มอบอำนาจกับมอบฉันทะให้ดำเนินคดีต่างกันอย่างไร?
658

มอบอำนาจกับมอบฉันทะให้ดำเนินคดีต่างกันอย่างไร?

การมอบอำนาจ เป็นเรื่องตัวความหรือผู้แทนของตัวความ (กรณีเป็นนิติบุคคล) มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทน บุคคลผู้รับมอบอำนาจมีฐานะอย่างตัวความ มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใด ๆ ได้จนกว่าคดีจะเสร็จสิ้นหรือตามขอบเขตอำนาจที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจ แต่จะว่าความหรือกระทำการอย่างทนายความไม่ได้ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวต้องติดอากรแสตมป์ 30 บาท

การมอบฉันทะเป็นเรื่องกรณีตัวความหรือทนายความมีเหตุไม่ไปติดต่อศาลด้วยตนเอง ก็มีอำนาจมอบหมายให้บุคคลใดไปติดต่อแทนได้ โดยต้องทำใบมอบฉันทะต่อศาลทุกครั้ง ใบมอบฉันทะที่ทนายความมอบให้แก่เสมียนทนายได้รับยกเว้นไม่ต้องติดอากรแสตมป์ 10 บาท

Re: มอบอำนาจกับมอบฉันทะให้ดำเนินคดีต่างกันอย่างไร?
658

Re: มอบอำนาจกับมอบฉันทะให้ดำเนินคดีต่างกันอย่างไร?

โดยทั่วไปสองความหมายนี้ หาได้มีบทนิยามที่ให้คำจำกัดความไว้เป็นการเฉพาะไม่ เมื่อได้วิเคราะห์จากความหมายจากบททั่วไป ของ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ ว่า “มอบอำนาจ” หมายความว่า มอบหมายให้มีอํานาจจัดการหรือทําการแทน ส่วน“มอบฉันทะ” หมายความว่า มอบธุระไว้ด้วยความไว้วางใจ ยินยอมให้ทําแทนโดยมีหลักฐาน ซึ่งความเห็นของท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างของการมอบอำนาจ กับ การมอบฉันทะ มีใจความว่า “อะไรที่เป็นเรื่องเกี่ยวอำนาจของบุคคลหนึ่งแล้วจะมอบให้อีกคนหนึ่งไปทำก็เป็นใบมอบอำนาจ แต่อะไรที่เป็นเรื่องของความไว้วางใจกันปกติธรรมดาไม่เกี่ยวกับอำนาจตามกฎหมาย ก็เป็นเรื่องของการมอบฉันทะ แต่บางทีคนก็ใช้ปนกันไป ”


การมอบอำนาจ น่าจะเป็นความหมายที่ได้บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งย่อมหมายถึงการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่มีอำนาจในทางกฎหมายในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยชอบและมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นแทนตนเอง เป็นการเฉพาะเรื่องหรือเป็นการทั่วไปภายในขอบเขตอำนาจที่ผู้มีอำนาจนั้นมีและภายในขอบเขตระยะเวลาที่กำหนดไว้  ซึ่งในทางเอกชนย่อมเป็นไปตามความหมายใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๗๙๗ บัญญัติไว้ว่า “ อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการ ดั่งนั้น อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้” ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวการมอบอำนาจให้ตัวแทนเพื่อให้มีอำนาจทำการแทนตัวการและตัวแทนก็ตกลงจะรับมอบอำนาจนั้นซึ่งอาจจะตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ได้ เรียกว่า “สัญญาตัวแทน”

ส่วนในกิจกรรมอันใดที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือก็ย่อมจะต้องทำเป็นหนังสือด้วยมาตรา ๗๙๘ บัญญัติไว้ว่า “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”

และการที่ผู้รับมอบอำนาจจะทำการแทนตัวการได้เพียงใดนั้นกฎหมายก็ระบุไว้เป็นการชัดแจ้งว่าสามารถทำแทนตัวการได้เพียงใด เรียกว่า การมอบอำนาจเฉพาะการ และ การอำนาจทั่วไป ตามมาตรา ๘๐๐ ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

มาตรา ๘๐๑ ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป ท่านว่าจะทำกิจใด ๆ ในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่ คือ
(๑) ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์
(๒) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป
(๓) ให้
(๔) ประนีประนอมยอมความ
(๕) ยื่นฟ้องต่อศาล
(๖) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

และเช่นเดียวกันหากกรณีเป็นบุคคลสมมติ หรือ ที่เรียกว่า “นิติบุคคล”ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกันกับบุคคลธรรมดา การแสดงออกของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล การมอบอำนาจของนิติบุคคลก็ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคลและระหว่างนิติบุคคลหรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอกโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๗ บัญญัติว่า “ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคล หรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอก โดยอนุโลม”

