ปี 53 บททดสอบRBC (2011)
153

ปี 53 บททดสอบRBC (2011)

ปี 53 บททดสอบRBC

ปี 2552 ถือเป็นการทดสอบกรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risked Based Capital Framework) รอบแรก และทราบผลกันไปแล้ว โดยในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยมีบริษัทเข้าร่วมทดสอบอย่างเป็นทางการ 33 บริษัท และมีบริษัทที่เข้าร่วมทดสอบอย่างไม่เป็นทางการในภายหลังอีก 30 บริษัท และสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) พี่เลี้ยงคนสำคัญที่คอยช่วยเหลือแนะนำบริษัทประกันวินาศภัยในโครงการนี้ ก็ได้รวบรวมข้อมูลมาได้ทั้งสิ้น 48 บริษัท ซึ่งถือว่าครอบคลุมในเชิงการนำผลการทดสอบมาวิเคราะห์ ร่วมกับคณะกรรมการสมาคมประกันวินาศภัย และทุกบริษัทที่เข้าร่วมทดสอบ จากนั้นได้นำข้อสรุปที่ได้เสนอ ต่อที่ประชุม Steering Committee ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในเวลาต่อมา เพื่อ นำไปปรับปรุงกรอบ RBC สำหรับการซ้อมใหญ่ (Parallel Run) ในปี 2553 ก่อนจะมีการใช้จริงตามกฎหมายในปี 2554

ความเหนื่อยยากของการเปลี่ยนแปลงกรอบ ปฏิบัติที่เคยยึดถือกันมานาน เป็นเรื่องที่เหนื่อยยาก และวุ่นวายในเชิงปฏิบัติ เช่นเดียวกับการทดสอบเกณฑ์ RBC ครั้งแรกนี้ ทั้งบริษัทที่เข้าร่วมทดสอบ และพี่เลี้ยงต่างก็คอยลุ้นตัวโก่งว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ซึ่ง “นิตยา พิริยะธรรมวงศ์” เลขาธิการ สำนักงานอัตราเบี้ยประกันภัย (IPRB) เปิดใจว่า ยังต้องเหนื่อยกันไปอีกหลายปี เพราะเป็นการปฏิวัติการยึดกฎเกณฑ์กำกับแบบ “ตายตัว” มายึดกฎเกณฑ์ที่เป็น “หลักการ” และยังต้องอิงกับกฎเกณฑ์มาตรฐานของวิชาชีพอื่นด้วย เช่น การประเมิน สินทรัพย์ ต้องอิงตามมาตรฐานบัญชีสากล ไม่ได้อิงตามราคาประเมินของนายทะเบียน หรือจะเป็นการกำหนดอัตราส่วนของสินทรัพย์ต่อหนี้ สิน ซึ่งในพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน ก็ต้องมากำหนดมาตรฐานใหม่บนหลักการ ไม่ได้ยึดตายตัวแบบเดิมที่กำหนดเงินกองทุนไว้ที่ 10% ของเบี้ยรวมในปีก่อนหน้า เป็นต้น

> พอใจรอบแรกทดสอบ RBC ผ่านยกแผง เงินกองทุนอยู่ในเกณฑ์ไม่มีต่ำกว่า 100%

ทั้งนี้ผลการทดสอบที่สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IRPB) นำข้อมูลจากบริษัทประกัน วินาศภัยทั้งสิ้น 48 บริษัทมาวิเคราะห์นั้น ปรากฏว่า แม้ค่ากลางของอัตราความเพียงพอของเงินกอง ทุน (Median Capital Adequacy Ratio) ของทั้ง 48 บริษัทภายใต้กรอบเงินกองทุนปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 530% และลดลงเหลือ 303% หลังจากนำหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณเงินกองทุนตามกรอบ RBC มาใช้ แต่ไม่มีบริษัทใดสอบตกหรือมีอัตราความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่า 100% ตามที่กฎหมายกำหนด

แต่กระนั้น การประเมินมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินตามกรอบ RBC อาจยังไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น หลายบริษัทยังมิได้ทำประมาณการภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (Deferred Tax) และเงินสำรอง สวัสดิการลูกจ้าง (Employee Benefit Reserve) และใส่ข้อมูลลงในแบบฟอร์ม นอกจากนี้การคำนวณ ค่าประมาณการที่ดีที่สุดของความรับผิดด้านสินไหม ทดแทน (Best Estimate of Claim Liabilities) และความรับผิดด้านเบี้ยประกันภัย (Premium Liabilities) โดยทางคณิตศาสตร์ประกันภัย อาจ ยังมีความเบี่ยงเบนหรือคลาดเคลื่อนได้ค่อนข้างมากจากหลายสาเหตุ ด้วยเหตุดังกล่าวอาจทำให้ผลที่แท้จริงของอัตราความเพียงพอของเงินกองทุน อาจแตกต่างจากการทดสอบนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ และจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในการซ้อม ใหญ่ (Parallel Run) ในปี 2553 นี้

