ก๊าซพิษ
819

ก๊าซพิษ

การได้รับก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย โดยการสูดดม โดยการหายใจ หรือทางผิวหนัง อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพและทำให้เสียชีวิตได้ ก๊าซชนิดนี้แบ่งได้เป็น 6 ประเภทคือ

      1.ประเภทที่ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เช่น ไฮโดรเจน ไนโตรเจน คาร์บอนโมนอกไซด์ และ ไฮโดรเจนไซยาไนด์
      2.ประเภทที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น อีเธอร์ และ คลอโรฟอร์ม
      3.ประเภทที่ทำให้ระคายเคืองต่อปอด และทำให้ปอดบวมน้ำ เช่น คลอรีน ไนโตรเจนไดออกไซด์ และ ฟอสจีน
      4.ประเภทที่ทำให้ระคายเคืองต่อระบบประสาทรับความรู้สึกเช่น ก๊าซน้ำตา ได้แก่ คลอโรอะซีโตฟิโนน และ บรอมเบนซิลไซยาไนด์ ซึ่งทำให้น้ำตาไหล ไดฟีนิลคลอโรอาร์ซีน และไดฟีนิลไซยาโนอาซีน ทำให้เกิดการจาม
      5.ประเภทที่สัมผัสผิวหนังทำให้เป็นตุ่มพอง เช่น ก๊าซมัสตาด และก๊าซไนโตรเจนมัสตาด
      6.ประเภทที่ทำให้เกิดพิษอื่นๆ เช่น อาร์ซีน ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก


ก๊าซพิษที่สำคัญ
      1.ก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์ (Carbonmonoxide) เป็นก๊าซพิษที่ซึ่งถ้ามีในบรรยากาศร้อยละ 0.35 ทำให้ถึงตายได้ ตัวอย่าง กรณีผู้ขับรถรับจ้างนอนหลับในรถ โดยเปิดเครื่องปรับอากาศรถยนต์ไว้ ทำให้ถึงแก่ความตายโดยไม่รู้สึกตัว สาเหตุมาจากก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์ที่เกิดขึ้นจากเครื่องยนต์

      แหล่งกำเนิด ก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์ เกิดขึ่นในกรณีที่ มีออกซิเจนไม่เพียงพอในการเผาไหม้ของสสาร ที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ อาจเกิดขึ้นในโรงงานต่างๆ ในท้องถนนขณะที่มีการจราจรติดขัด สำหรับรถยนต์ ที่มีเครื่องยนต์ทำงานเผาไหม้ไม่ปกติ จะเกิดก๊าซบอนโมนอกไซด์ออกมาทางท่อไอเสีย และอาจรั่วเข้าไปในตัวรถได้

      ความเป็นพิษ เมื่อหายใจเอาก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์เข้าไปในปอด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และถึงตายได้ จะสังเกตว่าผิวหนังของผู้ได้รับก๊าซพิษเป็นสีชมพู-แดงขึ้น

      การแก้ไขเบื้องต้น นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซนี้ ไปยังที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ให้ผู้ป่วยนอนราบศีรษะต่ำ ให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ ถ้าหยุดหายใจต้องผายปอดทันที
      2.ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) หรือกรดไฮโดรไซยานิค (Hydrocyanic acid) เป็นก๊าซพิษที่อันตรายร้ายแรง ไม่มีสี แต่มีกลิ่น

      แหล่งกำเนิดและความเป็นพิษ มีอยู่ตามธรราชาติ ในผลและเมล็ดของพืชหลายชนิด เช่น ลูกท้อ (Peach) แอลมอนด์ (almond) หัวมันสำปะหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นสารที่สังเคราะห์ได้ ที่ใช้ในโรงงานทำสี เหมืองทอง การชุบทอง และ การถ่ายภาพ ตลอดจนการใช้ในทางมิชอบ ในรูปสารประกอบเกลือไซยาไนด์ (Cyanide salt) ซึ่งละลายน้ำได้ดี

      สารประกอบไซยาไนด์ ทำปฏิกิริยากับกรดเกิดก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ เมื่อหายใจเข้าสู่ร่างกาย ทำให้หมดสติ ชัก และตายได้รวดเร็วภายในเวลา 5 นาที ถ้าได้รับในปริมาณเล็กน้อย ทำให้มึนงง หายใจเร็ว อาเจียน หน้าแดง ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว และหมดสติ

      การแก้ไขเบื้องต้น นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซนี้ แล้วให้ดมเอมิลไนเตรท์ (Amyl nitrite) ทุกๆ 5 นาที เมื่อความดันโลหิตต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท แล้วหยุดสูดดมทันที
      3.ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulfide) หรือ"ก๊าซไข่เน่า" เป็นก๊าซพิษชนิดหนึ่ง มีกลิ่นคล้ายไข่เน่า

