แฉเล่ห์'บ.ประกันฯ'ลวงโลก ระวังคำอ้างไม่ต้องตรวจโรค
797

แฉเล่ห์'บ.ประกันฯ'ลวงโลก ระวังคำอ้างไม่ต้องตรวจโรค

แฉเล่ห์'บ.ประกันฯ'ลวงโลก ระวังคำอ้างไม่ต้องตรวจโรค
"มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ออกโรงเตือน "ผู้สูงอายุ" ซื้อประกันชีวิตไม่ต้องตรวจโรค เผย "บริษัทเอกชน" สุดแสบลักไก่ ไม่ระบุถ้อยคำโฆษณาในกรมธรรม์ ถึงเวลาไม่จ่ายเคลม อ้างป่วยก่อนทำสัญญา


นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีประชาชนร้องเรียนเข้ามายัง "มพบ." เกี่ยวกับปัญหาการรับสิทธิจากบริษัทประกันชีวิตภาคเอกชนในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาลนั้น พบว่าปัญหาบริษัทประกันชีวิต ปฎิเสธการจ่ายค่าสินไหม โดยอ้างว่าผู้ทำประกันชีวิตเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนที่จะทำประกัน รวมถึงที่เป็นปัญหาล่าสุดคือ กรณีการทำประกันชีวิตของผู้สูงอายุที่มีการโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพก่อนทำประกันนั้น ในทางปฏิบัติพบว่า เมื่อผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาใน รพ. แล้วไม่สามารถเคลมประกันได้ ขณะเดียวกันก็ถูกบอกเลิกสัญญาด้วย โดยทางบริษัทอ้างว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวมาก่อนที่จะทำประกันชีวิต ไม่สามารถเคลมได้ตามโฆษณา ทั้งนี้การทำประกันชีวิตที่มีการโฆษณาว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพนั้น" จริง ๆ แล้วคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่าการโฆษณาเงื่อนใขใด ๆ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจในการทำประกันชีวิตของประชาชน จะต้องมีการระบุเงื่อนไขนั้นเอาไว้ในกรมธรรม์ด้วย ซึ่ง "มพบ." เองก็ได้สนับสนุนมาตรการดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันยังไม่พบการระบุเรื่องดังกล่าวเอาไว้ในกรมธรรม์แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นเวลาจ่ายสินไหมทางบริษัทมักอ้างว่าผู้ทำประกันชีวิตปกปิดความจริงก่อน เรื่องนี้ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้นก่อนทำประกันชีวิตก็ขอให้ประชาชนตรวจสอบเอกสารว่าตรงกับที่มีการนำเสนอขายหรือไม่ หากไม่ตรงก็ให้ขอเงินคืนเลยไม่ต้องรอ และในส่วนของเอกสารการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ นั้นสามารถใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้คดีได้ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบปัญหาบริษัทประกันชีวิตเอาเปรียบผู้บริโภคอีกมาก เฉพาะที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่ "มพบ." ในรอบเดือน ก.ย. 57-ก.พ. 58 มี 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.42 อาจจะดูเหมือนไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้มีกำลังซื้ออยู่แล้ว แต่ปัญหาที่พบ อาทิ การจ่ายผลตอบแทนเมื่ออยู่ครบสัญญาไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้,การขายประกันทางโทรศัพท์แล้วไม่ส่งมอบกรมธรรม์, ตัวแทนหลอกให้ผู้เอาประกันกู้เงินตามสิทธิ ได้แก่ การหลอกให้ผู้เอาประกันเซ็นต์เอกสารรกู้ยืม โดยตัวแทนเป็นผู้ดำเนินการ, บริษัทประกันบอกเลิกสัญญา แต่ผู้เอาประกันยังต้องทำประกันต่อเนื่องในเงื่อนไขเดิม, ถูกเปลี่ยนเงื่อนไขในกรมธรรม์, ปฎิเสธการจ่ายค่าสินไหม อ้างว่าเป็นโรคร้ายแรงก่อนทำประกัน, จ่ายเบี้ยประกันแล้วบริษัทไม่ออกใบเสร็จรับเงิน และถูกธนาคารบังคับให้ทำประกันชีวิตเมื่อกู้ยืมสินเชื่อซื้อบ้าน เป็นต้น ขณะที่นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สคบ.รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องของประกันภัย และประกันชีวิตหลายกรณี และจากการตรวจสอบทุกเรื่องแล้ว เจ้าหน้าที่ของ สคบ.ก็ได้ส่งต่อให้กับ คปภ. ไปดำเนินการต่อ เพราะ คปภ. จะมีกฎหมายเฉพาะที่ดูแลเรื่องของประกันภัยอยู่ ส่วนการดำเนินงานของ สคบ.จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้บริโภคไปร้องเรียนกับ คปภ.แล้วแต่ยังไม่พอใจก็สามารถมาร้องเรียนที่ สคบ.เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่ง สคบ.จะเป็นผู้ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีให้ผู้บริโภค โดยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ สคบ.จะมีอยู่ 2 เรื่องคือ การเอาเปรียบผู้บริโภคเรื่องของสัญญาที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ และเรื่องของโฆษณา เช่น การโฆษณาเกินจริง ไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ ทั้งสองกรณีนี้เข้าข่ายการทำความผิดตามกฎหมายของ สคบ. แต่ในเมื่อ คปภ. มีกฎหมายพิเศษคอยดูแลอยู่แล้ว สคบ.จะมอบหมายให้ คปภ.ดำเนินการ หรือบางครั้งก็เมื่อเจอะเบาะแสจากเจ้าหน้าที่มาก็ประสานให้ คปภ.ไปตรวจสอบด้วย.“

http://www.dailynews.co.th/regional/343519



INSURANCETHAI.NET
Line+