เรื่องที่ 1258 ทนายสอนน้อง ...เรื่อง จัดการได้
746

เรื่องที่ 1258 ทนายสอนน้อง ...เรื่อง จัดการได้

คำถาม
              ผมมีปัญหาใคร่ขอเรียนปรึกษาอาจารย์และทีมงานเกี่ยวกับเรื่องนิติบุคคลอาคารชุด ดังนี้
              ผมเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดโดยผ่านการเลือกจากเจ้าของร่วมอาคารชุด และได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็น\"ผู้จัดการนิติบุคคล\"อีกหน้าที่หนึ่งด้วย
              ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ผู้จัดการนิติบุคคลมักจะประสบปัญหาจากเจ้าของร่วมบางรายอยู่เสมอ เช่น ส่งเสียงดังในยามวิกาล นำสัตว์เลี้ยงขึ้นมาเลี้ยงในห้อง ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่จ่ายค่าส่วนกลาง และค่าน้ำประปา ซึ่งล้วนแต่ผิดข้อบังคับอาคารชุดทั้งสิ้น ในแง่การปฏิบัติผมไม่สามารถทำอะไรได้มาก ทำได้แค่แจ้งด้วยวาจา
หรือมีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร เท่านั้น  ผมไปเปิดอ่านพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ก็ไม่มีอะไรที่ชัดเจนในทางปฏิบัติ
              ผมจึงขอเรียนปรึกษาอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยว่าจะดำเนินการทางกฎหมายอะไรได้บ้าง ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์และทีมงานมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
              ตอบคำถาม             

              1) กรณีเจ้าของร่วมบางรายส่งเสียงดังในยามวิกาล นำสัตว์เลี้ยงขึ้นมาเลี้ยงในห้องนั้น ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำการก่อความรบกวนดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกิดเหตุได้ โดยเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้วแจ้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นและขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว พนักงานสอบสวนจะจดบันทึกไว้ จากนั้นพนักงานสอบสวนจะส่งหมายเรียกไปยังผู้ถูกกล่าวหา เพื่อเรียกมาให้ปากคำตามคำร้องทุกข์กล่าวโทษของผู้เสียหาย หากผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดจริง พนักงานสอบสวนจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับ เพราะเป็นความผิดลหุโทษที่ไม่ร้ายแรงจึงไม่มีการจับกุมคุมขัง เว้นแต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ชำระค่าปรับ อาจมีการกักขังแทนค่าปรับ
              2) ผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ตามข้อ 1) จะต้องเป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของผู้ก่อความรบกวนนั้น เช่น เจ้าของห้องชุดที่อยู่ติดกับผู้ก่อความรบกวน บุคคลอื่นที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหาย ส่วนนิติบุคคลก็ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง
              3) กรณีเจ้าของร่วมบางรายทิ้งขยะไม่เป็นที่ และท่านได้มีหนังสือเตือนแล้ว ดังนั้นให้ท่านดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษตามข้อ 1) เพราะกรณีนี้ถือว่านิติบุคคลเป็นผู้เสียหายโดยตรง
              4) ในส่วนค่าส่วนกลาง ทางเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องจ่ายให้กับนิติบุคคลตามสัญญาอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าเจ้าของร่วมไม่จ่าย นิติบุคคลก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งได้ ส่วนกรณีที่ผู้ใช้น้ำประปาไม่จ่ายค่าน้ำประปา ถ้าทางนิติบุคคลเป็นผู้สำรองจ่ายค่าน้ำประปาให้กับการประปาไปก่อน แล้วมาเรียกเก็บกับเจ้าของร่วมในภายหลัง หากเจ้าของร่วมไม่จ่าย นิติบุคคลก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งจากเจ้าของร่วมได้เช่นกัน
              5) กรณีการตัดน้ำประปา ถ้านิติบุคคลเป็นผู้ควบคุมระบบการใช้น้ำ เมื่อได้มีหนังสือเตือนแล้วก็สามารถตัดน้ำประปาได้ ไม่เป็นความผิด ที่สำคัญต้องมีหนังสือบอกกล่าวเตือนก่อนว่าให้เจ้าของร่วมนำเงินมาจ่ายค่าน้ำประปาภายในระยะเวลาที่กำหนด  หากพ้นกำหนดแล้วไม่นำเงินมาชำระ จะดำเนินการตัดน้ำประปาต่อไป

จงรักษ์ พรมศิริเดช (ทนายความ)
www.fpmconsultant.com
e-mail : sumrej@fpmconsultant.com

อ้างอิง http://www.fpmconsultant.com/htm/advocate_dtl.php?id=1258



INSURANCETHAI.NET
Line+