คิดอย่างไร จึงจะผลิตนวัตกรรมได้แบบ Google
646

คิดอย่างไร จึงจะผลิตนวัตกรรมได้แบบ Google

วันศุกร์ธรรมดาวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ปี 2002

Larry Page เจ้าของบริษัท Google ไม่พอใจบริการ Google AdWords หรือเครื่องมือค้นหาว่าโฆษณาใดเหมาะกับคำค้นหามากที่สุด หลังจากที่เขาลองพิมพ์คำถามอย่างหนึ่งลงไปแล้วพบว่า Google กลับส่งผลการค้นหาที่เป็นโฆษณาที่ไม่เกี่ยวข้อง (เช่น พิมพ์คำว่า "ลอดช่องสิงคโปร์" แต่ไม่ขึ้นถึงขนมลอดช่อง แต่กลับขึ้นโฆษณาพาเที่ยวประเทศสิงคโปร์)

แทนที่ แลร์รี เพจ จะโทรศัพท์หาผู้รับผิดชอบหรือส่งอีเมลเพื่อนัดประชุมด่วน

สิ่งที่เขาทำกลับเป็นการพิมพ์หน้าเว็บไซต์ที่มีผลการค้นหาที่เขาเห็นว่าไม่เวิร์ก ใช้ปากกาไฮไลต์ให้เห็นโฆษณาที่ไม่ชอบใจ เอาไปปิดบนกระดานข่าวที่อยู่ในครัวข้างโต๊ะพูล เขียนข้อความตัวโตๆ ทิ้งไว้ เสร็จแล้วจึงกลับบ้าน

ข้อความนั้นอ่านว่า "โฆษณาพวกนี้มันห่วย"

เช้ามืดวันจันทร์ถัดมา Jeff Dean วิศวกรที่ทำงานด้านเสิร์ชคนหนึ่งใน Google ส่งอีเมลหาแลร์รี แจ้งว่าเขาเห็นโน้ตของแลร์รีข้างโต๊ะพูลแล้ว และเห็นด้วยว่าโฆษณาพวกนั้นมันห่วย พร้อมกับแนบบทวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงสาเหตุของปัญหานั้น วิธีแก้ไข และลิงก์ตัวอย่าง

ภายหลังบทวิเคราะห์ในอีเมลนั้นได้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา Google AdWords ให้กลายเป็นหัวหอกในการทำรายได้ให้กับบริษัท (ปี 2012 Google มีรายได้จากโฆษณา 43.7 พันล้านดอลลาร์)

และช่วยผลักดันให้ start-up เล็กๆ ในซิลิคอน แวลเลย์ เติบโตเป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีมูลค่ามากกว่า 50 พันล้านดอลลาร์ มีพนักงานมากกว่า 45,000 คนในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

กระดาษที่ติดข้างๆ โต๊ะพูลบอกอะไรกับเรา?



นอกเหนือจากการเป็นผู้ผลิตเสิร์ชเอ็นจิ้นอันดับหนึ่งของโลกแล้ว Google ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมสูงที่สุดลำดับต้นๆ ของโลก

นิตยสาร Fast Company จัดอันดับให้ Google เป็นอันดับที่หนึ่งใน The World"s 50 Most Innovative Companies ปี 2008 และปี 2014 ส่วนปีอื่นๆ นั้น Google ติดอันดับหนึ่งในห้าแทบทุกปี

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาพัฒนาบริการออนไลน์มากมาย เช่น Google Now เสิร์ชเอ็นจิ้นเฉพาะบุคคลที่เปรียบเสมือนเลขาฯ ส่วนตัว Google Street View บันทึกภาพเส้นทางถนนต่างๆ ทั่วโลกเป็นระยะทางรวมกว่า 5 ล้านไมล์ หรือ Google Earth ที่ทำให้เรามองเห็นโลกจากอวกาศ

ไม่เพียงแค่นั้น Google ยังได้ก้าวข้ามจากแค่เสิร์ชเอ็นจิ้นและโฆษณาผ่านเสิร์ชไปสู่ดินแดนอื่นๆ ที่ยังไม่มีใครไปถึง

พวกเขาไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่บริการออนไลน์ แต่มุ่งพัฒนาชุดอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และผลักดันให้บริษัทสร้างนวัตกรรมที่น่าตื่นตะลึง ล้ำสมัย และใช้ประโยชน์ได้จริง

พวกเขาก่อตั้งทีม Google แผนกลึกลับที่มีหน้าที่ในการคิดค้น วิจัย และประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สำหรับอนาคต

สิ่งประดิษฐ์ของเขาล้ำยุคราวกับหลุดออกมาจากหนังวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ Google Glass แว่นตาอัจฉริยะ

Project Loon บอลลูนบรรจุก๊าซฮีเลียมที่จะกระจายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ให้คนอีกพันล้านคนทั่วโลกที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้

Google Self-Driving Car รถยนต์ไร้คนขับที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

Project Wing โดรนที่ถูกออกแบบมาเพื่อการขนส่งสินค้า ไปจนถึง Google Contact Lens คอนแท็กต์เลนส์อัจฉริยะ อุปกรณ์ที่ใช้วัดระดับกลูโคสในเลือดของผู้สวมใส่ โดยวัดจากปริมาณกลูโคสในน้ำตา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดให้เจ็บตัว

ถามว่าพวกเขาคิดนวัตกรรมเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะมีเงิน มีห้องทดลอง มีเทคโนโลยีดีๆ ใช่ไหม

ต้องตอบว่าใช่และไม่ใช่

ใช่ คือ Google มีทุนหนาจริง มีห้องทดลองที่ล้ำสมัยจริง และมีเทคโนโลยีดีๆ คอยสนับสนุนการคิดค้นจริง

ไม่ใช่ คือสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากพวกเขาไม่มีผู้นำที่กล้าเดิมพันก้อนโต หรือไม่มีพนักงานที่ชอบคิดใหญ่ ถ้าพวกเขาคิดแต่จะ "เพลย์เซฟ" โปรเจ็กต์ต่างๆ ก็จะไม่เกิด เราอาจจะได้เห็น Google ทำเสิร์ชเอนจิ้นที่เร็วขึ้น 10 เท่าแค่นั้น

หัวใจแห่งความสำเร็จของ Google คืออะไรกันแน่?



ลองคิดดูว่าหากคุณเป็นพนักงานในบริษัทหนึ่ง เย็นวันศุกร์คุณกำลังเก็บของเตรียมตัวออกไปเมากับเพื่อนให้เต็มคราบ คุณสะพายกระเป๋าเดินผ่านกระดานข่าวในห้องครัวข้างๆ โต๊ะพูล แล้วจึงสังเกตเห็นโน้ตจากเจ้าของบริษัทแปะไว้ พร้อมกับข้อความด่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทคุณเอง

คุณจะทำอย่างไรระหว่าง

ก. ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่เห็น แล้วรีบออกจากออฟฟิศ

ข. ถ่ายรูปโน้ตนั้นไว้แล้วเอาไปโพสต์ในกรุ๊ปไลน์กับเพื่อนๆ ในบริษัท

ค. โทร.บอกเพื่อนในแผนกที่เกี่ยวข้องให้รีบมารับผิดชอบ

ง. เอาปัญหานั้นไปวิเคราะห์กับทีมของคุณในวันหยุดแล้วส่งอีเมลหาเขาในเช้าวันจันทร์

เชื่อว่า ข้อ ก. ข้อ ข. และข้อ ค. คือคำตอบที่หลายคนเลือก ส่วนข้อ ง. นั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ทำ

แต่ไม่ใช่กับ เจฟฟ์ ดีน วิศวกรใน Google กับเพื่อนร่วมทีมที่กลับเอาปัญหานี้ไปขบคิดตลอดวันหยุดแล้วหาทางแก้ให้เสร็จสรรพในเช้าวันจันทร์ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้อยู่ทีมโฆษณา ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง และไม่ใช่คนที่จะถูกด่าถ้าโฆษณาห่วยแตก

