การตัดกิ่งไม้ที่รุกล้ำ เข้ามาที่ในบริเวณรั้วบ้านของคนอื่น
181

การตัดกิ่งไม้ที่รุกล้ำ เข้ามาที่ในบริเวณรั้วบ้านของคนอื่น

การตัดกิ่งไม้ที่รุกล้ำ  เข้ามาที่ในบริเวณรั้วบ้านของคนอื่น  ซึ่งมีทั้งกิ่งไม้ และผลที่ตกลงมา  และทำความเสียหายให้กับตัวบ้าน และรถยนต์ของบ้านข้างเคียง  จะสามารถกระทำได้หรือไม่ นั้น

        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347  บัญญัติไว้ว่า “ เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อและเอาไว้เสีย    ถ้ากิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา  เมื่อเจ้าของที่ดินได้บอกผู้ครอบครองที่ดินติดต่อให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว  แต่ผู้นั้นไม่ตัด    ท่านว่าเจ้าของที่ดิน ตัดเอาเสียได้”

        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434  บัญญัติไว้ว่า “ ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือน หรือ สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่ เพียงพอก็ดีท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ  จำต้องใช้    ค่าสินไหมทดแทนแต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้อง ใช้ค่าสินไหมทดแทน

          บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

            ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับ ผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้”

            ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  358  บัญญัติว่า “ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น ผู้นั้นกระทำความฐานทำให้เสียทรัพย์”

            ตัวอย่าง เช่น นาย ข  เป็นเจ้าของกิ่งไม้  เมื่อกิ่งไม้ล้ำเข้าไปในบริเวณบ้านของนาย ก เป็นกรณีการรบกวนสิทธิของนาย ก  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347 . นาย ก ต้องแจ้งให้เจ้าของจัดการตัด หากเจ้าของไม่ดำเนินการ นาย ก  จึงใช้สิทธิตัดเองได้ ่ หากนาย ก ตัดกิ่งไม้เองโดยไม่แจ้งให้นาย ข ทราบก่อน นาย ก มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา .358

            จึงแนะนำว่า  ควรที่จะแจ้งเจ้าของต้นไม้ให้ตัดกิ่งไม้ให้อยู่ตามแนวเขตที่ดินก่อน ถ้าคุยกันไม่ได้ก็ควรไปแจ้งตำรวจให้บันทึกปากคำว่าคุณได้บอกกล่าวเขาแล้ว  และขอแนะนำว่าไม่ควรไปตัดกิ่งไม้เองเพราะจะมีปัญหาแน่นอน  ถ้าเขาไม่ตัดจริงๆ ก็ควรที่จะต้องฟ้องเขาในฐานละเมิดเพื่อให้เขาตัดกิ่งไม้ออก และเรียกค่าเสียหายได้ตามควรแก่กรณี  กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420  ซึ่งเป็นความรับผิดทางแพ่ง

              ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์ สรุปได้ดังนี้

            1. ทรัพย์ที่ถูกทำให้เสียหาย จะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้

            2. การทำให้เสียทรัพย์โดยวิธีทำให้เกิดเพลิงไหม้นั้น ย่อมเป็นความผิดฐานวางเพลิงด้วย

            3. ผู้กระทำต้องมีเจตนา โดยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำด้วย

            4. ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ไม่ต้องคำนึงว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ในความครอบครองของผู้ใด

            5. จะเป็นที่สาธารณะหรือที่พิพาทอยู่ก็ตาม ถ้าฝ่ายหนึ่งได้เพาะปลูกพืชพันธุ์ไว้ อีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปทำให้เสียหาย เพื่อแย่งการครอบครอง ผู้ที่ทำให้เกิดการเสียหายมีผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่ไม่ผิดฐานบุกรุก

            6. ทรัพย์นั้นต้องเป็นของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และผู้กระทำต้องรู้ว่าเป็นทรัพย์ของผู้อื่น ถ้าผู้กระทำไม่รู้ หรือโดยสำคัญผิดว่าเป็นทรัพย์ของตนหรือเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

