อัพเกรด′อี-เคลม′ เคลียร์สินไหม ขยายฐานข้อมูลPA-สุขภาพQ3
654

อัพเกรด′อี-เคลม′ เคลียร์สินไหม ขยายฐานข้อมูลPA-สุขภาพQ3

อัพเกรด′อี-เคลม′ เคลียร์สินไหม ขยายฐานข้อมูลPA-สุขภาพQ3

updated: 04 มิ.ย. 2558 เวลา 17:10:40 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อี-เคลมอัพเกรด เพิ่มฐานข้อมูลประกันอุบัติเหตุ-สุขภาพ เข้าระบบไตรมาส 3 นายกสมาคมประกันวินาศภัยชี้ระบบฐานข้อมูลแต่ละบริษัทต่างกัน เป็นอุปสรรคการนำส่งข้อมูล

นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กล่าวว่า ภายในไตรมาส 3 ปีนี้จะมีการใช้ฐานข้อมูลประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ (e-Claim for PA and Health) เข้ามาใช้ในระบบสินไหมอัตโนมัติ หรืออี-เคลม จากก่อนหน้านี้มีเพื่อตรวจสอบสิทธิความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 2,076 แห่ง กับบริษัทประกันภัย 37 แห่ง อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับมูลนิธิกู้ชีพกู้ภัยอีก 1,762 หน่วย ซึ่งยังมีข้อจำกัดคือตรวจสอบได้เฉพาะข้อมูลสิทธิการคุ้มครองของผู้เกิดอุบัติเหตุจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น

"การขยายฐานข้อมูลด้านประกันอุบัติเหตุและสุขภาพอยู่ระหว่างการทดสอบครั้งสุดท้าย ซึ่งนอกจากขยายฐานสิทธิความคุ้มครองแล้วยังมุ่งสร้างเครือข่ายระหว่างโรงพยาบาลสาธารณสุขระดับตำบล เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่มักเป็นจุดใกล้ที่เกิดเหตุ ดังนั้นหากเชื่อมต่อข้อมูลได้ตั้งแต่จุดนี้ ก็จะสามารถดูแลส่งต่อการรักษาและจัดการเรื่องค่าสินไหมได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

อย่างไรก็ตาม การขยายฐานข้อมูลอาจมีข้อจำกัดของแต่ละบริษัทบ้าง เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ การรับ-ส่งข้อมูลเพื่อส่งต่อโรงพยาบาล แต่จากการพัฒนาระบบนำร่องจากการเชื่อมฐานข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัย 200 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะทำให้เกิดการพัฒนาระบบการนำส่งข้อมูลในอนาคต

ด้านนายอานนท์ วังวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย กล่าวในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยว่า การนำส่งข้อมูลของบริษัทประกันให้เชื่อมต่อกับโรงพยาบาล จะต้องเป็นข้อมูลที่ครบถ้วน สมบูรณ์และถูกต้อง ทันเวลา ซึ่งปัญหาอยู่ที่การเก็บข้อมูลของแต่ละบริษัทที่มีรูปแบบและการจัดเก็บไม่เหมือนกัน เช่น การเก็บข้อมูลที่เกิดเหตุ พิกัดละติจูด ลองจิจูด ซึ่งระบบไอทีที่บริษัทขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ก็แตกต่างกันมาก

โดยยกตัวอย่างว่า กรุงเทพประกันภัยที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาเรื่องฐานข้อมูล ที่ได้รับผ่านระบบเทเลมาติก (Telematics) ซึ่งสามารถระบุพิกัด ว่าเกิดเหตุที่ไหนบ้าง ส่วนเรื่องข้อมูลประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ อาจมีข้อแตกต่างการส่งข้อมูลของแต่ละบริษัทที่มีข้อมูลไม่เท่ากัน เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะให้นำส่งข้อมูลแบบสรุป ถ้าจะเอามาใช้ในระบบเคลมต้องละเอียดมากขึ้น และหลายบริษัทก็ต้องปรับปรุงแบบฟอร์มนำส่งข้อมูลอีกครั้ง

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1433320772



INSURANCETHAI.NET
Line+