มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
637

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
เป็นมะเร็งที่มักเกิดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน พบสูงในช่วงอายุ 50-60 ปี แต่ก็อาจพบได้ในช่วงอายุอื่นๆ อุบัติการณ์ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะสูงกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา

สาเหตุของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกยังไม่ทราบแต่พบปัจจัยเสี่ยงได้ดังนี้

  1. การที่ร่างกายได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง อาจโดยภาวะที่ร่างกายผลิตขึ้นเอง หรือจากใช้ยาฮอร์โมนประเภทนี้ในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สูงกว่า
  2. ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนช้า เพราะเป็นกลุ่มที่ร่างกายมีฮอร์โมนเอส โตรเจนสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงกว่า
  3. ผู้หญิงกลุ่มไม่มีบุตร หรือมีบุตรน้อยเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงกว่า
  4. ผู้หญิงอ้วนเป็นความดันและเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงกว่า

การตรวจคัดกรองมะเร็งเยื่อโพรงมดลูก
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ

อาการและอาการแสดงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
          อาการและอาการแสดงที่เฉพาะของโรคมะเร็งไม่มี แต่จะเป็นอาการของความ ผิดปกติที่คล้ายคลึงกับโรคทางระบบสูติ-นรีเวชทั่วๆไป ได้แก่
  1. มีเลือดออกทางช่องคลอดภายหลังที่หมดประจำเดือนไปแล้ว
  2. ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น มากะปริบกะปรอย หรือปริมาณมาก หรือจำนวนวันที่มีประจำเดือนมาก
  3. ตกขาว
  4. อาจมีอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะขัด
  5. อาจคลำได้ก้อนในท้องน้อย ซึ่งมักเกิดจากการที่มดลูกมีขนาดโตขึ้น

การตรวจเพื่อการวินิจฉัยและหาระยะโรค โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจดังนี้
  1. ซักประวัติ อาการ อาการแสดง และตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจภายใน
  2. ถ้าสงสัยแพทย์จะทำการขูดมดลูกเอาชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา

เมื่อผลทางพยาธิวิทยา ระบุว่าเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แพทย์จะตรวจ เพิ่มเติมเพื่อประเมินสุขภาพและหาระยะของโรคโดย
  1. ตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการและตรวจปัสสาวะ
  2. ตรวจภาพเอกซเรย์ปอด

ในบางครั้ง ถ้ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติม ซึ่งจะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแบ่งเป็น 4 ระยะได้แก่
ระยะที่ 1 โรคยังอยู่ในโพรงมดลูกแต่อาจมีการลุกลามเข้าชั้นกล้ามเนื้อ
ระยะที่ 2 โรคลุกลามเข้าปากมดลูก
ระยะที่ 3 โรคลุกลามอกนอกมดลูก
ระยะที่ 4 โรคลุกลามเข้ากระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไปเช่น ปอด เป็นต้น ...

ความรุนแรงของโรคขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างได้แก่
  1. ระยะของโรคระยะสูงขึ้น ความรุนแรงของโรคก็สูงขึ้น
  2. การลุกลามของเซลล์มะเร็งเข้าชั้นกล้ามเนื้อ
  3. ชนิดของเซลล์มะเร็ง
  4. ขนาดของก้อนมะเร็ง
  5. การลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง
  6. อายุ ผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี มักมีความรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยอายุน้อยกว่า
  7. สุขภาพโดยทั่วไปของร่างกายและโรคร่วมอื่นๆ ซึ่งถ้าร่างกายไม่สมบูรณ์ จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา

การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมี 4 วิธี คือ การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัดและฮอร์โมน

การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักได้แก่ การผ่าตัดเอามดลูก ปีกมดลูก และรังไข่ออก และภายหลังการผ่าตัดจะมีการตรวจชิ้นเนื้อต่างๆ ทางพยาธิวิทยาอีกครั้ง
เพื่อเป็นข้อบ่งชี้ว่าควรจะมีการรักษาร่วมอื่นๆ เช่น รังสีรักษา หรือเคมีบำบัด หรือฮอร์โมนร่วมด้วยหรือไม่

รังสีรักษา อาจใช้ร่วมกับการผ่าตัดแต่บางครั้งถ้าผ่าตัดไม่ได้ก็อาจใช้เพียงรังสีรักษา รังสีอาจใช้ร่วมกับเคมีบำบัด หรือ ฮอร์โมนตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ รังสีการ แพทย์ มีทั้งการฉายรังสีและการใส่แร่ ซึ่งอาจใช้เพียงวิธีการเดียวอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือทั้ง 2 วิธีการร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ของผู้ป่วยแต่ละราย

เคมีบำบัด มัก ใช้ในโรคระยะลุกลาม มักใช้ร่วมกับการผ่าตัด หรือ รังสีรักษา ฮอร์โมน มักใช้ในผู้ป่วยที่โรคลุกลามแต่มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่การรักษาได้ผลด้วยวิธี นี้

การติดตามผลการรักษา
          ภายหลังการรักษาครบแล้ว แพทย์จะนัดตรวจดูแลรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องเสมอ โดยมักนัดทุก 1-2 เดือน ในปีแรกหลังการรักษาในปีที่ 2-3 อาจนัดตรวจทุก 2-3 เดือน ในปีที่ 3-5 มักนัดตรวจทุก 3-6 เดือน และภายหลัง 5 ปีไปแล้วมักนัดทุก 6-12 เดือน
          ในการมาตรวจกับแพทย์ควรนำญาติสายตรงหรือผู้ดูแลมาด้วย เพื่อร่วมปรึกษาพูดคุยกับแพทย์โดยตรง และควรนำยาหรือผลตรวจต่างๆ จากแพทย์ท่านอื่น (ถ้ามีแพทย์ดูแล หลายคน) มาแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม



INSURANCETHAI.NET
Line+