สัญญาประกันภัยแตกต่างจากพนันขันต่อ
731

สัญญาประกันภัยแตกต่างจากพนันขันต่อ

สัญญาประกันภัยแตกต่างจากการพนันขันต่อ

            มีผู้กล่าวไว้ว่า การประกันภัยเป็นการพนันอย่างหนึ่ง เช่นการประกันอัคคีภัยบ้านเท่ากับเป็นการพนันว่าบ้านหลังนั้นจะเกิดไฟไหม้ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ถ้าหากว่าเกิดไฟไหม้ ผู้รับประกันต้องจ่ายเงินเป็นค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าไม่มีไฟไหม้ผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องเสียค่าสินไหมทดแทน จากตัวอย่างข้างต้นหากพิจารณาแต่เพียงผิวเผินก็อาจถือได้ว่าการประกันภัยเป็นการพนันอย่างหนึ่ง แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งก็จะเห็นได้ว่า การพนันขันต่อกับการประกันภัยมีข้อแตกต่างกันในสาระสำคัญอยู่หลายประการ คือ

1)  การพนันเป็นการเสี่ยงโชค กล่าวคือ ผู้เข้าเล่นพนันมีความประสงค์ที่จะเสี่ยงโชคในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือในเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น จึงได้พนันกันว่าถ้ามีหรือไม่มีเรื่องหรือเหตุการณ์ที่ ตกลงพนันกันเกิดขึ้น ผู้เข้าพนันอาจจะได้หรือเสียพนันตามที่ตกลงกันไว้ เช่น พนันกันว่านักมวยฝ่ายแดงหรือฝ่ายน้ำเงินจะเป็นผู้ชนะ หรือพนันกันว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนต่อไป เป็นต้น

            ส่วนการประกันภัยนั้นผู้เอาประกันภัยหาได้มีความประสงค์ที่จะเสี่ยงโชคอย่างเช่นผู้เข้าเล่นการพนัน หากแต่มุ่งหวังที่จะหาทางบรรเทาผลร้ายหรือความเสียหายที่ตนอาจจะได้รับจากเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การที่เอาประกันอัคคีภัยบ้านก็เพื่อหวังว่าหากเกิดอัคคีภัยบ้านที่เอาประกันภัย ตนก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนหนึ่งเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว

2)  ผู้เข้าเล่นการพนันนั้นสามารถพนันมีกันได้ทุกเรื่อง หากมีผู้ตกลงเข้าเล่นการพนันด้วยแม้ตนเองจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่พนันนั้นมาก่อนก็ตาม แต่ผู้เอาประกันจะเอาประกันภัยได้แต่เฉพาะในกรณีที่ตนมีส่วนได้เสียเท่านั้น หากผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ตนประกันภัยไว้ สัญญาประกันภัยก็จะไม่ผูกพันคู่สัญญาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 

3)  ผู้เข้าเล่นการพนันนั้นจะเล่นพนันกันอย่างไรก็ได้ ไม่จำกัดจำนวน และไม่จำกัดวิธีการพนัน แต่ผู้เอาประกันภัยจะทำสัญญาประกันภัยได้เพียงเพื่อความเสียหายอันแท้จริงเท่านั้น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 บัญญัติว่า "ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงเท่านั้น” ซึ่งกฎหมายไม่ยินยอมให้ผู้เอาประกันภัยมาค้ากำไรจากการประกันภัย เช่น นายขาวมีบ้านหลังหนึ่งราคาสามแสนบาท นายขาวก็เอาประกันภัยบ้านหลังนั้นได้ไม่เกินสามแสนบาท หากนายนายขาวเอาประกันภัยบ้านสูงหรือเกินกว่าจำนวนสามแสนบาท เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นจริงผู้รับประกันภัยก็จะมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ตามราคาบ้านที่แท้จริงเท่านั้น

4)  การพนันขันต่อนั้นกฎหมายไม่สนับสนุน ถือว่าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน มีบทบัญญัติลงโทษทางอาญาแก่ผู้เล่นการพนัน ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 และในทางแพ่ง กฎหมายก็ไม่บังคับให้ ดังจะเห็นได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 “อันการพนันหรือขันต่อ ท่านว่าหาก่อให้เกิดหนี้ไม่ สิ่งที่ได้ให้กันไปในการพนันหรือขันต่อก็จะทวงคืนไม่ได้ เพราะเหตุหามูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดมิได้ข้อบัญญัติที่กล่าวนี้ ท่านให้ใช้ตลอดถึงข้อตกลงเป็นมูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดอันฝ่ายข้างเสียพนันขันต่อหากทำให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อจะใช้หนี้เงินพนันหรือขันต่อนั้นด้วย”

ส่วนการประกันภัยเป็นเรื่องการบรรเทาความเสียหาย ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ผู้เอาประกันภัยได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความมั่นใจว่าแม้จะเกิดภัยอันตรายใดๆ ขึ้นตนก็จะได้รับการช่วยเหลือจากผู้เอาประกันภัยรายอื่นๆ โดยผ่านผู้รับประกันภัย ดังนั้น กฎหมายจึงให้ความคุ้มครองและสนับสนุนโดยมีการออกกฎหมายควบคุมการประกอบกิจการประกันภัย และพยายามช่วยหาทางให้กิจการประกันภัยได้มีความมั่นคงเพื่อประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย



INSURANCETHAI.NET
Line+