จ่ายเช็คเด้ง...ติดคุกยุติธรรมที่เหลือมล้ำ
186

จ่ายเช็คเด้ง...ติดคุกยุติธรรมที่เหลือมล้ำ

จ่ายเช็คเด้ง...ติดคุกยุติธรรมที่เหลือมล้ำ

"เป็นกฎหมายที่ตลกมาก ทั้งไม่สมเหตุสมผล ทั้งขาดตรรกะ  เราเป็นหนี้ซื้อสินค้าหรืออะไรก็ตามแต่ หากชำระหนี้ด้วยการจ่ายเช็ค  แล้วเช็คเกิดเด้งขึ้นมา ไม่มีเงินไปชำระหนี้ เราจะมีความผิดทางอาญา  ต้องโทษติดคุก
          แต่ในขณะเดียวกัน เป็นหนี้ซื้อสินค้าเหมือนกัน  แต่จ่ายชำระโดยการรูดบัตรเครดิต ถึงเวลากำหนดไม่มีเงินไปจ่ายให้เขา  มีความผิดแค่ทางแพ่ง ไม่ต้องโทษทางอาญา ไม่มีโทษจำคุก
          แม้แต่การเป็น หนี้ขอกู้ยืมเงิน ที่มีการทำสัญญากู้ยืมเรียบร้อย เป็นหนี้  เอาเงินเขาไปได้โดยไม่ต้องรูดบัตร ไม่ต้องจ่ายเช็ค แต่พอถึงเวลาชำระหนี้  ไม่มีเงินไปจ่ายเขา มีความผิดแค่ทางแพ่ง ไม่ต้องโทษทางอาญา ไม่มีโทษจำคุก
          ที่ ตลกไปยิ่งกว่านั้น เป็นหนี้จ่ายเช็ค แล้วเช็คเด้งเหมือนกัน  แต่ถ้าจ่ายเช็คก่อนที่จะเป็นหนี้หรือก่อนที่จะได้รับสินค้า  กรณีนี้มีความผิดแค่ทางแพ่ง ไม่มีโทษจำคุก  แต่ถ้าจ่ายเช็คหลังจากที่ได้รับสินค้าแล้ว มีโทษทางอาญาต้องติดคุก
          ความผิดมันแตกต่างกันตรงไหน ในเมื่อสาระโดยสรุปแล้ว เป็นหนี้แล้วไม่มีเงินไปจ่ายเขาเหมือนกัน แต่ทำไมถึงได้รับโทษแตกต่างกัน"

