ธนาคารในบทของคนขายประกันภัย
134

ธนาคารในบทของคนขายประกันภัย

ธนาคารในบทของคนขายประกันภัย

ระบบข้อมูลข่าวสารผ่านระบบออนไลน์หรือสื่อดิจิตอลในปัจจุบันเข้าถึงประชาชนได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้ระบบสื่อสารมวลชนได้ให้ความสำคัญกับการใช้ระบบสื่อสารดิจิตอลเข้ามาช่วยในการทำข่าวสาร แต่สิ่งที่สังคมไทยยังให้ความสำคัญน้อยกว่าเนื้อหาสาระของข่าวสารคือการทำความเข้าใจและรู้จักวิเคราะห์ข่าวสารที่ได้รับผ่านสื่อสมัยใหม่ จึงทำให้เกิดข่าวลือเพื่อผลประโยชน์ ของคนบางกลุ่ม หรือข่าวประเภทโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหลอกขายสินค้าฟุ่มเฟือย ที่มีสาระกับความจำเป็นของชีวิตน้อยลง
เช่นเดียวกับธุรกิจประกันภัยในประเทศที่ต่างทุ่มงบโฆษณาจำนวนมากเพื่อเร่งหาเบี้ยประกันภัยให้เพิ่มขึ้น ทั้งที่ธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากกฎระเบียบการกำกับตามสากลภายใต้กรอบของสมาคมกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (IAIS : International Association Insurance Supervisors), การเริ่มใช้ระบบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Base Capital Reserve), การใช้ระบบมาตรฐานบัญชีใหม่ตามสากล (International Financial Reporting Standard : IFRS) การบันทึกบัญชีการรับรู้รายได้ ค่าใช้ จ่าย ให้แยกการประกันภัยออกจากลงทุนและการบังคับให้บริษัทประกันภัยต้องเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทมหาชนในอีกสองปีข้างหน้า
การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิตในประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้นกำลังจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ทุกบริษัทประกันภัยต่างแข่งขันอย่างรุนแรงในการเร่งสร้างฐานลูกค้าผ่านระบบสื่อสารออนไลน์และธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการอนุญาตให้สามารถรับรู้รายได้จากการขายประกันภัย นอกเหนือจากการดำเนินการธุรกิจธนาคาร
และดูเหมือนว่าธนาคารพาณิชย์หลายรายกำลังสนุกสนานกับการสร้างรายได้ค่านายหน้าจากการขายประกันภัยดังจะสังเกตได้เวลาที่เข้าไปใช้บริการของธนาคารพาณิชย์จะมีพนักงานธนาคารหลังเคาน์เตอร์จะพยายาม เสนอ ขายประกันชีวิตโดยการใช้ประเด็นของการฝากเงินทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็น ค่าเบี้ยประกันชีวิตและการชี้ชวนโดยบอกแต่เรื่องผลตอบแทนเมื่อครบกำหนดของสัญญาจะได้รับเงินพร้อมดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินแต่ก็มิได้ให้ คำอธิบายหรือความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาสาระหรือเงื่อนไขข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ประชาชนเข้าใจ
สภาพการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในยุคที่ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากไม่อาจช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สร้างผลกำไรจำนวนมากได้ง่ายเหมือนแต่ก่อนเพราะกฎกติกาในการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์และการแข่งขันกับธนาคารต่างประเทศเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องหันมาแข่งขันกันหารายได้เพิ่มจากการขายประกันภัย และด้วยกลไกในการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยได้เปิดช่องทางให้ธนาคารพาณิชย์ได้รับใบอนุญาต เป็นนายหน้าประกันภัย เพื่อจักสามารถรับค่าตอบแทนได้อย่างถูกกฎหมายประกันภัยทั้งที่ธนาคารพาณิชย์มิได้มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการให้บริการและดูแลผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยเหมือนบรรดาตัวแทนและนายหน้าประกันภัยอาชีพโดยเฉพาะในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการเอาประกันภัยก็จะต้องดำเนินการติดต่อกับบริษัทรับประกันภัยเองโดยธนาคารพาณิชย์ที่ขายประกันภัยมิได้มีการให้บริการหลังการขายแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์บางรายได้ขยายธุรกิจขายตรงระบบโทรศัพท์หรือ Telemarketing ผ่านบริษัทในเครือหรือใช้บริการจากผู้ให้บริการขายตรงผ่านระบบโทรศัพท์ ซึ่งพฤติกรรมในการนำข้อมูลของลูกค้าธนาคารพาณิชย์มาให้บริษัทในเครือหรือผู้ให้บริการขายตรงผ่านระบบโทรศัพท์ ดังกล่าวเป็นการหาประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้าธนาคารโดยเฉพาะบรรดาลูกค้า บัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการติดต่อผ่านระบบโทรศัพท์เพื่อเสนอขายประกันภัยจึงได้มีการร้องเรียนให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จนต้องมีการออกกฎควบคุมการขายผ่านระบบ Telemarketing แต่ก็มิได้มีการพิจารณาว่าพฤติกรรมการขายประกันภัยผ่านระบบดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิดในการหาประโยชน์จากข้อมูลของลูกค้า
ในขณะที่บรรดาบริษัทประกันวินาศภัยและประกันชีวิตต่างก็คิดแต่จะทำอย่างไรให้ได้เบี้ยประกันภัยมากขึ้นโดยการคิดเพียงแต่จะผลิตสินค้าประกัน ภัยสำเร็จรูปให้กับธนาคารพาณิชย์ไหนดีเท่านั้น การหารายได้ของธนาคารพาณิชย์ จากการขายประกันภัยโดยมิได้คำนึงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบให้กับผู้เอาประกันภัยกำลังทำลายรากฐานของระบบคนกลางประกันภัยที่มีบทบาทและหน้าที่ที่ความรับผิดชอบในการดูแลผลประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย และส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับประกันภัยให้กับประชาชนแต่ธนาคารพาณิชย์กับทำตัวเป็นเพียงแค่ “คนขายสินค้าประกันภัยแบบสำเร็จรูป” เพื่อผลประโยชน์ ของตนเองในร่างทรงของใบอนุญาตคนกลางประกันภัย

สยามธุรกิจ



INSURANCETHAI.NET
Line+