“ในภาพรวมของการทดสอบถือว่าพอใจมาก แต่หากแยกเป็นรายบริษัทที่เข้าร่วม หลายบริษัทระดับของเงินกองทุนอาจจะหล่นลงมาเยอะ เช่น บริษัทที่ 9 ภายใต้กรอบเงินกองทุนปัจจุบันอยู่ที่ 2,400% แต่ลดเหลือ 750% ตามกรอบ RBC หรือ บริษัทที่ 15 จาก 750% ลดลงเหลือ 300-400% เป็นต้น แต่ก็ถือว่าน่าพอใจ ส่วนบริษัทที่เงินกองทุน ต่ำกว่าเกณฑ์ 150% ไม่ได้หมายความว่าบริษัทนั้นจะต้องล้มละลาย เพราะตามระบบการเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System: EWS) ของคปภ. ก็เป็นเพียงแค่การส่งสัญญาณเท่านั้นว่า คปภ.จะจับตาดูบริษัทนั้น และถ้าเริ่มต่ำกว่า 130% คปภ.ก็จะมีมาตรการเข้าไปแทรกแซงตามขั้นตอนของระบบ EWS เพราะจริงๆ ตามกฎหมายยังกำหนดเงินกองทุนขั้นต่ำไว้ที่ 100%”

> ระดับเงินกองทุนลดการลงทุนมีส่วน เสี่ยงมากโดนค่า Risk Charge อ่วม

อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมจะเห็นว่า มีอัตราการลดลงของอัตราการดำรงเงินกองทุน แต่ความ รุนแรงของการลดลงขึ้นอยู่กับลักษณะความเสี่ยง เช่น บางบริษัทถือเป็นบริษัทที่มีระดับเงินกองทุน กว่า 1,500% เป็นบริษัทที่ดี มีความมั่นคงทางการเงิน แต่เมื่อยึดตามกรอบ RBC กลับลดลงมาเหลือ 300% นั่นเป็นเพราะด้านการกรอบลงทุน เกิดความ เสี่ยงของการกระจุกตัวของสินทรัพย์บางประเภท เกินลิมิตที่คปภ.กำหนด เช่น หุ้นทุน โดยส่วนที่เกิน คปภ. ชาร์จบาทต่อบาท 100% ตัวอย่างเช่น ลิมิตบอกไว้ว่า ลงทุนได้แค่ 5 ล้านบาท แต่ บริษัท ลงทุนไปถึง 10 ล้านบาท ส่วนที่เกินภายใต้ 5 ล้าน บาท โดนค่าชาร์จด้านความเสี่ยง (Risk Charge) ของการกระจุกตัวส่วนเกิน คือ จะต้องเอาเงินกองทุน 100% ในส่วนของ 5 ล้านบาทแรก มาสำรองเพิ่มเติมทันที

“ดังนั้น บริษัทที่ดีมีความมั่นคง แต่เห็นอัตราการลดลงค่อนข้างรุนแรงนั้น เกิดจากความเสี่ยงของการมีสินทรัพย์เสี่ยงส่วนเกินสูง ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทนี้สามารถทำได้ เพราะเดิมฐานเงินกอง ทุนส่วนเกินหนามาก บริษัทมีฐานะการเงินพร้อมที่จะเอาเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมาก ขึ้น นั้นคือ หุ้นทุน อีกทั้งเงินกองทุนเดิม คิดจาก 10% ของเบี้ยรับรวมเท่านั้น แต่ภายใต้กรอบใหม่ เงินกอง ทุนต้องเป็นเงินสำรองสินทรัพย์ และเงินสำรองของแต่ละประเภทการรับประกันภัย ภายใต้อัตราการประเมินสินทรัพย์กับหนี้สิน ยิ่งสินทรัพย์ประเภทที่อยู่ในความเสี่ยงสูง ก็ยิ่งต้องตั้งสำรองส่วนเกินเพิ่ม”

