พูดอย่างไร...จึงผิด “หมิ่นประมาท”
678

พูดอย่างไร...จึงผิด “หมิ่นประมาท”

พูดอย่างไร...จึงผิด “หมิ่นประมาท” (Lisa ฉ.20/2553)
โดย อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
น.บ. , น.บ.ท. , น.ม. (กฎหมายมหาชน)

หมิ่นประมาท...ต้องมีการใส่ความ

กฎหมายอาญามาตรา 326 ระบุถึงการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ดังนี้ครับว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” คำว่าใส่ความ ในความหมายโดยทั่วไปนั้นหมายถึงการพูดหาเหตุหรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย หรือแสดงข้อความที่ไม่เป็นความจริง แต่ความหมายของการใส่ความในทางกฎหมาย แม้ข้อความที่กล่าวแก่บุคคลอื่นนั้นจะเป็นความจริงก็อาจผิดข้อหาหมิ่นประมาทได้ครับถ้าทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย

หมิ่นประมาท...ต้องมีบุคคลที่สาม

การหมิ่นประมาทต้องเป็นการกล่าว “ใส่ความ” “ผู้อื่น”ต่อ “บุคคลที่สาม” ต้องมีบุคคลสามฝ่าย คือ 1) ผู้พูด 2) ผู้อื่น 3) บุคคลที่สาม เช่น คุณนายสี (ผู้พูด) พูดประชดกับนางสาวสร้อย (ผู้อื่น) ว่า “สร้อยเธอขโมยของจากไอ้แสงใช่ไหม? ชั้นรู้หรอกนะยะหล่อน” แบบนี้แค่เป็นความผิดดูหมิ่นครับ ยังไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะไม่มีบุคคลที่สาม

แต่ถ้าคุณนายสีพูดกับกำนันเขียวว่า “นังสร้อยมันร้ายมากมันขโมยของไปจากไอ้แสง” แบบนี้คุณนายสีเธอเข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้วครับ เพราะกำนันเขียวเป็นบุคคลที่สามที่ได้มารับฟังเรื่องที่ทำให้นางสาวสร้อยได้รับความเสียหาย...ย้ำอีกครั้งนะครับว่า แม้นางสาวสร้อยจะเป็นผู้ขโมยของไปจากไอ้แสงจริง คุณนายสีก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะไปหมิ่นประมาทใครนะครับ

ผู้ถูกใส่ความ...ต้องเสียหาย

เงื่อนไขที่สามของความผิดหมิ่นประมาทคือ การใส่ความนั้นต้องทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียหาย ไม่ว่าจะเสียหายในทางชื่อเสียงจนถูกคนอื่นดูหมิ่น ถูกเกลียดชังก็ได้ทั้งนั้นครับ คำพูดที่ทำให้เสียชื่อเสียง อาจหมายความว่าทำให้คนอื่นมองผู้ถูกกล่าวหาไปในทางไม่ดี ลดคุณค่า ลดความเชื่อถือนับถือ เช่น เป็นชู้ชาวบ้าน ขี้โกง รับสินบน ขี้ลักขี้ขโมย เป็นพระบ้าผู้หญิง เป็นครูที่มีอะไรกับลูกศิษย์ ไปแอบทำแท้ง ฯลฯ
ไม่ผิดถ้าพูดแล้ว...เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ตามกฎหมายไทยนั้นผู้ถูกฟ้องในความผิดคดีหมิ่นประมาทอาจไม่ต้องรับโทษได้ ถ้าสิ่งที่เขาพูดหรือเผยแพร่ได้รับการพิสูจน์ในชั้นศาลว่าเป็นเรื่องจริง แต่กฎหมายไม่ให้สิทธิในการพิสูจน์ในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์ความจริงนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนะครับ ดังนั้นคนหมิ่นประมาทเรื่องส่วนตัว เช่นใครเป็นชู้กับใคร ใครลางานไปรีดลูก ฯลฯ ถึงแม้จะเป็นความจริง ผู้พูดก็ต้องรับโทษตามคดีหมิ่นประมาท เพราะศาลไม่ให้สิทธิในการพิสูจน์ความจริงในเรื่องส่วนตัวครับ

แต่ถ้าเป็นเรื่องการยักยอกเงินบริษัท โกงกินแผ่นดิน หรือทำตัวเป็นเฒ่าหัวงูแตะอั๋งชาวบ้านชาวเมืองไปทั่ว ฯลฯ แบบนี้ศาลให้พิสูจน์เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งหากเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง ผู้พูดก็ไม่ต้องรับผิดในโทษฐานหมิ่นประมาท เพราะถือว่าคุณช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับสังคมได้ตรวจสอบคนชั่วครับ

โทษต่อเนื่อง...อื่นๆ

สำหรับโทษหมิ่นประมาทนั้นนะครับจะหนักยิ่งขึ้นถ้าเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา คือผ่านสื่อทั้งหลาย คือจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท ยิ่งถ้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ตก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550อีก คือถ้าส่งต่อข้อความหรือรูปภาพ (Forward e-mail) ที่หมิ่นประมาทผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ยิ่งถ้าเขียนข้อความทางเว็บไซต์หรือใส่ภาพตัดต่อลงในเว็บไซต์ทำให้ผู้อื่นเสียหาย คุณจะได้รับโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท

ความผิดหมิ่นประมาททางอาญานั้น ผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้อีกด้วยครับ ดังนั้นคิดให้ดีก่อนที่จะกล่าวหาใครผ่านบุคคลที่สาม ผ่านสาธารณะหรือผ่านสื่อ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผิดทั้งนั้นนะครับ...จะบอกให้...

ขอบคุณท่าน อ.ประมาณฯและทีมงานครับ



INSURANCETHAI.NET
Line+