การขออนุโลมค่า Excess 1,000 บาท
730

การขออนุโลมค่า Excess 1,000 บาท

เสียค่าเบี้ยประกันภัยไปเป็นหลักหมื่น แต่พอแค่ใช้บริการพวกมาเรียกค่าหัวคิว 1,000 บาท ทำอย่างนี้ได้ไง
ตลาดประกันภัยนาทีนี้ผู้ซื้อเป็นใหญ่ เจอผู้เอาประกันภัยโวยวายเมื่อไหร่ก็หยวนๆ กันไป ยอมอ่อนข้อไม่เรียกเก็บ

แต่จำเป็นต้องทำหนังสือขออนุโลมมา เพราะการเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรกนี้ บริษัทประกันภัยต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย (คำสั่งสำนักงาน คปภ. ที่ 22/2551) จึงจำต้องขอเอกสารเพื่อเก็บไว้ให้สำนักงาน คปภ.ตรวจสอบ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ายุคนี้สำนักงาน คปภ. ตรวจสอบฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยละเอียดยิบ ซึ่งเป็นไปตามกฎกติกาที่บังคับใช้กันใหม่เรียกว่า การกำกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital) ต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องเงินทุกครั้ง และถ้าไม่มีผิดกฎหมายถึงขั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการเอาง่ายๆ

อ้าว! อะลุ้มอล่วยกันได้อย่างนี้มันไม่ผิดหลักการประกันภัยหรือไง

หลักประกันภัยนั้นอยู่ที่ ‘หลักเฉลี่ยจ่าย เฉลี่ยคุ้มครอง’ ซึ่งการเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรกมันเป็นผลมาจากหลักการที่ว่านี้ เพราะถ้าไม่เรียกเก็บ สถิติการเคลมประกันภัยก็เพิ่มมากขึ้น เมื่อมีค่าสินไหมเพิ่มมันก็หมายความว่าผู้บริโภคต้องแบกภาระเบี้ยประกันภัยที่จำต้องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดีในหลักของการประกันภัยที่ใช้กันทั่วโลก มีหลักที่เอื้อประโยชน์หรือหลักที่ยืดหยุ่นให้กับผู้เอาประกันภัยมากพอสมควร อย่างเช่นหลักการที่เรียกว่า หลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง (Ex-Gratia Payment)

การยึดหลักที่ว่านี้บริษัทประกันภัยมักจะนำมาอนุโลมใช้กับลูกค้าชั้นดีที่คบกันมานาน แถมไม่เคยมีการเคลมประกันภัยอีกต่างหาก ว่าตามภาษาวงการประกันภัยรถเขาเรียกว่า ‘ลูกค้าประวัติดี’ นอกจากค่าเสียหายส่วนแรก หรือ Excess แล้ว อีกคำที่ยอดฮิตเถียงกันไม่เลิกคือ ‘ค่าส่วนต่าง’

ที่มาของคำคำนี้ ถ้าสืบค้นตามหลักวิชาการแล้ว ต้องบอกว่าไม่มีที่มาแต่มีที่ไป เพราะอะไรที่เกินไปกว่าวงเงินที่บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายให้แล้ว มักจะถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินไหมทดแทนที่เจรจากับเราๆ ท่านๆ จะต้องเรียกว่า เงินส่วนต่างทุกที

เงินส่วนต่างในที่นี้น่าจะอยู่บนความหมายที่ถูกต้องที่สุดคือเงินที่เราจะต้องจ่ายเอง
แถมมีวรรคทองตามตัวบทกฎหมายให้บริษัทประกันภัยยกอ้างได้อีกต่างหาก ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันไว้ (ปพพ. มาตรา 877)

เที่ยงคืนขับรถหรู ตกหลุม ทำให้ยางแตก และทนขับไปได้ระยะหนึ่งไปไม่ไหวเพราะล้อรถพังด้วย จึงตัดสินใจเรียกรถยกมาลากกลับไปที่บ้าน

เช้าวันใหม่รีบโทรฯแจ้งเคลมบริษัทประกันภัยทันที ปรากฏว่าบริษัทประกันภัยปฏิเสธการจ่ายค่าเสียหายในส่วนของยางรถยนต์ และค่ารถลาก ส่วนความเสียหายล้อรถยนต์ให้ความคุ้มครอง