ส่วนในเรื่อง การมอบอำนาจของส่วนราชการ ย่อมเป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะโดยทั่วไปต้องยึดหลัก ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ.๒๕๕๐ แต่ในบางหน่วยงานเช่น ศาล หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ในการมอบอำนาจเป็นการเฉพาะเรื่อง ก็ย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายแต่ละฉบับที่บัญญัติไว้เฉพาะของหน่วยงานนั้น ๆ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ , ศาลยุติธรรม , ศาลปกครอง ,คณะกรรมการการเลือกตั้ง,ผู้ตรวจการแผ่นดิน , คณะกรรมการ ป.ป.ช. , องค์กรอัยการ เป็นต้น

ส่วนการ “มอบฉันทะ” น่าจะหมายความถึง การมอบให้บุคคลทำธุระให้ด้วยความไว้วางใจโดยมีหลักฐาน ซึ่งการมอบฉันทะนั้นโดยทั่วไปย่อมไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจของผู้มอบฉันทะอย่างหนึ่งอย่างใด หากแต่เป็นการขอให้ดำเนินการในเรื่องธุระทั่วไปให้ทำแทนเท่านั้น ซึ่งบางกรณีจะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าในในเรื่องใดที่สามารถมอบฉันทะให้ผู้อื่นกระทำแทนได้แม้จะเป็นเรื่องการใช้อำนาจตามกฎหมายก็ตาม เช่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๔ บัญญัติไว้ว่า “ เว้นแต่ศาลจะได้สั่งเป็นอย่างอื่น

เมื่อคดีมีเหตุผลพิเศษอันเกี่ยวกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทนายความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ คู่ความหรือทนายความอาจตั้งแต่งให้บุคคลใดทำการแทนได้ โดยยื่นใบมอบฉันทะต่อศาลทุกครั้ง เพื่อกระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือกำหนดวันนั่งพิจารณาหรือวันสืบพยาน หรือวันฟังคำสั่ง คำบังคับ หรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาล มาฟังคำสั่ง คำบังคับ หรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาลหรือสลักหลังรับรู้ซึ่งข้อความนั้น ๆ รับสำเนาแห่งคำให้การ คำร้องหรือเอกสารอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ และ ๗๒ และแสดงการรับรู้สิ่งเหล่านั้น” ที่คู่ความหรือทนายความอาจตั้งบุคคลใดทำการแทนได้แต่ต้องยื่นใบมอบฉันทะต่อศาลทุกครั้งในบางกรณี เช่น กำหนดวันนั่งพิจารณาหรือวันสืบพยานหรือวันฟังคำสั่ง คำบังคับ หรือ คำชี้ขาดใดๆของศาลเป็นต้น , ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘๗ บัญญัติไว้ว่า “ผู้ถือหุ้นทุกคนจะมอบฉันทะให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนก็ได้ แต่การมอบฉันทะเช่นนี้ต้องทำเป็นหนังสือ มาตรา ๑๑๘๘ บัญญัติไว้ว่า “ หนังสือตั้งผู้รับฉันทะนั้น ให้ลงวันและลงลายมือชื่อผู้ถือหุ้นและให้มีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ

(๑)    จำนวนหุ้นซึ่งผู้มอบฉันทะนั้นถืออยู่
(๒)    ชื่อผู้รับฉันทะ
(๓) ตั้งผู้รับฉันทะนั้นเพื่อการประชุมครั้งคราวใด หรือตั้งไว้ชั่วระยะเวลาเพียงใดที่ผู้ถือหุ้นอาจมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนได้ , ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๓๔

มาตรา ๓๔ บัญญัติว่า ในการประชุมผู้จองหุ้น ผู้จองหุ้นจะมอบฉันทะให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนตนก็ได้ การมอบฉันทะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้มอบฉันทะ และมอบแก่บุคคลซึ่งผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทกำหนดไว้ ณ
สถานที่ที่ประชุมก่อนผู้รับมอบฉันทะเข้าประชุม หนังสือมอบฉันทะให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑) จำนวนหุ้นที่ผู้มอบฉันทะถืออยู่
(๒) ชื่อผู้รับมอบฉันทะ
(๓) ครั้งที่ของการประชุมที่มอบฉันทะให้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน

ในการออกเสียงลงคะแนน ให้ถือว่าผู้รับมอบฉันทะมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนคะแนนเสียงที่ผู้จองหุ้นมอบฉันทะมีรวมกัน เว้นแต่ผู้รับมอบฉันทะจะแถลงต่อที่ประชุมก่อนลงคะแนนว่าตนจะออกเสียงแทนผู้ซึ่งมอบฉันทะเพียงบางคน โดยระบุชื่อผู้มอบฉันทะและจำนวนหุ้นที่ผู้มอบฉันทะถืออยู่ด้วยที่ให้ผู้จองหุ้นจะมอบฉันทะให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนตนได้,พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๔๕(๕) ที่บัญญัติให้ผู้ฟ้องคดีสามารถมอบฉันทะให้บุคคลอื่นฟ้องคดีแทนได้ เป็นต้น