เหตุการณ์ "กระดาษที่ติดข้างๆ โต๊ะพูล" แสดงให้เห็นถึง "พลังของวัฒนธรรมองค์กร" เจฟฟ์รู้ดีว่าอะไรคือสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ และพวกเขาก็มีอิสระที่จะทดลองแก้ปัญหา รวมทั้งทางบริษัทก็ยินดีรับฟังแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มีหน้าที่นั้นก็ตาม

Google บริหารงานไม่เหมือนสถานที่ทำงานอื่นๆ พนักงานที่นี่เชื่อมั่นในความสามารถและอำนาจของตนเองอย่างไม่มีใครเทียบ

และพวกเขาก็ไม่ใช่พนักงานบริษัททั่วไป แต่คือคนอีกแบบที่ Google เรียกว่า Smart Creative ซึ่งคือบุคคลที่นำพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จในยุคนี้

ทําไม Google จึงบอกว่าสมาร์ตครีเอทีฟคือบุคคลที่สำคัญมากที่สุดขององค์กรยุคนี้

เรากำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิธีคิดหรือแนวทางการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ในยุคก่อนที่เคยร่ำเรียนกันมาจาก MBA แผนธุรกิจที่เคยสอนกันอย่างเข้มข้นในคอร์สผู้บริหารอาจไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคนี้

ยุคสมัยที่เรียกว่า "ศตวรรษแห่งอินเตอร์เน็ต" (The Internet Century)

ศตวรรษแห่งอินเตอร์เน็ตเกิดจากแนวโน้มทางเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพล 3 อย่างมารวมกัน ได้แก่

หนึ่ง อินเตอร์เน็ตที่ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศมากมายบนโลกออนไลน์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

สอง mobile devices หรืออุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ที่ทำให้เราสื่อสารและเชื่อมต่อกับทุกคนได้ทุกที่ทุกเวลา

สาม cloud computing ที่ทำให้เราสามารถใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ไม่มีขอบเขตในการเก็บข้อมูล มีแอพพลิเคชันเจ๋งๆ ในราคาถูก

ศตวรรษแห่งอินเตอร์เน็ตได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปมากเหลือเกิน และส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างใหญ่หลวง

ทุกวันนี้เราไม่ต้องถ่อไปซื้อซีดีถึงร้าน แค่สไลด์นิ้วไปบนมือถือเลือกเพลงที่ชอบก็ฟังได้ทันที

เราไม่ต้องเดินไปโบกแท็กซี่หน้าปากซอยแล้วเจอคนขับไร้ความเป็นมืออาชีพที่บอกว่า "ต้องไปส่งรถ" แต่แค่คลิกเลือกรถที่ชอบในมือถือแล้วรอรถเก๋งคันงามขับมารับถึงที่

เราไม่ต้องเสียเงินทองมากมายไปกับห้องนอนในโรงแรมชื่อดัง แต่สามารถเลือกไปนอนบ้านของคนพื้นที่ที่ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น เราไม่ต้องรีบกลับบ้านมานั่งรอหน้าจอทีวีตอนสามทุ่มวันเสาร์เพื่อดูละครเรื่องโปรด แต่สามารถดูละครที่ไหน เวลาใด ตอนต้นหรือตอนจบพร้อมกันก็ได้ผ่านระบบสตรีมมิ่ง

Uber, AirBnb, Spotify, Netflix คือตัวอย่างของธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่กำลังจะเบียดขึ้นมาแทนที่ธุรกิจแบบเก่า

ศตวรรษแห่งอินเตอร์เน็ตทำให้ "พลังขององค์กร" ถูกโยกย้ายไปสู่ผู้บริโภคเต็มตัว ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองกับสิ่งที่เขาเสียเงินไป มีทางเลือกมากขึ้น

คุณไม่สามารถใช้การโหมกิจกรรมการตลาดมาปั่นหัวผู้บริโภคได้หากรีวิวผลิตภัณฑ์ของคุณในอินเตอร์เน็ตนั้นห่วยแตก

