออนุญาตจากสำนักงาน คปภ.ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันทำการ ก่อนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาการทดสอบพร้อมชี้แจงเหตุผล และระยะเวลาที่ต้องการขอขยาย
สำนักงาน คปภ.ขอสงวนสิทธิ์ในการให้ผู้สมัครสิ้นสุดการทดสอบก่อนระยะเวลาที่ได้ตกลงร่วมกัน หากเห็นว่านวัตกรรมที่ทดสอบมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย หรืออาจส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อระบบประกันภัยในวงกว้าง
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการทดสอบ หรือ สำนักงาน คปภ.ให้ผู้สมัครสิ้นสุดการทดสอบก่อนระยะเวลาที่ได้ตกลงร่วมกันตามวรรคสอง ผู้สมัครต้องออกจาก Insurance Regulatory Sandbox ตามที่ได้กำหนดไว้ในหัวข้อ การออกจาก Insurance Regulatory Sandbox แล้วแต่กรณี

2.7 การดำเนินการในระหว่างการทดสอบใน Insurance Regulatory Sandbox
1. การคุ้มครองผู้บริโภค
ผู้สมัครต้องมีมาตรการในการดูแลผู้เอาประกันภัย ดังต่อไปนี้
1.1 ผู้เอาประกันภัยต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนเพียงพอในการพิจารณาตัดสินใจ โดยจะต้องแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบว่าเป็นการทดสอบในโครงการ Insurance Regulatory Sandbox
1.2 ผู้เอาประกันภัยยินยอมที่จะใช้บริการผลิตภัณฑ์/นวัตกรรมที่นำมาทดลอง
1.3 มีช่องทาง และมาตรการในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน
1.4 มีแผนการชดเชยให้ผู้เอาประกันภัย หรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดของการทดสอบ
2. การบริหารจัดการความเสี่ยง
ผู้สมัครต้องมีระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอ รวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบงานและข้อมูล (Security) ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล (Integrity) ความพร้อมใช้ของระบบงาน (Availability) ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Risk) และความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Risk)
3. การจัดส่งรายงาน
ผู้สมัครต้องจัดส่งรายงานการดำเนินการ ผลการทดสอบ ข้อมูลสถิติ ข้อมูลความเสี่ยง ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ข้อมูลการทุจริต ข้อร้องเรียนที่ได้รับจากผู้บริโภค และการดำเนินการจัดการต่อข้อผิดพลาด/ ข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นต่อสำนักงาน คปภ. ตามระยะเวลาที่ได้ตกลงไว้กับสำนักงาน คปภ.
๔.  การปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ผู้สมัครต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

2.8 การออกจาก Insurance Regulatory Sandbox
ผู้สมัครจะออกจาก Insurance Regulatory Sandbox ในกรณีดังต่อไปนี้
1. การทดสอบประสบความสำเร็จ และพร้อมให้บริการในวงกว้างในประเทศไทย โดยสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข ต่อไปนี้
(1.1) ผลลัพธ์จากการทดสอบเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนการทดสอบที่เสนอต่อสำนักงาน คปภ. และ
(1.2) ผู้สมัครสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ.ได้ครบถ้วน
2. การทดสอบไม่ประสบความสำเร็จ และต้องยุติการให้บริการ โดยผลลัพธ์จากการทดสอบไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนการทดสอบที่เสนอต่อสำนักงาน คปภ.
3. ผู้สมัครพบหรือได้รับข้อร้องเรียนหรือข้อบกพร่องจากผลิตภัณฑ์ กระบวนการดำเนินงาน หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและไม่สามารถปรับปรุงได้
4. ผู้สมัครไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันกับสำนักงาน คปภ.ในระหว่างการอยู่ใน Insurance Regulatory Sandbox
5. ผู้สมัครแจ้งความจำนงที่จะออกจาก Insurance Regulatory Sandbox เอง
2.9 ผลการออกจาก Insurance Regulatory Sandbox
1. หลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่สำนักงาน คปภ.พิจารณายืดหยุ่นให้ในช่วงการทดสอบ (ถ้ามี) ถือว่าสิ้นสุด
2. กรณีที่การทดสอบประสบความสำเร็จ และพร้อมให้บริการในวงกว้างในประเทศไทย ให้ผู้สมัคร ดำเนินการตามกรอบกฎหมายกำหนดตามแต่ละประเภทธุรกรรม
3. กรณีออกจาก Insurance Regulatory Sandbox อื่นนอกจากกรณีข้อ 2 ข้างต้น ผู้สมัครต้องดำเนินการ ดังนี้
      (๓.๑) หยุดการนำเสนอหรือให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยรายใหม่ และหยุดการให้บริการเพิ่มเติมแก่ผู้เอาประกันภัยรายเดิมนอกเหนือจากที่ได้ดำเนินการอยู่เดิม
  (๓.๒) แจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบก่อนที่จะยุติการให้บริการ และต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภค
  (๓.๓) รายงานผลการดำเนินการตามข้อ (๓.๑) – (๓.๒) ให้สำนักงาน คปภ.ทราบภายใน ๓๐ วันทำการนับจากวันที่ผู้สมัครยุติการทดสอบ


หลายบริษัทยังใช้ FAX อยู่เลย
แต่ก็ยังดีมีหลายบริษัท รับงานโดยใช้ การกรอกลงเอกสาร แล้วส่งเมล์
ควรเป็นการกรอกข้อมูลผ่านเว็บฟอร์มได้แล้ว สำหรับงานติดต่อกับ นายหน้า/วินาศภัย
:P



INSURANCETHAI.NET
Line+