ทั้งนี้อ้างเหตุผลว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมิใช่เกิดจากอุบัติเหตุแล้วทำให้ยางระเบิด แต่เกิดจากยางฉีกขาดเพราะเสื่อมสภาพ แถมผู้เอาประกันภัยมีพิรุธไม่โทรฯแจ้งเหตุทันที ซึ่งเหตุผลที่ยกอ้างนั้นเชื่อว่าทางบริษัทประกันภัยคงยกอ้างตามประกาศนายทะเบียนที่ 11/2552 ของ สนง. คปภ. ว่าด้วยหมวดข้อยกเว้นในข้อ 7.4 ความเสียหายต่อยางรถยนต์ อันเกิดจากการฉีกขาด หรือการระเบิดซึ่งเงื่อนไขข้อยกเว้นนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะไม่ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อยางรถยนต์ เฉพาะกรณียางรถยนต์เกิดการฉีกขาดหรือระเบิดจากสภาพการใช้งานปกติ โดยไม่มีเหตุการณ์อื่นเกิดขึ้นจนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว เช่น รถยนต์เกิดอุบัติเหตุ การกลั่นแกล้งหรือการกระทำมุ่งร้าย

แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่ากฎหมายจะไม่คุ้มครองยางระเบิดที่มิใช่เกิดจากอุบัติเหตุ แต่ถ้ายางระเบิดเป็นเหตุให้ตัวรถยนต์เสียหายหรือไปกระทำให้ทรัพย์สินชีวิตอนามัยของผู้อื่นเสียหาย บริษัทประกันภัยต้องคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ตามปกติไม่อาจปฏิเสธได้

บริษัทฯยังให้ความคุ้มครองล้อแม็ก ส่วนค่ารถลากนั้นเหตุผลที่บริษัทประกันภัยปฏิเสธคือ ผู้เอาประกันภัยไม่มีเหตุจำเป็นอันควรที่จะต้องใช้รถลาก เพราะสามารถใช้ยางอะไหล่ได้ อีกทั้งถ้ายางแตกจริงก็ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้

เฉพาะค่ารถลากไม่กี่พันยอมได้ แต่ค่ายางเสี่ยต้องคิดหนักเพราะยางรถยนต์ไม่ใช่ยางธรรมดา แต่เป็นยางรถยนต์ยุคไฮเทคที่เรียกว่า Run Flat ราคาเฉียด 20,000 บาทต่อเส้น

ด้วยคุณสมบัติของยาง Run Flat นี้เองทำให้วงหมีบ่นเริ่มมองเห็นช่องทางสู้บริษัทประกันภัยได้สบายๆ เพราะแม้ว่ายางจะแบนหรือโดนของมีคมทะลุ คุณสมบัติของยางยังสามารถนำพารถไปได้สบายไกลถึง 80 กิโลเมตร ในความเร็วเฉลี่ย 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั่นก็หมายความว่าถ้าล้อรถไม่เกิดการกระแทกอย่างรุนแรงจนถึงขั้นล้อแม็กร้าว ก็ขับไปถึงบ้านได้สบายๆ ส่วนค่ารถยกที่อ้างว่าทำไมไม่ใช้อะไหล่ ปัดโธ่! รถยุโรปยุคใหม่ส่วนใหญ่มียางอะไหล่ซะที่ไหน

กลับไปเจรจาใหม่ในระดับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินไหมทดแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิม ปรากฏว่าบริษัทประกันภัยยอมหยวนจ่ายให้ 50 เปอร์เซ็นต์ แถมค่ายกรถอีกด้วย แม้เราไม่ได้ดั่งใจก็ยอมความไปตามเสนอ เพราะยอมจำนนในประกาศนายทะเบียนของสำนักงาน คปภ. ที่ระบุว่าการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณียางรถยนต์นั้น ท่านให้ชดใช้ตามสภาพเดิมของยางรถยนต์ที่เกิดความเสียหายในขณะที่เกิดอุบัติเหตุ

อย่างไรก็ตามเรื่องของส่วนต่างที่เราต้องรับผิดชอบนั้น ไม่มีกฎหมายมารองรับ ดังนั้นสถานะของส่วนต่างจึงเป็นเพียงข้อเสนอในการเจรจาต่อรองเท่านั้นเอง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นและอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ จะได้รับการชดใช้อย่างแน่นอนจากบริษัทประกันภัยใน 4 ทางเลือกที่มีกฎหมายรองรับคือ

ทำใช้หรือซ่อม
จัดหาสิ่งทดแทน
จ่ายค่าสินไหมทดแทน (จ่ายเป็นตัวเงิน)
และการกลับคืนสู่สภาพเดิม

จะเลือกให้บริษัทประกันภัยชดใช้ทางไหนว่าตามสะดวก



INSURANCETHAI.NET
Line+