แร่ใยหิน (แอสเบสทอส,Asbestos) เป็นสารก่อมะเร็ง
434

แร่ใยหิน (แอสเบสทอส,Asbestos) เป็นสารก่อมะเร็ง

แร่ใยหิน (แอสเบสทอส,Asbestos)  เป็นสารก่อมะเร็ง

"แร่ใยหิน" หรือ "แอสเบสทอส" (Asbestos) ก็ถือเป็นหนึ่งในภัยใกล้ตัวที่คนไทยน้อยคนที่จะรู้จักถึงพิษภัยของมัน ที่สามารถคร่าชีวิตของคนเราได้ หากสูดหายใจเอาแร่ใยหินเข้าไปสะสมในร่างกายเป็นปริมาณมาก

          ที่บอกว่าเป็นภัยใกล้ตัวก็เนื่องจาก ว่า "แร่ใยหิน" ได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทซีเมนต์ อุตสาหกรรมผ้าเบรก ผ้าคลัตช์ อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าป้องกันไฟหรือความร้อน อุตสาหกรรมกระดาษอัด และอุตสาหกรรมประเภทพลาสติกที่มีแอสเบสทอสเป็นส่วนประกอบ ฯลฯ

          ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่คนไทยได้ใช้กันอยู่ บ่อย ๆ ก็คือ กระเบื้องมุงหลังคาแบบลอนลูกฟูก ท่อระบายน้ำ กระเบื้องปูพื้น ฝ้าเพดาน ฝาผนัง ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรก ผ้าคลัตช์รถยนต์ ท่อน้ำร้อน หม้อไอน้ำ พลาสติกขึ้นรูปต่าง ๆ ฯลฯ

          ทั้งนี้แร่ใยหิน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ แอมฟิโบล และเซอร์เพนไทน์ โดยกลุ่มแอมฟิโบล ยังแบ่งย่อยออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ ครอซิโดไลท์, อะโมไซท์, ทรีโมไบท์, แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์ ส่วนกลุ่มเซอร์เพนไทน์ ก็ได้แก่ ไครโซไทล์ หรือไวท์ แอสเบสทอส

          ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แร่ใยหินเป็นแร่ธรรมชาติ ที่ค้นพบมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี  และได้นำเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว โดยมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตวัสดุก่อสร้างต่างๆ เนื่องจากแร่ใยหินมีคุณสมบัติ ทนกรด ทนความร้อน ทนไฟ มีเส้นใยที่แข็ง และเหนียว ยืดหยุ่นได้ดี เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ จะทำให้มีความแข็งแรง ทนทาน ทนความร้อนได้ดี

          อย่าง ไรก็ตาม แร่ใยหินแม้จะมีส่วนช่วยให้คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดีขึ้น แต่ก็มีข้อเสียโดยเฉพาะผลกระทบต่อร่างกายคน หากได้รับการสูดดมฝุ่นและละอองของแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกาย จนสะสมในปริมาณที่มากและเป็นเวลานาน 15-30 ปี ก็จะทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับปอด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma)

          "ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ประกาศห้ามนำเข้าและยกเลิกการใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว อาทิ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ฯลฯ สำหรับประเทศไทย ไครโซไทล์ หรือ ไวท์ แอสเบสทอส ยังมีการอนุญาตให้นำเข้าได้อยู่ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต แต่การนำเข้า ผลิต ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองจะต้องแจ้งและขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็น หน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่วนแร่ใยหินชนิดครอซิโดไลท์ ได้ห้ามนำเข้าเพราะถือว่าเป็นชนิดที่มีอันตรายมาก"

          ทั้งนี้ในทุก ๆ ปี ประเทศไทยต้องนำเข้าแร่ใยหิน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ปริมาณการนำเข้าแต่ละปีจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

          โดยในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินสูงถึงเกือบ 2 แสนตัน แต่พอปีต่อมา คือ ปี 2541 อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจปริมาณการนำเข้าจึงลดลงเหลือ 5-6 หมื่นตันเท่านั้น  ส่วนในปีต่อ ๆ มา การนำเข้าก็เพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันไป จนถึงปี 2549 ไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินเกือบ 1.5 แสนตัน โดยมีประเทศที่สั่งนำเข้าที่สำคัญ ๆ อาทิ แคนาดา รัสเซีย กรีซ ฯลฯ

          ดร.วันทนี กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแผนงานและได้ประกาศเมื่อปี 2550 ว่า ภายใน 5 ปี หรือประมาณปี 2555 จะให้มีการประกาศห้ามนำเข้าแร่ใยหิน แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ยังไม่มีใครบอกได้ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ยังมีความเห็นที่ต่างกัน อยู่

          "หน่วยงานภาครัฐอาจจะมองกันคนละมุม กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจะมองในด้านเศรษฐกิจและ การส่งเสริมการลงทุน จึงเห็นว่าแร่ใยหินยังจำเป็นในภาคอุตสาหกรรม หากห้ามไม่ให้ใช้ จำเป็นต้องหาวัสดุอื่นมาทดแทนซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อคนจน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็จะให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของ ประชาชนจึงต้องการห้ามไม่ให้มีการนำเข้า"

          ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นสารที่จะนำมาใช้ทดแทนแร่ใยหิน เช่น PVA ซึ่งในเมืองนอกที่มีการประกาศห้ามใช้แร่ใยหิน ได้มีการใช้สารตัวนี้ทดแทนอย่างแพร่หลาย สำหรับประเทศไทย มีการผลิตสารตัวนี้เช่นกัน แต่ยังมีน้อยอยู่จึงทำให้มีราคาแพง และหากจะสั่งนำเข้ามาใช้ก็ต้องเสียภาษี ในขณะที่การนำเข้าแร่ใยหินไม่ต้องเสีย จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมยังต้องการใช้แร่ใยหินอยู่

          อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับอันตรายจากแร่ใยหินก็คือ กลุ่มคนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและโรงงานที่มีการใช้แร่ใยหิน รวมถึงผู้ที่ทำงานก่อสร้างและรื้ออาคาร ซึ่งมีโอกาสที่จะสูดดมฝุ่นละอองของแร่ใยหินที่ฟุ้งกระจาย หากไม่มีการป้องกันที่ดี

          ซึ่งฝุ่นละอองของแร่ใยหินก็มีคุณสมบัติสามารถฟุ้งกระจายลอยในอากาศได้เป็นเวลานาน !??!

          สำหรับการหลีกเลี่ยงภัยจากแร่ใยหินที่ดีที่สุดนั้น ดร.วันทนี บอกว่า ก็คือ "การไม่ใช้" ซึ่งการที่จะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้มีหรือไม่มีแร่ใยหินก็คือ "การติดฉลาก" บอกผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เคยจะดำเนินการขอความร่วมมือให้มีการติดฉลากลงบนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ แร่ใยหินที่อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งได้ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวัง แต่ทางผู้ผลิตเห็นว่าข้อความในฉลากน่ากลัวเกินไป จึงยังไม่ให้ความร่วมมือ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าหรือข้อสรุปในเรื่องนี้

          สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ ดร.วันทนี มองว่า จะต้องให้ความรู้กับประชาชนในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็ต้องมีการป้องกันที่ดี ให้กับพนักงาน รวมถึงการรื้อถอนอาคารในเขตเมืองก็ต้องมีการป้องกันไม่ให้ฟุ้งกระจาย

          สุดท้าย ดร.วันทนี เห็นว่า ควรจะต้องมีการประกาศห้ามใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับแผน 5 ปี ที่จะห้ามการนำเข้านั้น หากภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาจริง เชื่อว่าจะทำได้อย่างแน่นอน !?!

          เพราะประเทศอื่น ๆ สามารถทำได้มาแล้วและทำมานานแล้วด้วย !?!.

ที่ีมา เดลินิวส์



INSURANCETHAI.NET
Line+