ดราม่าเล็กๆ ในพันทิปสามารถส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรได้อย่างไม่น่าเชื่อ

"ความเป็นเลิศทางผลิตภัณฑ์" จึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของธุรกิจในศตวรรษแห่งอินเตอร์เน็ต

โชคดีที่ยุคนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นเลิศนั้นกลายเป็นกระบวนการที่ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น และราคาถูกลง คุณสามารถทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ล้มแล้วล้มอีก โดยที่ไม่เจ็บตัวมากนัก พูดง่ายๆ คือความล้มเหลวมีต้นทุนที่ต่ำลง

แต่ "ความเป็นเลิศทางผลิตภัณฑ์" นี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากองค์กรยังคงยึดติดกับความคิดแบบเดิม การตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้บริหารระดับสูงเพียงไม่กี่คนที่รู้ข้อมูลภายใน การปิดกั้นไม่ให้พนักงานมีอิสระที่จะได้คิดอย่างเต็มที่ หรือการมีพนักงานแบบเดิมๆ ที่เคยนำความสำเร็จมาให้กับองค์กรยุคก่อนที่เรียกว่าบุคลากรที่มีความรู้ (knowledge worker) ซึ่งคือคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง แต่รู้ไม่กว้าง (เราจะเห็นคนแบบนี้ได้เยอะมากในบริษัทญี่ปุ่น) หรือคนที่เก่งเรื่องการบริหารมาก แต่ขาดความรู้ด้านเทคนิค คนเหล่านี้มักจะจงรักภักดีกับบริษัทและอยู่ยาวโดยไม่โยกย้ายไปไหน

"ความเป็นเลิศทางผลิตภัณฑ์" จะเกิดขึ้นได้จากสมาร์ตครีเอทีฟ

สมาร์ตครีเอทีฟคือคนแบบไหน

ส่วนใหญ่พวกเขามักเป็นคนรุ่นใหม่ แต่จริงๆ แล้วสมาร์ตครีเอทีฟไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ อาชีพ หรือเชื้อชาติ คุณสมบัติที่สำคัญของสมาร์ตครีเอทีฟมี 3 อย่างคือ เก่งเรื่องธุรกิจ เชี่ยวชาญเทคนิคในงานของตัวเอง และที่สำคัญคือต้องมีความคิดสร้างสรรค์

พวกเขาไม่กลัวความล้มเหลว ชอบลองผิดลองถูก เป็นนักสร้างสรรค์ที่เปิดกว้าง ใช้เทคโนโลยีคล่องแคล่ว กล้าแสดงความเห็นโต้แย้งหากไม่เห็นด้วย เป็นตัวของตัวเอง มีอิสระทางความคิด ทำงานเร็วและทำงานที่ไหนก็ได้ ขยัน กล้าท้าทายสภาพเดิมที่เป็นอยู่ แต่ก็มีข้อเสียที่หัวหน้างานรุ่นเก่าอาจไม่ชอบ คือ ไม่ชอบตอกบัตรเข้าเก้าโมงเช้าเลิกงานห้าโมงเย็น ไม่ก้มหัวเชื่อใครง่ายๆ ไม่ชอบพิธีรีตองวุ่นวาย ขี้เบื่อ เปลี่ยนงานบ่อย และ...ควบคุมได้ยาก

คุณสมบัติเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้เขาสามารถสร้างงานที่ยิ่งใหญ่ และสร้างผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศได้

Google มีเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงานคือ ทุกคนต้องมีความเป็นสมาร์ตครีเอทีฟในตัว

Eric Schmidt อดีตซีอีโอของ Google ระหว่างปี 2001-2011 และ Jonathan Rosenberg ที่ปรึกษาของ แลร์รี เพจ เขียนไว้ในหนังสือ How Google Works (ชื่อไทยว่า คิดอย่างผู้นำ ทำอย่าง Google แปลโดย ณงลักษณ์ จารุวัฒน์ และคณะ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ เนชั่นบุ๊คส์) ว่า

"คุณลักษณะสำคัญของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันคือต้องสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ และทางเดียวที่จะทำได้คือ ต้องดึงดูดสมาร์ตครีเอทีฟมาทำงาน และสร้างสภาพแวดล้อมให้คนเหล่านี้ทำงาน...วัฒนธรรมของ Google ไม่ได้สร้างบุคคลเหล่านี้ แต่เราดึงดูดให้พวกเขาเข้ามาทำงาน"

ใช่ครับ, กุญแจแห่งความสำเร็จของ Google คือ สมาร์ตครีเอทีฟและพลังของวัฒนธรรมองค์กร

และเมื่อสมาร์ตครีเอทีฟมารวมตัวกันหลายหมื่นคน ผนวกกับพลังของวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง มันจะทำให้ Google มีวิธีคิดอย่างไร และเราจะเรียนรู้วิธีคิดเหล่านี้อย่างไรได้บ้างนั้น ต้องติดตามในตอนต่อไปครับ

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1430226009

Re: คิดอย่างไร จึงจะผลิตนวัตกรรมได้แบบ Google
646

Re: คิดอย่างไร จึงจะผลิตนวัตกรรมได้แบบ Google

ตอนที่แล้วผมเล่าถึงวิธีคิดที่เกิดจากวัฒนธรรมองค์กรและพนักงานรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า "สมาร์ตครีเอทีฟ" ที่ทำให้ Google สามารถสร้างนวัตกรรมได้มากมาย

ตอนนี้ผมจะมาต่อวิธีคิดที่เหลือกันต่อนะครับ



วิธีคิดที่หก คือ อย่าตามคู่แข่ง

การมีคู่แข่งมีข้อดีคือทำให้เราต้องเร่งที่จะพัฒนาตัวเอง เกิดการแข่งขันไม่หยุดนิ่ง

แต่การพะว้าพะวงกับคู่แข่งมากจนเกินไปหรือติดตามการกระทำทุกอย่างก้าวจนแทบไม่ได้หยุดหายใจ มีแต่จะทำให้คุณตกอยู่ในวังวนของการทำงานแบบพอผ่านอย่างไม่รู้จบ

ถ้าเอาแต่จดจ่อกับคนอื่น คุณอาจจะได้แค่ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่คุณจะไม่มีวันสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างแท้จริง

แลร์รี่ เพจ บอกว่า "เราดูคู่แข่งบ้างเหมือนกัน แต่งานส่วนใหญ่ของผมจะเป็นการพยายามทำให้คนเลิกคิดเรื่องคู่แข่งของเรา โดยทั่วไปคนมักคิดแต่สิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่งานของเราเป็นการคิดในสิ่งที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าเราจะต้องการมัน และในความหมายนี้ ถ้าคู่แข่งรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เขาก็คงไม่บอกเราหรือบอกใครทั้งนั้น"

แนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นตอนที่ไมโครซอฟต์ส่งเสิร์ชเอ็นจิ้น Bing ลงตลาดในปี 2009 ซึ่งทาง Google ลุกลี้ลุกลนมากถึงขั้นที่ทุกคนต้องวางมือจากงานอื่นมาช่วยเรื่องเสิร์ช แต่พวกเขาก็ก้าวข้ามการตามคู่แข่งหรือเกาะกลุ่มว่าไมโครซอฟต์ทำอะไรต้องทำตาม และพัฒนาไปอีกขั้นที่คนคาดไม่ถึงด้วยการสร้าง Google Instant ระบบที่ขึ้นข้อความที่คุณกำลังค้นหาทั้งที่ยังพิมพ์ไม่เสร็จ และ Image Search การค้นหาด้วยภาพ

ในหนังสือ How Google Works ย้ำว่าสิ่งที่ดีที่สุดมากกว่าจับจ้องคู่แข่งหรือการยึดบทวิเคราะห์คู่แข่งเป็นที่ตั้งคือ การสยบคู่แข่งที่ทำเหมือนเราลงได้อย่างราบคาบ