            7. การอนุญาตให้ตัดกิ่งไม้รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของตนได้ แต่ต้องบอกกล่าวเจ้าของก่อนนั้น ( ตาม ป.พ.พ. มาตรา  1347 ) เพียงที่ไม่ได้บอกกล่าวและได้ตัดไปเสียก่อนนั้น จะเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ ต้องดูเจตนาของผู้กระทำด้วย เพียงที่ไม่ได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามเงื่อนไงในกฎหมาย ยังไม่เป็นเจตนาทำผิดทางอาญา

              8. การได้ทรัพย์มาโดยการกระทำผิดอย่างอื่น เช่น ลักทรัพย์มาแล้วทำลายทรัพย์นั้น ไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อีก

              9. ผู้เสียหายนั้นไม่จำต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกทำให้เสียหาย บุคคลที่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ ก็เป็นผู้เสียหายได้ หากได้รับความเสียหายเกี่ยวกับสิทธิครอบครอง

            10. การปลูกต้นไม้ยืนต้นลงในที่ดินซึ่งเช่าผู้อื่นอยู่ ย่อมตกเป็นส่วนควบกับที่ดินนั้น เจ้าของที่ดินตัดฟันต้นไม้ทำให้เสียหาย ไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ถ้าผู้ปลูกตัดฟันเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่ปลูกไม้ล้มลุก ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้เช่าซึ่งปลูกไว้มีสิทธิเอาไปหรือทำลายเสียได้ ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่เจ้าของที่ดินทำลายเป็นความผิดทำให้เสียทรัพย์

            เมื่อเรามามองแต่เฉพาะประเด็นทางอาญานะครับ เพราะประเด็นทางแพ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว    ในตรงนี้น่าจะแยกออกเป็น 2 ประเด็น  กล่าวคือ

            1. บอกกล่าวก่อนตัด

            2. ไม่ได้บอกกล่าวก่อนตัด

            1. บอกกล่าวก่อนตัด

            เมื่อดำเนินการครบถ้วนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347 เงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมาย ย่อมมีสิทธิตัดกิ่งได้ การกระทำดังนี้เป็นสิ่งที่กฎหมายให้อำนาจให้ทำได้ จึงไม่มีความผิดตามกฎหมายอาญา (บทยกเว้นความผิดทางอาญา)

            2. ไม่ได้บอกกล่าวก่อนตัด

              กรณีนี้  เมื่อมิได้กระทำในเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด  ย่อมไม่อาจอ้างบทยกเว้นความผิดได้ (ว่ากฎหมายให้อำนาจกระทำสิ่งนั้น) จึงเป็นความผิดอาญา

              แต่ในทางอาญานั้น มีบทยกเว้นความผิด (ป้องกัน) และบทยกเว้นโทษ (จำเป็น) ไว้ด้วยเช่นกัน จึงอาจอ้างส่วนดังกล่าวได้

              แต่ทั้ง 2 ประเด็นข้างต้น ยังอยู่ภายใต้เรื่องเจตนาทำให้เสียทรัพย์ด้วย

              ยกตัวอย่างเช่น บ้านข้างๆปลูกต้นไม้เพื่อเอากิ่งไม้ดอกไม้ไปขาย หรือใช้งานอื่นๆ เมื่อต้นไม้นั้นแตกกิ่งไม้มีดอกสวยงามราคาแพงและยื่นล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของเรา เราไม่บอกกล่าวข้างบ้าน กลับตัดกิ่งไม้ที่ยื่นรุกล้ำเข้ามานั้นจนกระจุยกระจาย ใช้ประโยชน์นั้นไม่ได้ ย่อมมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้ หรืออาจเป็นการป้องกันเกินสมควรได้เช่นกัน  เพราะกฎหมายให้อำนาจเพียงตัดกิ่งที่รุกล้ำ มิใช่ทำลายกิ่งที่รุกล้ำจนใช้ประโยชน์ไม่ได้    จงอย่าลืมว่ากิ่งไม้นั้นยังเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของต้นไม้นั้นตามกฎหมายแพ่งด้วย

โดย:  กลุ่มนักกฎหมายช่วยเหลือประชาชนโดยว่าที่ร้อยตรีกฤชนนท์ แสดงฤทธิ์ในเพื่อนสายงานบริหารทรัพย์สิน



INSURANCETHAI.NET
Line+