3 มิติเมืองไทยประกันชีวิต โจทย์ใหม่ก้าวสู่ประกันยุคดิจิทัล [2558/6]
1202

3 มิติเมืองไทยประกันชีวิต โจทย์ใหม่ก้าวสู่ประกันยุคดิจิทัล [2558/6]

การก้าวขึ้นอันดับสองของบมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และปี 2557 โชว์ยอดเบี้ยรับรวม 75,234 ล้านบาท เติบโต 25% ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ 35,275 ล้านบาท เติบโตถึง 28% ส่วนเบี้ยประกันต่ออายุ 39,958 ล้านบาท โต 22% ขณะที่กำไรอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น10% จากปี 2556 และมีเงินกองทุนหนาถึง 400%

ผลดำเนินงานสะท้อนการขยายตัวทั้งแนวกว้างและแนวลึกในช่วง 1 ทศวรรษ ของ "เมืองไทยประกันชีวิต" ภายใต้การนำทัพของ "สาระ ล่ำซำ" กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หลังก้าวขึ้นมารั้งตำแหน่งเมื่อปี 2547 เขาปลุกปั้นธุรกิจประกันชีวิตของครอบครัว โดยงัดทุกกลยุทธ์ทั้งคิดนอกกรอบพลิกโฉมภาพเก่า ๆ ของประกันที่ดูน่ากลัว เป็น "บริษัทของคนหัวคิดทันสมัย" และภาพโฆษณาที่คุ้นหูคุ้นตาในช่วง 10 ปีก่อน "จิ้งจกทักก่อนออกจากบ้าน" ซึ่งสร้างการรับรู้ความสำคัญของการทำประกันชีวิตทันใด



ที่สำคัญ การรีแบรนดิ้งบริษัทที่ชู "สีชมพูบานเย็น" ที่โดนใจคนเข้าถึงได้อย่างสบายใจ และส่ง "เมืองไทย สไมล์ คลับ" ดึงลูกค้าเข้ามาหาใกล้กันยิ่งขึ้น ที่จัดกิจกรรมต่างๆ "เยอะ" ควบคู่ไปกับการทำงานเชิงรุกหลายๆ ด้านโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุที่มีหลากหลายแบบให้เลือกซื้อ แม้แต่การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นเมื่อปี 2552 เพื่อเปิดประตู "แบงก์แอสชัวรันซ์" ผ่านธนาคารกสิกรไทย ในการเจาะเข้าถึงฐานลูกค้าเงินฝาก ช่วยดันยอดเบี้ยของบริษัทเติบโตก้าวกระโดด และต่อยอดผ่านการจับมือพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ ทุ่มทำการตลาดทางตรง อย่างเทเลมาร์เก็ตติ้ง การโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์ (DRTV) รวมไปถึงปั้นตัวแทนที่วันนี้มี 26,000 ชีวิต ทุกๆด้านถูกเข็นให้สอดรับไปพร้อมกับการยกระดับสินค้าประกันให้มีลูกเล่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกระดับด้วยกลยุทธ์หลัก"ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง" เพื่อให้กินมาร์เก็ตแชร์ได้มากที่สุดบนฐานตลาดประกันชีวิตที่ยังเติบโตได้อีกมาก ขณะที่การวางยุทธศาสตร์เชิงรุก ทำให้ช่วง 10 ปี ของ "เมืองไทยประกันชีวิต" ปั๊มยอดเบี้ยรับรวม ไต่อันดับจาก 6 ขึ้นมาอยู่อันดับ 2 โดยยอดเบี้ยรับรวมโตเฉลี่ยอยู่ที่ 28% ต่อปี โดยช่องทางขายที่สำคัญยังมาจาก 2 ช่องทางหลัก คือ ช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ที่เติบโตได้สูงถึง 29% ช่องทางขายตรงเติบโต 23% ตามด้วยตัวแทนที่เติบโต 14% (ข้อมูลปี 2557) ซึ่งเป็นปีที่ธุรกิจประกันชีวิต เติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจขาลงในปีที่แล้ว

โจทย์ธุรกิจประกันชีวิตในปี 2558 "สาระ" มองว่า ยังเห็นการแข่งขันที่แรงขึ้นต่อเนื่องในภาคธุรกิจประกันชีวิตซึ่งจะต้องเผชิญทั้งการแข่งขันในตลาดเออีซีและตลาดในประเทศแต่ก็เป็นเรื่องดีเพราะผลสะท้อนมาถึงการพัฒนาสินค้าประกันที่จะออกมาขายจากนี้ไป โดยจะโหนกระแสคนรักสุขภาพและสังคมสูงวัย อย่างไรก็ตาม แม้รูปแบบประกันหลัก ๆ จะเป็นสินค้าแบบคุ้มครอง การออมเงินและส่วนควบ แต่จะมีความต่างในรายละเอียดของการรับผลประโยชน์ ระยะเวลาแบบประกัน ของแต่ละกลุ่มลูกค้าของพาร์ตเนอร์ธุรกิจ ขณะที่ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดเบี้ยรับรวมเติบโต 18% จากปีที่แล้ว


ขณะที่บริษัทตั้งเข็มทิศที่จะก้าวสู่การเป็น "Digital Insurer" พร้อมชู 3 มิติที่จะเดินหน้า ได้แก่ มิติของลูกค้า จะเห็นชัดเจนก่อนเพราะทำผ่านทุกช่องทางที่เข้าถึงลูกค้า นำโดย เมืองไทย สไมล์ คลับ และผ่านแอปพลิเคชั่น การเปิดสาขาอีก 10 แห่ง ทั่วจังหวัดชายแดนรับเออีซี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี มิติของพันธมิตรทางธุรกิจ จะเน้นกลุ่มพาร์ตเนอร์ที่อยู่ใกล้ชิดไลฟ์สไตล์ของคน เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล เซเว่นอีเลฟเว่น หรือที่อื่น ๆ ที่คนเข้าถึงง่าย และมิติของพนักงาน ซึ่งนอกจากมีทีมบริหารทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ไฟแรงที่รับนโยบายลุยไปข้างหน้า แล้วยังมีด้านตัวแทนขาย ที่เป็นช่องทางสำคัญ โดยปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มตัวแทนอีก 10,000 คน รวมเป็น 36,000 คน พร้อมยกระดับตัวแทนให้เป็น "ที่ปรึกษาด้านประกันชีวิต" ที่บริการครบวงจร

ปี 2558 จะเป็นอีกปีที่ท้าทาย "เมืองไทยประกันชีวิต" ที่จะกรุยทางเข้าสู่ "Digital Insurer" ที่โหนกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลยุคนี้



INSURANCETHAI.NET
Line+