วิธีคิดที่เจ็ด คือ แบ่งเวลา 20 เปอร์เซ็นต์ไปคิดโปรเจ็กต์อื่นบ้าง

Google มีโปรแกรมในองค์กรที่เรียกว่า "โปรเจ็กต์เวลา 20 เปอร์เซ็นต์" ซึ่งจะอนุญาตให้วิศวกรสามารถใช้เวลา 20 เปอร์เซ็นต์ของงานไปทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ โดยไม่ต้องอยู่ในขอบเขตของงานที่รับผิดชอบอยู่ เพื่อหนีความซ้ำซากจำเจ

แนวคิดนี้ไม่ได้หมายความว่าเจียดเวลาทำงานเป็น 80/20 แต่เวลา 20 เปอร์เซ็นต์เหมือนเป็น 100/20 กล่าวคือ ไม่ใช่แค่เรื่องเวลา แต่เป็นความอิสระมากกว่า ส่วนใหญ่เวลา 20 เปอร์เซ็นต์จะเป็นช่วงหลังเลิกงาน วันหยุดสุดสัปดาห์ หรืออาจรวบเป็นช่วงหยุดยาวตลอดฤดูร้อนก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่รบกวนงานประจำ

Google ให้เหตุผลว่า ความอิสระจะเป็นแรงจูงใจในการทำงานมากกว่า พนักงานของพวกเขาจะได้ทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่ถูกสั่งให้ทำ

ซึ่งความมีอิสระไร้กรอบนี่เองที่ทำให้พวกเขามีพลังที่จะคิดค้นผลิตภัณฑ์มากกว่าปกติ พวกเขาจะยอมทุ่มเทเวลาเพื่อประดิษฐ์ในสิ่งที่เขาอยากเห็นจริงๆ

ยกตัวอย่างเช่น วิศวกรรถยนต์ที่ชื่อ Daniel Ratner ที่ฉุกคิด Street View trike (จักรยานสามล้อที่ใช้เก็บภาพ street view ในซอยเล็กๆ ที่รถยนต์เข้าไม่ถึง) ได้จากการที่เดินผ่านซอยคับแคบในเมืองบาร์เซโลนา

หรือ Google Open Gallery เว็บไซต์ที่ทำให้เราได้ดูผลงานศิลปะในนิทรรศการระดับโลกแบบออนไลน์ ก็เกิดจากพนักงานในประเทศอิสราเอลที่เริ่มใช้เวลา 20 เปอร์เซ็นต์ในการดิจิไทซ์ภาพและเอกสารต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Yad Vashem) ในเมืองเยรูซาเลม จนกลายเป็นต้นแบบให้กับพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ในประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เรารู้จักกันดีหลายอย่างก็ล้วนแต่เกิดจากเวลา 20 เปอร์เซ็นต์นี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Google Now, Google News หรือข้อมูลการเดินทางบน Google Maps ต่างๆ

วิธีคิดนี้ไม่ได้มีผลดีที่องค์กรจะได้ความคิดสดใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เท่านั้น แต่ตัวพนักงานเองก็จะได้ฝึกฝนและเรียนรู้ความรู้ใหม่นอกเหนือจากงานปกติเพื่อนำไปปรับใช้ และยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่ไม่ค่อยได้ร่วมงานกัน อีกด้วย



วิธีคิดที่แปด คือ ทำงานหนักในทางที่ถูก

ในยุคที่เราได้ยินคำว่า "work-life balance" หรือการหาสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวอยู่บ่อยๆ Google กลับไม่เชื่อเช่นนั้น

พวกเขารู้ว่าพนักงานของเขาทำงานหนักจริง และหนักมากกว่าคนอื่นหลายเท่า

แต่ไม่ได้มองว่าความทุกข์นั้นจะมาจากการทำงานหนักเกินไป ทว่าความทุกข์ใจจะเกิดจากการที่ไม่ได้ทำในสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตัวเองมากกว่า

พนักงานหลายคนของ Google เป็นคุณแม่ยังสาว พวกเธอต้องวางมือจากงานเพื่อเอาลูกเข้านอน โดดงานช่วงบ่ายพาลูกไปเที่ยวทะเล แล้วกลับมาตอบอีเมลในช่วงสามทุ่มอีกครั้ง