      แหล่งกำเนิดและความเป็นพิษ ก๊าซนี้เป็นผลพลอยได้ของกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น จากโรงงานฟอกหนัง โรงงานผลิตกาว โรงงานผลิตน้ำตาล หรือเป็นก๊าซที่มีในน้ำเสีย น้ำเน่า และสิ่งโสโครก อาการพิษเฉียบพลันของผู้ที่ได้รับก๊าซนี้คือ คลื่นไส้ หายใจขัดต่อเนื่องจากการขาดออกซิเจน หมดสติ และอาจถึงตายได้ถ้ามีความเข้มข้นสูง

      การแก้ไขเบื้องต้น นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซนี้ ช่วยการหายใจ โดยให้ ออกซิเจนที่มีความเข้มข้นร้อยละ 92.5, คาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 7.5 และให้ผู้ป่วยอบอุ่นเสมอ
      4.ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) เป็นก๊าซตามธรรมชาติที่รู้จักกันดี เกิดจาการเผาไหม้ของสารประกอบที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ ประโยชน์ใช้ทำน้ำแข็งแห้ง และใช้ในการสังเคราะห์แสงของพืช ก๊าซนี้ถ้ามีมากจนถึงร้อยละ 25-30 ทำให้หายใจช้าลง ความดันโลหิตต่ำ ไม่รู้สึกตัว สลบ และอาจถึงตายได้

      การแก้ไขเบื้องต้น นำผู้ป่วยที่ออกจากบริเวณที่มีก๊าซพิษ และให้ออกซิเจนช่วยในการหายใจ


      5.ก๊าซพิษที่ใช้ในสงคราม
      ก๊าซพิษที่เคยนำมาใช้ในสงครามมีหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งมีอันตรายได้ดังกล่าวแล้วในข้อ 2 ส่วนใหญ่ใช้สารประกอบประเภทออกาโนฟอสเฟส (Organophophates) โดยเรียกว่าก๊าซพิษต่อประสาท (nerve gases) ตัวอย่างเช่น o-isopropyl methyl phosphorofluoridate (Sarin) และ o-1, 2, 2-trimethylpropyl methyl phosphorofluoridate (Soman) เป็นต้น ก๊าซพิษดังกล่าวเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต มีผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาท ทำให้เหงื่อออกมาก หลอดลมตีบตัน ชัก ในที่สุดเป็นอัมพาต ระบบหายใจล้มเหลว และตายได้ภายหลัง

      การแก้ไขเบื้องต้น ล้างผิวหนังด้วยน้ำจำนวนมาก ให้ออกซิเจนช่วยหายใจ ให้ยาแก้พิษคือ อะโทรปีนซัลเฟต ฉีดครั้งแรก 2-4 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อหรือเส้นโลหิต และฉีดอีก 2-4 มิลลิกรัม ทุกๆ 30-60 นาที จนกว่าคนไข้มีอาการดีขึ้น ในรายที่ป่วยหนัก ให้ ทู-แพม (2-Pam) ด้วย โดยฉีด 1 กรัมผสมน้ำเกลือ ให้ระยะเวลาเดินยาช้ามาก
      6.ก๊าซแอมโมเนีย เป็นก๊าซที่รู้จักกันดี ใช้ปริมาณเล็กน้อยสูดดมแก้อาการวิงเวียนเป็นลม

      แหล่งที่มาและความเป็นพิษ ก๊าซแอมโมเนียเป็นผลพลอยได้ในกระบวนการอุตสาหกรรมจากโรงงานเผาถ่าน ฟอกหนัง และโรงงานน้ำตาล เป็นต้น หรือมีในกองขยะ น้ำเน่า สมัยก่อนใช้ก๊าซแอมโมเนียทำให้เกิดความเย็นในการทำน้ำแข็ง ถ้าได้รับแอมโมเนียปริมาณปานกลางทำให้จาม น้ำตาไไหล แสบคอ ไอมีเสมหะปนเลือ สำลัก หายใจขัด ความดันโลหิตสูง เสียงแหบ ถ้าความเข้มข้นสูง หมดสติทันที และถึงตายได้ ไม่มียาแก้พิษเฉพาะ


      7.ก๊าซคลอรีน เป็นก๊าซชนิดแรกที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีกลิ่นฉุนมาก ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การฟอกสีวัตถุ และ ฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา เป็นต้น

      ความเป็นพิษ มีฤทธิ์กัดและทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ

      การแก้พิษเบื้องต้น ไม่มียาแก้พิษเฉพาะ ให้นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซพิษ ช่วยการหายใจ และทำให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ


      8.ก๊าซน้ำตา ก๊าซน้ำตาที่ใช้ในการปราบปราม คือ ก๊าซ.คลอโรอะซิโตฟีโนน เป็นพิษต่อเส้นประสาท ตา ทำให้ปวดแสบ น้ำตาไหล ถ้าความเข้มข้นในบรรยากาศสูง ทำให้ปอดบวมน้ำ ถึงตายได้

      การแก้พิษเบื้องต้น นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซพิษนี้ ถ้าถูกผิวหนังล้างออกทันทีด้วยน้ำมากๆพร้อมสบู่ ถ้าเข้าตาล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอนเนต 2 %



INSURANCETHAI.NET
Line+