มะเร็ง ความปวด และมอร์ฟีน
411

มะเร็ง ความปวด และมอร์ฟีน

มะเร็ง ความปวด และมอร์ฟีน

คำถามยอดฮิตเมื่อได้ยินว่าหมอจะให้มอร์ฟีน “กินมอร์ฟีนแล้วจะติดใช่ไหม???”
คุณเองก็คงเคยคิด และกลัวอย่างนั้นใช่ไหม?

ส่วนใหญ่ของการให้มอร์ฟีนคือ คุณหมอจะให้เมื่อคนที่คุณรักเป็นมะเร็งมีความปวดรุนแรงมาก ซึ่งหมอก็มักจะได้ให้ยาในกลุ่มออกฤทธิ์อ่อนมาแล้วไม่หายปวดหรือการให้เพิ่ม มีผลเสียต่อระบบอวัยวะในร่างกาย มอร์ฟีนเป็นยาในกลุ่มโอปิออยด์ที่มีคุณสมบัติแก้ปวดที่แรงจึงใช้แล้วได้ผลดีมาก แต่คุณสมบัดิทางเภสัชวิทยาที่พิเศษก็มีดังนี้

ภาวะดื้อ (tolerance)
หมายถึง เมื่อผู้ป่วยได้รับยานานๆ ร่างกายมีการปรับสภาพของระบบประสาทส่วนกลางทำให้ต้องเพิ่มปริมาณยาที่ใช้ ขึ้นเพื่อผลระงับปวดที่เคยได้ผลซึ่งพบได้ไม่บ่อยที่ผู้ป่วยต้องเพิ่มยา แต่การลุกลามของโรคมะเร็งที่มากขึ้นอาจเป็นสาเหตุให้ความปวดนั้นมากขึ้นจึง ต้องการยาเพิ่มขึ้น

ส่วนการติดยาทางกายภาพ (physical dependence) จะมีการตอบสนองของร่างกายต่อการขาดยาโดยมีอาการที่แสดงออกทางสรีระวิทยา เช่น หาวนอน น้ำตาไหล ขนลุก ปวดเกร็งท้อง ท้องเสีย กระวนกระวาย (withdrawal, abstinence) ซึ่งเกิดเมื่อหยุดยาโอปิออยด์ที่เคยได้รับเป็นเวลานานขึ้นกับชนิดของยาหรือ เกิดทันทีภายหลังได้ยาต้านโอปิออยด์ (antagonist) ดังนั้น การลดยาต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของหมอว่าลดยาได้ซึ่งก็จะค่อยๆ ลดยาลงร้อยละ 25-50 ของปริมาณเดิมในแต่ละครั้ง ส่วนคำว่า ภาวะติดยา (addiction) หมายถึง กลุ่มอาการที่ผู้ป่วยต้องการยาอย่างมาก เพื่อผลทางจิตใจ (psychological dependence) เกี่ยวข้องกับการได้รับยากลุ่มนี้โดยที่ไม่เกี่ยวกับหรือไม่ใช่เหตุผลของการ ออกฤทธิ์ทางการแพทย์ เช่น ต้องการเพื่อให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม (euphoria) แทนที่จะเป็นฤทธิ์ระงับปวดซึ่งมีอารมณ์ เข้ามาเป็นเหตุจูงใจเกี่ยวข้อง

แล้วถ้าคนที่รักเป็นมะเร็ง คุณจะให้เขาทนทรมานกับความปวดที่รุนแรงไปไยเล่า ในเมื่อเราก็รู้ว่ามียาที่แก้ปวดได้ดีปานนี้ และคนที่คุณรักก็ไม่ได้อยากยาเองซะหน่อย แต่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้โดยหมอเป็นผู้สั่งยา ทั้งนี้ต้องมีการบริหารยาอย่างถูกหลักการด้วย ไม่ใช่ไปกินเองเพิ่มเองหรือกินร่วมยาที่ออกฤทธิ์เสริมกันโดยหมอไม่ได้แนะนำ ก็จะมีผลข้างเคียงได้ เช่น ง่วง หรือหลับมากไป ส่วนอาการท้องผูกก็ต้องเฝ้าระวังให้ยาระบายป้องกัน ก็จะดีขึ้นได้

อย่างไรก็ดีก็ยังมีบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และญาติอีกจำนวนหนึ่งที่กลัวการใช้ยามอร์ฟีนทั้งๆ ที่ผู้ป่วยปวดอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่มีเคยเข้าใจผิดไปโดยจำภาพจากประสบการณ์ในอดีต เช่น คนข้างบ้านฉีดเฮโรอีนเสียชีวิดไป บ้างก็เห็นในภาพยนตร์ หรือในข่าวดาราฮอลีวู้ดซึ่งอันนั้นเป็นคนละกรณีกันแล้ว เพราะนั่นไม่ใช่การให้เพื่อการรักษาทางการแพทย์ในผู้ป่วยมะเร็ง หมอเองถ้ากลัวจนไม่กล้าสั่งยาให้น่าจะเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณแพทย์นะ ที่ปล่อยให้คนที่เรารักที่เป็นมะเร็งทรมาน เรามาช่วยกันให้ความรู้ที่ถูกต้องกับคนที่เรารัก และผู้ที่ยังกลัวกันดีกว่าเพื่อที่จะทำให้การดูแลรักษาความปวดได้ผลดีมากขึ้น
โดย พญ.ลักษมี ชาญเวชช์