ถามว่าทำไมพวกเธอจึงยังมีความสุขกับการทำงานหนัก เหตุผลก็เพราะพวกเธอมีอิสระและรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของงานอย่างแท้จริง

ในหนังสือ How Google Works แนะนำการทำงานหนักในทางที่ถูกว่า "คุณบริหารสิ่งนี้ได้ด้วยการให้ความรับผิดชอบและความอิสระ อย่าสั่งให้ใครทำงานดึกหรือสั่งให้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว ที่ควรทำคือขอให้พนักงานเหล่านั้นรู้สึกเป็นเจ้าของงานที่ต้องรับผิดชอบ แล้วพวกเขาจะหาทางทำงานให้คุณจนเสร็จเอง"

นอกจากนี้ การจัดให้ทีมงานเป็นทีมขนาดเล็กก็ช่วยได้เช่นกัน (Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon ใช้กฎ "two-pizza team" หรือทีมงานต้องเล็กที่จะอยู่ได้ด้วยพิซซ่า 2 ชิ้น) ทีมงานเล็กๆ มีข้อดีกว่าทีมงานใหญ่คือยืดหยุ่นกว่า และเคลื่อนตัวได้เร็วกว่า นอกจากนี้ เพื่อนร่วมงานยังสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายกว่าว่ามีใครในทีมกำลังเหนื่อยล้าหรือต้องกลับไปสะสางปัญหาชีวิตส่วนตัว

ท้ายที่สุด Google ยังย้ำว่าพวกเขาสนับสนุนให้พนักงานมีโอกาสพักผ่อนอย่างแท้จริง แม้จะไม่ใช่ทำนอง "work-life balance" ก็ตาม โดยวิธีแก้ปัญหาการทำงานหนักเกินไปอาจเป็นการให้ลาพักร้อนเพื่อได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และดันพนักงานที่ตำแหน่งต่ำกว่าขึ้นมารับผิดชอบแทนชั่วคราว

"ถ้ามีใครคิดว่าตัวเองมีความสำคัญต่อความสำเร็จของบริษัทมาก จนคิดว่าถ้าถอดปลั๊กหยุดงานสัก 1-2 สัปดาห์แล้วบริษัทจะมีอันเป็นไปละก็ แสดงว่าบริษัทนั้นมีปัญหาสาหัสมากกว่าและต้องรีบแก้ไข ไม่มีใครเป็นบุคคลที่คนอื่นขาดไม่ได้ และไม่มีใครควรเป็นบุคคลแบบนั้นด้วย"



วิธีคิดที่เก้า คือ อารมณ์ขัน

งานที่ดีควรเป็นงานที่ทำแล้วสนุก ทำแล้วมีเสียงหัวเราะ

Google เองก็คำนึงถึงเรื่องนี้ แต่ไม่ได้สนุกแบบฝืนหรือบังคับให้ตลก

พวกเขาเชื่อว่าความสนุกเกิดขึ้นได้ในเฉพาะสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และควรมีขอบเขตกว้างที่สุด

เช่น มีการจัดประชุม TGIF (Thanks god it"s Friday.) ทุกวันศุกร์ หรือตัวผู้บริหารอย่าง Eric Schmidt เองก็เป็นคนไม่ค่อยถือตัวจนมีคนเอาภาพเขาตอนเต้นกังนัมสไตล์กับ Psy ไปล้ออยู่บ่อยๆ

อีกสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมองค์กร Google ที่มีอารมณ์ขันแบบเพี้ยนๆ ขี้แกล้ง (และค่อนข้างเนิร์ด) คือการที่พนักงานในบริษัทช่วยกันออกแบบเว็บไซต์ Memegen ให้ทุกคนสร้างมีมส์ด้วยการเขียนคำบรรยายสนุกๆ ประกอบภายแล้วเอาไปแชร์ในเน็ตได้ เราจึงเห็นมีมส์เสียดสีซีอีโอตัวเอง ล้อเลียนผลิตภัณฑ์บริษัทอย่างสนุกสนานอยู่บ่อยๆ