> ปี 53 คปภ.ลดค่า Risk Charge หุ้นอสังหาฯ หนุนอัตราส่วนเงินกองทุนดีขึ้น

ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่มีค่า Risk Charge สูงๆ มีด้วยกัน 2 ตัวคือ หุ้นทุน โดยถ้าเป็นหุ้นที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคิด 24% แต่ถ้าเป็นหุ้นนอกตลาดฯ คิด 32% ตัวต่อมาคือ อสังหาริมทรัพย์ หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทใช้งานเอง เช่น สำนักงานสาขาของบริษัทคิด 8% แต่หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าคิด 16%

“ดังนั้น การลงทุนหุ้นจึงเป็นตัวที่ส่งผลกระทบ หลักต่อภาคธุรกิจ หากบริษัทใดมีสัดส่วนของสินทรัพย์ต่อหุ้นทุนมาก เปอร์เซ็นต์ค่า RBC CAR จะดิ่งลง 5% ตัวคูณที่ใช้คูณเงินกองทุนสูงมาก ถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยงมากจึงตั้งเงินกองทุนสูง ซึ่งนับว่าคปภ.กำหนดสมเหตุผล แต่อย่างไรก็ดี คปภ. ก็ได้ปรับลดค่า Risk Charge ของหุ้นลงมาเหลือเท่ากับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ คือถ้าเป็นหุ้นในตลาดฯ จาก 24% เหลือ 16% และหุ้นนอกตลาดฯ จาก 32% เหลือ 20% เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างธุรกิจ การเงินด้วยกัน และเป็นกรอบเดียว กัน โดยอิงกับของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศออสเตรเลียและสิงคโปร์ เช่นเดียวกับค่า Risk Charge ของอสังหาริมทรัพย์ ก็ลดให้ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทใช้งานเองจาก 8% ลดเหลือ 4%”

ทั้งนี้ การปรับลดค่า Risk Charge ของทั้ง 2 ตัวนี้ถือว่าจะมีนัยสำคัญต่อการทดสอบ RBC ในปี 2553 เพราะเมื่อมีการปรับลดอัตราคำนวณลงมา ก็จะทำให้ระดับเงินกองทุนของหลายบริษัทดีขึ้น ถ้าบริษัทนั้นไม่ได้มีการลงทุนเพิ่ม หรือหลายบริษัทที่เริ่มเห็นสัญญาณ ก็ต้องมีการปรับพอร์ตการลงทุน แต่ก็ยังมีบางบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย เพราะไม่ได้มีพอร์ตลงทุนเสี่ยงมาก และมีเงินทุนหนาปึ้กก็ยังเดินต่อไปได้ แต่ตอนนี้บริษัทใดที่ต่ำกว่า 150% ต้องมีการปรับหรือดันให้ยืนขึ้นมาเหนือ 150% ให้ได้ เพื่อที่คปภ.เอง และผู้เอาประกันภัยจะได้ สบายใจ และเป็นภาพลักษณ์ที่ดีกับบริษัทนั้นด้วย


> ปี 53 ผลทดสอบใกล้เคียงของจริงที่สุด คปภ.ให้ส่วนลดกระจายลงทุนดี

สำหรับการทดสอบ RBC ในปี 2553 ซึ่งถือเป็นการซ้อมใหญ่ จะเป็นตัวชี้ที่ตรงตามความเป็นจริงที่สุด โดยมีการปรับอัตราส่วน (Ratio) ที่มีนัยสำคัญที่สุด ได้แก่ ค่า Risk Charge ของการลงทุนในหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ดังที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ ด้านเทคนิค คปภ.จะมีการพิจารณา การให้ส่วนลดของการกระจายทรัพย์สินที่มีการกระจายตัวดี (Diversifications Discount) ในรูปของเปอร์เซ็นต์ส่วนลด โดยยิ่งกระจายตัวดีความเสี่ยงยิ่งน้อย ทางวิชาการการกระจายต้องมีหลากหลายสินทรัพย์ ตามเกณฑ์วัดความสัมพันธ์ระหว่าง สินทรัพย์การลงทุนแต่ละชิ้นเพื่อให้ส่วนลด โดยบริษัทใดที่มีการลงทุนและกระจายเงินลงทุนที่ดี จะมีโอกาสได้ส่วนลด ทำให้สามารถมีระดับเงินกอง ทุนที่ดีกว่าบริษัทที่มีการลงทุนแบบกระจุกตัว

