รุมยำแบงก์ขายประกันไม่มืออาชีพ
135

รุมยำแบงก์ขายประกันไม่มืออาชีพ

รุมยำแบงก์ขายประกันไม่มืออาชีพ

พฤติกรรมของแบงก์ที่ทำอยู่ในตอนนี้เป็นแค่ตัวแทนจำหน่าย หรือคนขายเท่านั้น เรายังยืนยันว่าธนาคารไม่ใช่นายหน้าอาชีพตามหลักสากลเป็นแค่ตัวแทนตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สมาคมประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมธนาคาร ไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ มาหารือถึงร่างประกาศคปภ.ฉบับใหม่ที่กำลังยกร่างกันอยู่....
ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้นิติบุคคลเป็นนายหน้าประกันชีวิต และนายหน้าประกันวินาศภัย พ.ศ.2554 ที่ครอบคลุมถึงสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ที่จะขอใบอนุญาตเป็นนายหน้า หรือโบรกเกอร์ประกันภัยด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการปรับปรุงกฎระเบียบในเรื่องนี้ นับแต่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ประกันชีวิต และประกันวินาศภัยฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2551
ทั้งนี้ การหารือกันในครั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบของภาครัฐที่ต้องให้มีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อสอบ ถามความคิดเห็นคนทั่วไปก่อนที่จะมีการประกาศใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งถือ เป็นนัดแรกของการประชาพิจารณ์ที่ดุเดือดเข้มข้นไม่น้อย กับการออกความเห็นของฝ่ายนายหน้า หรือโบรกเกอร์ และ ฝั่งธนาคารที่ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงถกกันแต่ยังไร้ข้อสรุป และเชื่อว่ายังต้องมีการหารืออีกหลายยก

โบรกเกอร์แนะแยกเกณฑ์คุมแบงก์เหตุพฤติกรรมแค่ตัวแทนขายประกัน
“พิชิต เมฆกิตติกุล” ที่ปรึกษาสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย (โบรกเกอร์) เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า เดิมทีหลักเกณฑ์ของคปภ.ในการกำกับคนกลาง ประกันภัย การออกใบอนุญาตนายหน้า นิติบุคคลโบรกเกอร์ และธนาคารพาณิชย์ จะแยกออกเป็นคนละฉบับกัน แต่ในร่างใหม่จะนำมารวมกันไว้ในฉบับเดียวกัน ซึ่ง ในประเด็นนี้ ทางสมาคมนายหน้าประกันภัยไทยยืนยันไม่เห็นด้วย เพราะธนาคารไม่ใช่นายหน้ามืออาชีพเหมือนนายหน้าประกันภัยในปัจจุบัน ซึ่งหน้าที่ความรับผิด ชอบของนายหน้าประกันภัยมีหลายอย่าง ทั้งเป็นให้คำแนะนำ และดำเนินการเจรจา ต่อรองกับบริษัทประกันภัยในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อให้ได้เงื่อนไขความคุ้มครองที่เหมาะสมกับความต้องการหรือสภาพความเสี่ยงภัย รวมไปถึงการเจรจาต่อรองค่าเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับลักษณะหรือสภาพความเสี่ยงภัย ทำเคลม ให้ เป็นต้น
“เหตุที่คปภ.เรียกแบงก์เป็นโบรกเกอร์ เพราะในอดีตหลังจากแบงก์ชาติ ยอมให้ธนาคารมีรายได้จากการเป็นผู้จำหน่ายประกันภัย ทางคปภ.เลยเรียกแบงก์เป็นโบรกเกอร์ และออกใบอนุญาตเป็นโบรกเกอร์ให้ทั้งที่โดยพฤติกรรมของแบงก์แล้วไม่ใช่ อีกทั้งการเป็นโบรกเกอร์ของแบงก์ยังได้เปรียบโบรกเกอร์ประกันวินาศภัยด้านต้นทุนมากเพราะไม่มี ต้นทุนในการขาย มีแต่รายได้เข้ามา”
ปัจจุบันจะเห็นว่าธนาคารทำหน้าที่ขายประกันอย่างเดียว อีกทั้งยังเป็นสินค้า ประกันภัยสำเร็จรูป ซึ่งโดยบทบาทที่แบงก์ ทำอยู่ไม่ได้เป็นทั้งตัวแทนหรือนายหน้า เพราะไม่ได้ออกไปพบลูกค้า อธิบายเงื่อนไขความคุ้มครอง ตลอดจนจัดหาประกันภัยที่เหมาะกับความเสี่ยงของลูกค้า อีกประการหนึ่งด้วยพฤติกรรมของแบงก์ในตอนนี้มักจะยัดเยียดขายประกันให้กับลูกค้าที่ติดต่อเคาน์เตอร์แบงก์ ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาสาระของกรมธรรม์ตลอดจนเงื่อนไขความคุ้มครองต่างๆ บอกแค่ต้อง จ่ายกี่งวด คุ้มครองกี่ปี เมื่อครบปีนี้จะได้เงินคืนเท่าไร และได้ดอกเบี้ยต่างจากฝาก ธนาคารอย่างไรเท่านั้น