Google เชื่อว่า ยิ่งสนุกมาก ยิ่งทำงานได้มาก



วิธีคิดที่สิบ คือ Don"t Be Evil

"Don"t Be Evil" ถือเป็นคติพจน์ที่ Google ใช้ตลอดมาและคนทั่วไปรู้จักกันอย่างดี

ความหมายของมันคือ พวกเขาจะไม่ตัดสินใจทำอะไรที่ส่งผลเสียกับผู้บริโภค พนักงาน และผู้ถือหุ้น โดยเด็ดขาด

และจะไม่ทำธุรกิจแบบปีศาจร้ายทั้งในสายตาของลูกค้าและพนักงานบริษัท

มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจหัวจิตหัวใจของผู้บริโภค

ยกตัวอย่างเช่น พวกไม่เคยให้สิทธิพิเศษในการค้นหากับใคร แยกโฆษณาออกชัดเจน และไม่รบกวนการค้นหา

ปีศาจร้ายนี้จึงเปรียบเสมือนขอบเขตในการสร้างผลิตภัณฑ์ของ Google อยู่เสมอ หากการกระทำได้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมากจนเกินไป พวกเขาก็จะล้มพับโครงการนั้นทันที แม้ว่าไอเดียจะเข้าท่ามากแค่ไหนก็ตาม

แม้ว่าในช่วงหลัง Google จะโดนโจมตีว่าเริ่มร้ายกาจมากขึ้น ทั้งการแอบล้วงข้อมูลความเป็นส่วนตัวของลูกค้า หรือเผยแพร่ความลับทางการค้า ถึงขั้นที่เว็บไซต์ Gizmodo เขียนบทความว่า Google"s Broken Promises : The End of "Don"t Be Evil"

แต่ในหนังสือ How Googles Work ก็ยังยืนยันว่านี้คือสโลแกนที่พวกเขายังยึดมั่นอยู่ไม่เสื่อมคลาย



วิธีคิดทั้ง 10 ข้อนี้เป็นเพียงตัวอย่างในอีกหลายวิธีคิดที่เราสามารถเรียนรู้ได้จาก Google องค์กรที่สร้างนวัตกรรมได้มากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก

ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้อยู่ในบริษัทเทคโนโลยี ไม่ได้อยู่ในซิลิคอน แวลเลย์ ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่มีอำนาจในการสั่งการ หรือไม่ได้เป็นสมาร์ตครีเอทีฟผู้ฉลาดเฉลียว แต่เป็นเพียงพนักงานบริษัทตัวเล็กๆ ธรรมดา เป็นสถาปนิก แม่ค้าขายขนมหวาน ครีเอทีฟโฆษณา เลขานุการ พนักงานธนาคาร เทรนเนอร์ในฟิตเนส ก็สามารถเอาวิธีคิดเหล่านี้มาปรับใช้ได้

เพราะในโลกที่เดินไปข้างหน้าเร็วยิ่งกว่าบันไดเลื่อนในสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังถูกข้อมูลจากทั่วสารทิศถาโถมเข้าใส่ดังเกลียวคลื่นในมหาสมุทร แนวโน้มต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้เพียงพริบตาเดียว

อย่างที่รู้ครับว่าความคิดคือเงินตราแห่งศตวรรษที่ 21

และถ้าหากยังคงนิ่งเฉยไม่รู้ร้อนรู้หนาว บางทีอาจเป็นตัวคุณเองที่โดน แลร์รี่ เพจ แปะกระดาษโน้ตไว้ที่โต๊ะซึ่งมีข้อความว่า

"คนพวกนี้ห่วยแตก"


Re: คิดอย่างไร จึงจะผลิตนวัตกรรมได้แบบ Google
646

Re: คิดอย่างไร จึงจะผลิตนวัตกรรมได้แบบ Google

https://www.youtube.com/v/SJs5cc32xXw



INSURANCETHAI.NET
Line+