ขณะเดียวกันบริษัทเองก็คำนึงถึงว่า จะทำ ให้ค่า CAR Ratio ตีกลับขึ้นมาได้อย่างไร โดยเฉพาะบริษัทที่มีค่า CAR Ratio สูง แต่ลดลงมาจากเดิมมาก แม้จะไม่มีปัญหา ก็จะต้องเริ่มหาทางประหยัดเงินกองทุนได้จากอะไรบ้าง

ส่วนบริษัทที่กำลังมีปัญหา ยอมรับเหมือนกัน ว่าจะดูแลเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งปัญหาด้านการลงทุนก็ไม่ได้หนักมาก แต่ด้วยของเดิมฐานะการเงินไม่ได้ อยู่ใน ระดับที่รองรับความเสี่ยงได้มากมาย หากถูกกระแทก ลงมาก ถือเป็นการบ้านที่หนักมาก จึงไม่รู้ จะไปขยับ ส่วนไหนเหมือนกัน เพราะเรื่องปรับพอร์ตรับประกันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จริงๆ พูดยากเหมือนกันว่าจะปรับอะไร เพราะส่วนผสมของความ เสี่ยงแต่ละบริษัทที่ผสมกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน การประกันต่อ เป็นต้น ทำให้เกิดความต่างของระดับเงินกองทุน

> เดายากผลกระทบทดสอบรอบสอง ห่วงความผิดพลาดจากการคำนวณ

การทดสอบ RBC ในปี 2553 คาดเดาผลได้ยากมาก เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าส่วนผสมความเสี่ยงภัยของแต่ละบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้ไม่แน่ใจว่าลูกค้ามองเรื่องความมั่นคงของธุรกิจเป็นปัจจัยแรกในการ ตัดสินใจซื้อจริงหรือไม่ หรือซื้อประกันเพราะการแนะนำจากตัวแทนที่สนิทสนมมาก กว่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องของราคา ถ้าวันไหน ถึงระดับที่ผู้บริโภคตระหนักถึงความมั่นคงทางธุรกิจ เป็นสิ่งแรก บริษัทก็ต้องปรับปรุง เพราะถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

ส่วนการควบรวมกิจการของบริษัทประกันภัยเกิดแน่นอน ในกรณีที่เกิดผลทดสอบมีหลายบริษัทต่ำกว่าเกณฑ์ คปภ.จะเข้ามาแทรกแซงอย่างไร หากไม่สามารถแก้ไขได้การควบรวมต้องเกิดขึ้นแน่ เพราะความไม่นิ่งมีสูง

ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขผลการทดสอบจะค่อนข้างน่าพอใจ แต่ก็ยังมีเหตุให้กังวล เนื่องจากเป็นตัวเลขที่บริษัทต้องประเมินใหม่ทั้งหมด โดยตั้งสมมติฐานประหนึ่งตัวเองอยู่ในอนาคต ดังนั้น ตัวเลขในแง่ของความผิดพลาด มีโอกาสเบี่ยงเบนได้ แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสินทรัพย์และหนี้สินที่นำมาเป็นตัวตั้ง

คณะทำงานหวังให้การตั้งเงินสำรองของบริษัทประกันภัยสวยงามที่สุด ซึ่งปัจจุบันยังมีหลาย มาตรฐานที่ใช้ทำงาน เช่น หลายบริษัทยังใช้ทรัพยากรภายในคำนวณอยู่ บางบริษัทก็ไม่ได้มีบุคลากร ที่เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ใช้แค่นักบัญชีคำนวณเท่านั้น ดังนั้นหากฐานที่ใช้คำนวณไม่ถูก ต้อง ตัวคูณก็จะผิดทั้งหมด ซึ่งโอกาสในการคำนวณ ส่วนของหนี้สิน หรือไลบิลิตี้ (Liability) สูงกว่าการคำนวณทรัพย์สินมีสูง เนื่องจากปัจจุบันขาไลบิลิตี้ยังมีความหลากหลาย หากบริษัทใดว่าจ้าง นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งถือเป็นผู้มีประสบการณ์ในการประเมินเงินสำรอง ก็ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนบริษัทที่ใช้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยของตัวเอง ก็พอใช้ได้ แต่ยังขาดเรื่องชั่วโมงบิน แต่หากเป็นฝ่ายบัญชีทำน่าห่วง เพราะขาดประสบการณ์โดยตรงในการคำนวณ ซึ่งบริษัท ประกันวินาศภัยที่เหลือจาก 48 บริษัทที่เข้าทดสอบปีนี้ น่าเป็นห่วง แต่คปภ.ก็เข้าใจ หากบริษัทไม่มีทรัพยากรสนับสนุนการปรับภายใต้กรอบ RBC ก็ขอให้มาที่ IPRB ส่วนบริษัทที่มีเงินทุนก็ขอให้ว่าจ้างที่ปรึกษาดีกว่าที่จะทำเอง