          ดร.สม เกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  (ทีดีอาร์ไอ) เปิดประเด็นถึงความเหลื่อมล้ำของ  พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534  ที่ได้จากการศึกษาวิจัยเรื่อง "นิติเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายเช็ค"  โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
          นอกจากมาตรฐานการเอาผิดจะต่างกันแล้ว การวิจัยยังว่า การดำเนินคดีเอาทางอาญาของการจ่ายเช็คเด้ง ได้ผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย
          เกิดการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนไม่น้อย และยังเป็นภาระของภาครัฐอีกต่างหาก
          ด้วยมีการนำทรัพยากรของรัฐ ตำรวจ อัยการ ศาล ให้มาทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับพนักงานทวงหนี้ ในเรื่องที่เป็นปัญหาส่วนบุคคล ของคน 2 คน
          "แต่ละ ปีมีคดีเกี่ยวกับเช็คขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมาก ตัวเลขในปี 2551 มีประมาณ  16,000 คดี แต่การฟ้องร้องดำเนินคดี กว่าจะเสร็จสิ้นแต่ละคดีใช้เวลาเฉลี่ย  21.2 เดือน
          คดีเช็คที่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลไม่เพียง ชักช้าเสียเวลาเท่านั้น ยังส่งผลให้การทำงานของตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา  ในคดีอาญาอื่นๆ ที่สำคัญกว่าเป็นจำนวนมาก พลอยชักช้าเนิ่นนานไปอีกด้วย  เพราะคดีเช็ค คดีส่วนบุคคลมาแย่งเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ไป"
          การ พิจารณาคดีที่เนิ่นนานเฉลี่ยเกือบ 2 ปี  ประสิทธิภาพของการดำเนินคดีกลับไม่ช่วยให้เจ้าหนี้ได้เงินคืนครบเต็มมูลค่า แต่อย่างใด...เฉลี่ยแล้วเจ้าหนี้ได้รับเงินใช้หนี้คืน 65-80%  ของมูลค่าหน้าเช็คเท่านั้นเอง
          โดยเฉลี่ยแล้วเช็คที่เป็นคดีขึ้นสู่ ศาลปีละ 16,000 คดี มีมูลค่าเฉลี่ย คดีละ 115,000 บาท...ฉะนั้นคดีสิ้นสุด  ได้เงินคืนเฉลี่ยคดีละ 74,750-92,000 บาท
          ได้เงินคืนไม่ครบ หนำซ้ำการฟ้องร้องคดียังมีต้นทุนทางสังคมสูง... คิดเป็นเงินประมาณ 909-1,351 ล้านบาทต่อปี
          คณะ วิจัยได้แบ่งแยกย่อยเงินทุนออกมาเป็น ต้นทุนของรัฐ  คิดเฉพาะต้นทุนค่าจ้างที่รัฐต้องจ่ายให้อัยการและศาลที่ต้องมาทำงานในคดี เช็ค (ไม่นับค่าจ้างที่รัฐต้องจ่ายให้ตำรวจ) คิดเป็นเงินประมาณปีละ 396-720  ล้านบาท
          ต้นทุนของคู่กรณีที่จะต้องเสียค่าเวลาและค่าเดินทางไปแจ้ง ความ ปีละ 237 ล้านบาท...ค่าใช้จ่ายพิเศษ  หรือค่าใต้โต๊ะเพื่อจูงใจให้เจ้าหน้าที่ขยันช่วยทำคดีให้ ปีละ 118  ล้านบาท...ต้นทุนค่าทนาย ค่าเสียเวลา  ค่าเดินทางไปมาระหว่างคดีขึ้นสู่ศาลอีกปีละ 276 ล้านบาท
          เมื่อนำตัวเลขต้นทุนมาคำนวณหาค่าเฉลี่ย คดีเช็คมีค่าใช้จ่ายต้นทุนเฉลี่ยคดีละ 56,000–84,000 บาท ต่อคดี
          ในขณะที่ฟ้องร้องคดีสิ้นสุด ได้เงินเฉลี่ยประมาณ 74,750–92,000 บาทต่อคดี
          ผลตอบแทนที่ได้มากับการลงทุนที่ต้องจ่ายไป...ไม่คุ้มเอาซะเลย
          "การ วิจัยครั้งนี้ ได้สุ่มเก็บข้อมูลการพิจารณาคดีเช็คในระหว่างปี 2546-2551  และสัมภาษณ์เจ้าหนี้คดีเช็ค  เจ้าหนี้ทุกคนล้วนแต่มีความต้องการได้เงินคืนเท่านั้น  ไม่มีรายไหนเลยที่ต้องการให้ลูกหนี้ต้องได้รับโทษจำคุก  เพราะลูกหนี้ติดคุกแล้ว เจ้าหนี้ยากจะได้เงินคืน"
          รองประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย บอกอีกว่า การเอาผิดทางอาญา  ให้คดีความผิดเกี่ยวกับเช็คต้องติดคุก  ไม่เพียงมีปัญหาลักลั่นในเรื่องการใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมกัน  และมีต้นทุนในการดำเนินคดีสูงไม่คุ้มทุนเท่านั้น
          ยังจะมีปัญหาใน เรื่องขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน  ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศภายใต้กรอบสหประชาชาติหลักด้านสิทธิมนุษยชน  ในเรื่องกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)  ที่รัฐบาลไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกและให้สัตยาบันต่อองค์การสหประชาชาติไป เมื่อ 29 ต.ค. 2539หลักการสิทธิมนุษยชนข้อหนึ่งกำหนดไว้ว่า...บุคคลจะรับโทษจำคุกเพียงเพราะไม่อาจชำระหนี้หาได้ไม่
          แปลไทยเป็นไทยแบบง่ายๆ...เป็นหนี้จ่ายเช็คแล้วเด้ง จะมีโทษอาญา มีโทษจำคุกไม่ได้
          การ เอาผิดทางอาญาในคดีเช็คมีเรื่องไม่สอดคล้องหลักนิติศาสตร์ หลักสิทธิมนุษยชน  รวมทั้งมีต้นทุนสูงเกินไป คณะวิจัยได้เสนอแนวทางเลือก  การยกเลิกโทษทางอาญาในคดีเช็ค เพื่อลดภาระของภาครัฐไว้ 2 แนวทาง
          แนวทางแรก...ใช้เครดิตบูโรแบบเดียวกับกรณีการใช้บัตรเครดิต ใครจ่ายเช็คเด้งจะมีประวัติบันทึกไว้ในเครดิตบูโร
          เจ้า หนี้รายไหนไม่มั่นใจในลูกหนี้ที่จ่ายเช็ค  สามารถให้ลูกหนี้ไปขอประวัติการจ่ายเช็คย้อนหลัง 1 ปี จากเครดิตบูโร  แสดงต่อเจ้าหนี้ว่ามีประวัติดี ประวัติเสีย น่าเชื่อถือแค่ไหน  เพื่อเจ้าหนี้จะได้มั่นใจว่าเช็คที่รับมาจะไม่เด้ง
          แนวทางนี้ เป็นการผลักภาระของภาครัฐ ไปให้ผู้ที่จ่ายเช็คหรือผู้ที่ก่อหนี้รับภาระแทน
          ส่วนแนวทางที่ 2...ผลักภาระไปให้ธนาคารรับภาระแทนภาครัฐ
          โดย การให้ธนาคารทำระบบเก็บข้อมูลของลูกค้าที่ผ่านมามีประวัติการการจ่ายเช็ค เป็นอย่างไร...ลูกค้าคนไหนประวัติไม่ดี มีปัญหาจ่ายเช็คเด้งถี่บ่อย  อาจลงโทษด้วยการห้ามใช้เช็คไประยะหนึ่ง เป็นเวลากี่ปีแล้วแต่จะว่ากัน
          แนวทาง นี้ จากการศึกษาของ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  พบว่า ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 150  ปีก่อนก็มีปัญหาแบบเดียวกันกับบ้านเราในตอนนี้ คือ  มีคดีเช็ครกรุงรังศาลเป็นภาระของภาครัฐเป็นจำนวนมาก
          ปี 2408  ทางการฝรั่งเศสเลยออกกฎกติกาแก้ปัญหาโดยการแบ่งประเภทของเช็ค  ให้เฉพาะเช็คที่มีมูลค่าสูงเท่านั้นที่จะฟ้องศาลเอาผิดทางอาญาได้
          และ ต่อมาในปี 2534 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายใหม่อีกครั้ง  คราวนี้ยกเลิกโทษอาญากับคดีเช็คทั้งหมด  โดยใช้มาตรการให้ธนาคารจัดระบบกลั่นกรองลูกค้า  บันทึกประวัติการใช้เช็คของลูกค้า หากพบว่า  ลูกค้าคนใดมีประวัติจ่ายเช็คไม่ดี  จะลงโทษโดยการห้ามทำธุรกรรมกับธนาคารเป็นเวลา 5 ปี ปรากฏว่าก็ไม่มีปัญหาใดๆ  เช็คก็ยังได้รับความน่าเชื่อถือใช้กันในวงจรธุรกิจเหมือนเดิม
          ส่วนประเทศไทย นายแบงก์ที่มีอำนาจใหญ่คร่อมหัวฝ่ายการเมือง จะยอมเสียสละแบกภาระปัญหาธุรกิจของตัวเองได้หรือไม่
          เป็นอีกเรื่อง...ที่จะพิสูจน์ศักดิ์ศรีประเทศชาติ ไม่ได้เป็นทาสนายแบงก์.



INSURANCETHAI.NET
Line+