ร้องเรียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร
745

ร้องเรียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร

อ้างอิง http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=2057&page=2

วันนี้นายเจ็ง  บุญเลิศรักษ์  ร้องทุกข์ที่ทนายคลายทุกข์เรื่องคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร  ไม่ดำเนินการจัดหาสาธารณูปโภค  เฉพาะบริเวณตึกแถวในหมู่บ้านจัดสรร  ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับความเสียหายจึงเข้าร้องทุกข์เป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. เก็บเงินค่าสาธารณูปโภคเดือนละ 120  บาท
2. ไม่นำเงินดังกล่าวไปติดตั้งไฟส่องสว่าง
3. ท่อระบายน้ำภายในตึกแถวตัน  แจ้งให้นิติบุคคลดำเนินการแต่ไม่ดำเนินการ เราต้องไปแจ้งให้บุคคลภายนอกไปดำเนินการแทน
4. ขยะมูลฝอยบริเวณทางเท้าสกปรก  บริเวณหน้าบ้านและบริเวณใกล้เคียงนิติบุคคลได้มาดำเนินการทำความสะอาด

            เหตุขัดข้องดังกล่าว  ทำให้ผู้อยู่อาศัยในตึกแถวในฐานะสมาชิกนิติบุคคล  กฎหมายจัดสรรตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน  พ.ศ. 2543  มาตรา 47  จึงไม่สามารถจ่ายค่าสาธารณูปโภค  มาเป็นระยะเวลา  5  เดือน  คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรร ตามมาตรา 46  จึงเตือนมายังผู้อยู่อาศัยให้ชำระค่าสาธารณูปโภคและแจ้งว่าถ้าไม่ชำระตาม มาตรา 50  จะต้องจ่ายค่าปรับร้อยละ 5 ต่อเดือน  ซึ่งตามมาตรา 50  หากค้างชำระ  3  เดือน  จะต้องถูกระงับการให้บริการสาธารณูปโภค หากค้าง 6  เดือนขึ้นไป  พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติหมายถึงเจ้าพนักงานที่ดิน  ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มีสิทธิระงับการจดทะเบียนได้จนกว่าจะชำระค่าสาธารณูปโภคครบถ้วนตาม มาตรา 50  วรรคสอง  และหนี้ค่าสาธารณูปโภคถือว่า  เป็นหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา 50  วรรคสาม
ผู้อยู่อาศัยอยากถามว่า  ไม่อยากชำระค่าสาธารณูปโภค  เนื่องจากว่าคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรไม่นำเงินมาพัฒนาและดำเนินการแก้ไข

คำแนะนำทนายคลายทุกข์

            กรณีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรไม่ดำเนินการตามข้อบังคับหรือตามกฎหมาย  ซึ่งกำหนดไว้ใน มาตรา 48  อนุมาตรา 5  คือมีหน้าที่ต้องจัดให้มีบริการสาธารณะแต่ไม่ดำเนินการตามหน้าที่  ผู้อยู่อาศัยในฐานสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร  ต้องรวมตัวกันร้องเรียนไปยังคณะกรรมการให้แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด  หากเพิกเฉยให้ร้องเรียนไปที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้  และมีอำนาจในการกำหนดกิจการตามพระราชบัญญัตินี้ ตามมาตรา 6 ต่อไป


ตัวบทกฎหมายอ้างอิง

พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543

มาตรา 46  ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรที่จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล

ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก

คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้แทนของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก


มาตรา 47  เมื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามมาตรา 45 แล้ว ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายเป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร

ในกรณีที่มีที่ดินจัดสรรแปลงย่อยที่ยังไม่มีผู้ใดซื้อหรือได้โอนกลับมาเป็นของผู้จัดสรรที่ดินให้ผู้จัดสรรที่ดินเป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร


มาตรา 48  เพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1)  กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์สาธารณูปโภค

(2)  กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการอยู่อาศัยและการจราจรภายในที่ดินจัดสรร

(3)  เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคในส่วนที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีหน้าที่บำรุงรักษาจากสมาชิก

(4)  ยื่นคำร้องทุกข์หรือเป็นโจทก์ฟ้องแทนสมาชิกเกี่ยวกับกรณีที่กระทบสิทธิหรือประโยชน์ของสมาชิกจำนวนตั้งแต่สิบรายขึ้นไป

(5)  จัดให้มีบริการสาธารณะเพื่อสวัสดิการของสมาชิก หรือจัดสรรเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์

(6)  ดำเนินการอื่นใดให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ระเบียบของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง หรือข้อบังคับของคณะกรรมการที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้

การดำเนินการตาม (1) (2) และ (5) จะต้องได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก

มาตรา 50  ผู้มีหน้าที่ชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคตามมาตรา 49 วรรคสอง ที่ชำระเงินดังกล่าวล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด จะต้องจ่ายค่าปรับสำหรับการจ่ายเงินล่าช้าตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

ผู้ที่ค้างชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคติดต่อกันตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปอาจถูกระงับการให้บริการหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภค และในกรณีที่ค้างชำระติดต่อกันตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินจัดสรรของผู้ค้างชำระจนกว่าจะชำระให้ครบถ้วน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ให้ถือว่าหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคเป็นหนี้บุริมสิทธิในมูลรักษาอสังหาริมทรัพย์เหนือที่ดินจัดสรรของผู้ค้างชำระ

มาตรา 6  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้



INSURANCETHAI.NET
Line+