> RBC มีผลบีบตั้งราคาตามความเสี่ยง การเพิ่มทุนต้องมีเหตุผลเหมาะสม

กรอบ RBC มีผลโดยตรงที่บริษัทต้องมองเรื่องความเพียงพอของเบี้ยมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะหากยอดขาย หรือเบี้ยเติบโต แต่ทำกำไรไม่ได้ เงินกองทุนก็จะไม่งอกเงย เพราะเงินกองทุนจะเติบโตขึ้นจากการที่บริษัทต้องมีกำไรสะสม หักปันผลไปแล้ว เพื่อนำมาพอกให้เงินกองทุนใหญ่ ยกเว้นสามารถทำกำไรจากเงินลงทุนได้ก้อนโต

“ง่ายๆ เบี้ย 20% ความเสี่ยงขึ้น 20% กำไร ก็ต้องขึ้น 20% เงินกองทุนก็ต้องขึ้น 20% หรือถ้าไม่มีกำไรก็ต้องเพิ่มทุน อยู่ที่ว่าฟูกหนาหรือไม่ ต้อง ไปสอยกำไรให้บางลงเรื่อยๆ ถ้าเฉียดๆ อยู่แล้วก็ต้องเพิ่มทุน จะทำกำไรก็ต้องกำหนดราคาให้เหมาะสมกับความเสี่ยง มีกำไรเหลือ คุ้มความเสี่ยงภัยและต้นทุนค่าใช้จ่าย ถ้าบริษัทที่มีกองทุน 120-130% ภายใต้กรอบ RBC ตายแน่นอน สุดท้ายแล้ว กำไร ได้ต้องอยู่ในสัดส่วนของภัยที่มี”

ดังนั้น ในปี 2553 จะเห็นภาพตลาดต้องโฟกัสความเพียงพอของเบี้ยประกันภัยให้มากขึ้น เลิกทำการรับประกันภัยโดยมุ่งเน้นเอากระแสเงิน สดเข้ามาเป็นหลัก ราคาในอนาคตต้องเป็นราคาบนพื้นฐานของความเสี่ยงจริง (Risk Based Pricing) โดยการปรับตัวเชิงราคาอาจจะยังไม่เห็น ในทันที ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทใดจะมองเห็นในเรื่องนี้ก่อน และเรียนรู้ที่ปรับตัวได้ก่อน ถ้าไม่ปรับก็ต้องรอให้ตัวเลขมันสอน หรือรอให้เกิดก่อน หากโต 10-20% ไม่สามารถทำกำไรได้ กองทุนก็จะแฟบ ลง ดังนั้นหลายบริษัทที่เข้าใจเรื่องนี้ ในปี 2553 ก็จะตั้งเป้าเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวแน่นอน หรือมีตั้งเป้า 0% ไว้ก่อน เพื่อตั้งหลัก โดยเฉพาะบริษัทที่มีฐานเงินกองทุน 200-300% หาจังหวะโดนเข้าเล่นทำกำไรมากกว่า

ส่วนการเพิ่มทุน เพิ่มไม่เพิ่มอาจจะไม่ใช่ ปัญหา แต่อยู่ที่ว่ามองแล้วว่าไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้ หรือเพิ่มแล้วยังทำกำไรในระดับเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้น ผู้ถือหุ้นก็อาจจะไม่เพิ่ม หรือสุดท้ายก็เลือกลดขนาดธุรกิจ เพื่อให้ขนาดเงินกองทุนที่มีอยู่สามารถรองรับได้

“ในการทดสอบ RBC หากบริษัทไม่ตั้งใจปฏิบัติจะเป็นปัญหามากว่า หากว่าในบริษัทฝ่ายการ ตลาดกับการพิจารณารับประกันทะเลาะกัน ก็อาจจะเกิดเหตุรับงานมางานเดียวกระทบทั้งพอร์ต ดังนั้นบริษัทต้องมองไปที่จุดเดียวกันมากกว่าการทำยอดขายอย่างเดียว นี่เป็นเรื่องง่ายๆ ของหลักการ ต้องทำให้มีกำไรขยายธุรกิจให้ได้ หากไม่ทำภายใต้ RBC บริษัทนั้นก็จะถูกล็อกหมดทุกทาง”
   
ที่มา : สยามธุรกิจ



INSURANCETHAI.NET
Line+