การกระทำดังกล่าวไม่ยุติธรรมกับลูกค้าที่ไปฝากเงินกับธนาคาร เป็นการเอาเปรียบลูกค้า มิหนำซ้ำขณะนี้ยังขยาย ไปทำนอกธนาคาร เช่น การขายผ่านโทรศัพท์ หรือเทเลมาร์เก็ตติ้ง เอาข้อมูลของลูกค้าไปให้บริษัทประกันภัยในเครือ หรือจ้างเอาต์ซอร์ส (Out Source) โทรศัพท์ไปเสนอขายประกันกับลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิต ถือเป็นการทำผิดจรรยาบรรณ ซึ่ง มีลูกค้าร้องเรียนเข้าไปที่คปภ.เยอะมาก ทั้ง ที่ถูกพนักงานโทรศัพท์ไปขายและยังมีเรื่อง ที่ถูกแบงก์หลอกให้ซื้อประกันบอกว่าเป็น การฝากเงินอีก จนต้องมานั่งรื้อกติกาการ ขายผ่านโทรศัพท์และผ่านธนาคารใหม่
“คปภ.ต้องรู้ก่อนบทบาทหน้าที่ของ คนกลางประกันภัยมีอะไรบ้างถึงจะออกประเภทใบอนุญาตได้ถูกต้อง ซึ่งพฤติกรรม ของแบงก์ที่ทำอยู่ในตอนนี้เป็นแค่ตัวแทนจำหน่ายหรือคนขายเท่านั้น เรายังยืน ยันว่าธนาคารไม่ใช่นายหน้าอาชีพตาม หลักสากลเป็นแค่ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องรู้ว่าถ้าซื้อผลิตภัณฑ์จากแบงก์อย่าหวังบริการ อย่าหวังวิเคราะห์ความเสี่ยง ซึ่งคปภ.ให้เราช่วยพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตนิติบุคคลใหม่ ถ้าหลักเกณฑ์ใหม่ออกทุกคนที่จะขอใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่นี้ด้วย กล่าวคือ ไม่ได้มีผลเฉพาะคนที่ขอใหม่ แต่มีผลย้อนหลังไปถึง คนที่ได้ใบอนุญาตไปก่อนหน้าแล้วด้วย เรา ไม่เห็นด้วยอีกเช่นกัน”
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 17 มิถุนายน 2554 นี้ สมาคมนายหน้าฯ จะเรียกประชุม กรรมการเพื่อแสดงจุดยืนชัดเจนไม่เห็นด้วยที่จะนำธนาคารพาณิชย์มาร่วมกับนายหน้าประกันภัย และให้ธนาคารเป็นโบรกเกอร์ แต่ควรจะให้ธนาคารแยกประเภทใบอนุญาตออกไป พร้อมกับระดมความเห็นจากกรรมการเกี่ยวกับผลการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา

5 กฎเหล็กใหม่คุมแบงก์แอสชัวรันส์โบรกเกอร์หนุนธนาคารค้านแหลก

สำหรับกฎระเบียบที่ถือเป็นหลักเกณฑ์ใหม่คุมช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ในร่างฯดังกล่าว มีด้วยกัน 5 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ธนาคารแยกเคาน์เตอร์ขายประกันออกจากเคาน์เตอร์ฝาก-ถอนเงินให้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ลูกค้าเกิดความสับสน 2.ให้ขายประกัน ได้เฉพาะลูกค้าของธนาคารเท่านั้น 3.ให้ขายประกันได้เฉพาะในที่ทำการของธนาคารเท่านั้น 4.ห้ามธนาคารเสนอขายประกันทางโทรศัพท์ 5.ห้ามธนาคารให้ข้อมูลลูกค้าของตัวเอง เพื่อ ให้หน่วยงานอื่นนำไปเสนอขาย