ส่วนมุมมองความต่างในเรื่องภาระภาษีนั้นตามประมวลรัษฎากรโดยทั่วไป การมอบอำนาจตั้งตัวแทนซึ่งมิได้กระทำในรูปแบบลักษณะตราสารสัญญาต้องปิดแสตมป์เพื่อเสียค่าอากร ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๐๔แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๒ ) พ.ศ.๒๕๒๖ บัญญัติว่า ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น มาตรา ๑๓ บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ ๗. กำหนดให้ผู้มอบอำนาจต้องปิดแสตมป์เพื่อเสียค่าอากร ๓ กรณี คือ

(ก) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว เสียค่าอากรแสตมป์ ๑๐ บาท
(ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว เสียค่าอากรแสตมป์ ๓๐ บาท
(ค) มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ ๓๐ บาท

ส่วนการมอบฉันทะ โดยหลักตามประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติให้การมอบฉันทะต้องปิดแสตมป์เพื่อเสียค่าอากร หากแต่มีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่ได้มีการกำหนดไว้ให้การมอบฉันทะต้องเสียอากรตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา ๑๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๑๓ บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ ๘. ที่กำหนดให้การมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท (ก)  มอบฉันทะสำหรับการประชุมครั้งเดียว เสียค่าอากรแสตมป์ ๒๐ บาท (ข) มอบฉันทะสำหรับการประชุมกว่าครั้งเดียว เสียค่าอากรแสตมป์ ๑๐๐ บาท

กล่าวโดยสรุป การมอบอำนาจ  ย่อมมีความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นการทั่วไป คือการที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ตัวการมอบให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทนและการกระทำนั้นมีผลทางกฎหมายเสมือนว่าตัวการทำด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องของการมอบให้ตัวแทนใช้อำนาจแทนตนตามกฎหมายนั่นเอง

ส่วนกรณี การมอบฉันทะ ย่อมมีความหมายเพียงว่า เป็นการที่บุคคลมอบให้ผู้อื่นไปทำธุระให้ด้วยความไว้วางใจให้โดยมีหลักฐานซึ่งมิใช่เป็นการแสดงออกทางการใช้อำนาจตามกฎหมาย เว้นแต่ มีกฎหมายได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าการใช้อำนาจนั้นต้องกระทำด้วยการมอบฉันทะก็ต้องมอบฉันทะในเรื่องนั้นเป็นรายกรณีไป

แต่อย่างไรก็ดีหากจะพึงแยกแยะว่าการใดต้องมอบอำนาจ หรือ  สิ่งใดต้องมอบฉันทะนั้น ผู้เขียนก็เห็นว่าเราต้องพึงพิจารณาก่อนว่าการมอบหมายการใดให้คนอื่นไปทำแทนนั้นเป็นเรื่องของการมอบหมายให้ไปใช้อำนาจแทนหรือไม่หากเป็นการมอบหมายให้ใช้อำนาจก็พึงต้องมอบอำนาจ  หากแต่การใดเป็นการไว้วานให้คนอื่นไปทำธุระแทนที่ไม่ใช้เป็นการใช้อำนาจก็ย่อมเป็นการมอบฉันทะ  เว้นเสียแต่ ในทางกฎหมายบางฉบับที่บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการใช้อำนาจนั้นก็ทำได้ด้วยการมอบฉันทะก็พึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น

Re: มอบอำนาจกับมอบฉันทะให้ดำเนินคดีต่างกันอย่างไร?
658

Re: มอบอำนาจกับมอบฉันทะให้ดำเนินคดีต่างกันอย่างไร?

มอบอำนาจ เป็นการแต่งตั้งตัวแทนไปดำเนินการแทน เช่นมอบอำนาจให้ไปโอนที่ดินให้นาย ก. มอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทน ผู้รับมอบอำนาจมีสิทธิแต่งทนายความได้

มอบฉันทะ เป็นการมอบอำนาจอย่างหนึ่งแต่เป็นเรื่องที่ไม่ต้องตัดสินใจอะไร เช่น มอบฉันทะให้รับเงินธนานัติแทน  มอบฉันทะให้ไปยื่นเอกสารต่อศาล แต่ไม่สามารพมอบฉันทะให้ไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้

มอบอำนาจติดอากร มอบฉันทะ ไม่ต้องติดอากร



คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

ใบมอบฉันทะที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องติดอากร
โจทก์ทั้งสองแก้ฎีกาว่า ทนายจำเลยมอบฉันทะให้นิติกรสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งมิใช่เสมียนทนายยื่นคำร้องขอขยายเวลาฎีกา และยื่นฎีกาโดยมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ในใบมอบฉันทะ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายฎีกาและรับฎีกาจำเลยไว้จึงมิชอบ เห็นว่า ทนายจำเลยเป็นพนักงานอัยการเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ การที่ทนายจำเลยมอบฉันทะให้นิติกรสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งมิใช่เสมียนทนายยื่นคำร้องขอขยายเวลาฎีกาและยื่นฎีกาจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 121 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายฎีกาและรับฎีกาของจำเลยไว้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13938/2555



INSURANCETHAI.NET
Line+