มอร์ฟีน เป็นยาระงับปวด ที่ใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีความปวดรุนแรงและเรื้อรัง ซึ่งเดิมมีอยู่ในรูปของยาฉีด ปัจจุบันมีการเตรียมยาชนิดรับประทาน เพื่อสะดวกในการใช้ระงับความปวด ได้มีการศึกษาในผู้ป่วยที่ใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน พบว่าไม่ทำให้เกิดการติดยา หากมีการใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์

ยามอร์ฟีนที่ใช้รับประทานในขณะนี้มี 2 รูปแบบ คือ
1. มอร์ฟีนชนิดน้ำ
- ชนิดน้ำเชื่อมขนาด 1 มิลลิกรัม/ซีซี
- ชนิดเข้มข้นขนาด 20 มิลลิกรัม/ซีซี

2. มอร์ฟีนชนิดแคปซูล ขนาด 20 มิลลิกรัม , 50 มิลลิกรัม และ 100 มิลลิกรัม

ข้อควรปฏิบัติในการใช้ยามอร์ฟีน
1. ควรรับประทานยาตามเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด เพื่อให้ได้ผลระงับปวด
2. ยามอร์ฟีนน้ำ ควรรับประทานสม่ำเสมอทุก 4 ชั่วโมง คือ เวลา 6 น. , 10 น. , 14 น. , 18 น. , 22 น. และ 2 น. เพื่อให้ได้ผลการดูดซึมของยาสูงสุด ควรรับประทานยาขณะท้องว่าง ถ้าผู้ป่วยต้องการพักผ่อนอาจเว้นการใช้ยามื้อ 2 น. แล้วรับประทานยาเป็นสองเท่าในมื้อ 22 น.
3. ยามอร์ฟีนชนิดแคปซูล ออกฤทธิ์นานกว่า ดังนั้นจึงสามารถรับประทานได้ทุก 12 หรือ 24 ชั่วโมง ยาชนิดนี้ห้ามแบ่งใช้ ห้ามเคี้ยว แต่สามารถแกะแคปซูลออกเพื่อผสมน้ำให้ทางสายยางให้อาหารได้ หลังให้ยาควรตามด้วยน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ยาค้างอยู่ในสายยางให้อาหาร เพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาไม่ครบตามต้องการ
4. ควรประเมินผลภายหลังการใช้ยาประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพราะในระยะแรกขนาดของยาที่เริ่มใช้อาจยังไม่เหมาะสม จำเป็นต้องปรับปริมาณการใช้ ไม่ควรงดหรือลดยาเอง หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์และพยาบาล
5. ควรรับประทานยาตามเวลา ไม่ควรรับประทานยาเฉพาะเวลาปวด และใช้ในขนาดที่แนะนำ การตวงยาน้ำควรใช้ช้อนตวงของโรงพยาบาล หรือกระบอกฉีดยา ดูดยาตามขนาดที่แพทย์หรือพยาบาลแนะนำ ห้ามรับประทานยาจากขวดยาโดยตรง เพราะจะทำให้ได้ขนาดยาไม่แน่นอน ทำให้การระงับปวดไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
6. ถ้าลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกได้ และรับประทานครั้งต่อไปตามเวลาที่กำหนด ไม่ควรกำหนดเวลาเองเพราะจะทำให้สับสน
7. ควรตรวจเช็ค ชนิดและขนาดยาที่รับประทานทุกครั้ง รวมทั้งวิธีใช้ที่ถูกต้อง หากมีข้อสงสัยให้กลับไปสอบถามแพทย์ที่ให้การรักษา
อาการข้างเคียงที่พบได้

- ง่วงซึมหรือนอนหลับทั้งวัน ส่วนใหญ่อาการนี้จะหายไปภายใน 2-3 วันแรกหลังการใช้ยา หากพบว่านอนหลับมากผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์
- คลื่นไส้ อาเจียน อาการนี้อาจพบได้ในระยะแรกที่ได้รับยา ถ้ามีอาการมากให้รีบปรึกษาแพทย์
- ท้องผูก เป็นอาการที่พบได้บ่อย ควรป้องกันโดยรับประทานอาหารที่มีกาก ดื่มน้ำมากๆ และอาจจำเป็นต้องรับประทานยาระบาย
ถ้าพบอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ผื่น คัน ท้องเสีย สับสน ควรรีบปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาล



INSURANCETHAI.NET
Line+