ทั้งนี้ ทางสมาคมนายหน้าฯ เห็นด้วยกับกฎระเบียบใหม่ทั้ง 5 ข้อดังกล่าว ซึ่งแม้ว่าธนาคารจะแย้งว่า การแยกเคาน์เตอร์อาจทำไม่ได้ในสาขาย่อยในห้างฯ ที่มีพื้นที่จำกัด และ บอกว่าที่ธนาคารต้องขายประกัน เพราะคปภ.ส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันภัยเพิ่มขึ้น ซึ่งในจุดนี้สมาคมนายหน้ายอมรับได้ แต่การส่งเสริมให้คนทำประกันเพิ่มขึ้นต้องให้ซื้ออย่างมีคุณภาพด้วย ไม่ใช่ซื้อโดยไม่มีความรู้ เพราะถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นภายหลัง เช่น เมื่อเกิดเคลม แบงก์ก็ไม่ได้ไปทำเคลมให้กับลูกค้า ผลสุดท้ายลูกค้ายกเลิก มีความ รู้สึกไม่ดีกับประกันภัย และหากสาขาย่อยของธนาคารมีพนักงานไม่พอหรือไม่พร้อมก็ไม่ต้องขายประกันภัย

“การแยกเคาน์เตอร์ขายในต่างประเทศอย่างที่สิงคโปร์ ธนาคารจะมีเจ้าหน้าที่ขายประกันภัยโดยเฉพาะ และจะมีเคาน์เตอร์หรือโต๊ะแยกออกมาต่างหาก โดยพนักงานขายประกันของธนาคารจะไม่มีหน้าที่ทำธุรกรรมอย่างอื่นของแบงก์”

ด้านแหล่งข่าวจากวงการนายหน้า ประกันชีวิต เปิดเผย “สยามธุรกิจ” มีอีก หลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ธนาคารอ้างว่าการขายประกันผ่านธนาคารทำให้อัตราความยั่งยืนกรมธรรม์ (Persistency) สูง ซึ่งเรื่องนี้คงต้องถามว่าวัดจากอะไร หากวัดจากยอดขายยอมรับว่า ขายผ่านแบงก์ยอดขายสูง เพราะเบี้ยแพง แต่หากวัดจากจำนวนรายคงไม่ได้สูงเท่า ส่วนในเรื่องการลด แลก แจก แถม ทาง คปภ.ทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือไปยังแบงก์ชาติให้เข้ามาดูแลธนาคารแล้ว

คปภ.ระดมความเห็นปรับปรุงร่างฯ หวั่นเข้าตำราเดิมไม่กล้าเชือด
ทั้งนี้ ผลจากการประชุมดังกล่าว ทางคปภ.ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้ก่อน โดยพยายามประนี ประนอมทุกฝ่ายเพื่อให้นำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศฉบับใหม่ จากนั้นจึงจะนัดทุกฝ่ายมาหารือกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี หากว่ากฎระเบียบใหม่ นี้ออกมามีผลบังคับใช้ การขายผ่านแบงก์ กระทบแน่ และจะทำให้การเติบโตของช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ลดลง เพราะที่ผ่านมาแบงก์แอสชัวรันส์เติบโตแซงหน้าช่องทางขายอื่นหมด ดังนั้นกฎระเบียบนี้จะทำให้ควบคุมให้อยู่ในกรอบ และเติบโตไปพร้อมๆ กัน

“เป็นที่น่าสังเกตว่า คปภ. จะทำ ให้ร่างประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาไม่เคยลงโทษ มีแต่ตักเตือนเท่านั้น เช่น กฎหมายกำหนดให้ในธนาคาร และสาขาต้องมีผู้ที่มีใบอนุญาต หรือไลเซ่นส์ เป็นนายหน้าประกันชีวิต และนายหน้าประกันวินาศภัยขั้นต่ำ 3 คน ทำหน้าที่ขายประกันได้ แต่ในความ เป็นจริงพนักงานทุกคนต่างก็ถูกกำหนด ให้ขายประกัน และยังมี KPI ชี้วัดผลงานด้วย ทำให้พนักงานที่ไม่มีใบอนุญาต ก็ต้องหาทางขาย ซึ่งบทลงโทษของการขายประกันโดยไม่มีใบอนุญาต คือ จะต้องถูกปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครถูกลงโทษถึงขั้นนี้ และหากจะไม่ต่อใบอนุญาต คปภ.จะกล้าในทางปฏิบัติกับแบงก์หรือไม่”
สยามธุรกิจ



INSURANCETHAI.NET
Line+