สิทธิของผู้บริโภคในการฟ้องร้องเจ้าของโครงการคอนโดมิเนี่ยม
96

สิทธิของผู้บริโภคในการฟ้องร้องเจ้าของโครงการคอนโดมิเนี่ยม

นำเสนอกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภควิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคให้กับผู้บริโภคที่จองคอนโดมิเนี่ยมได้ทราบและนำไปใช้ได้จริงเป็นข้อ ๆ ดังนี้ คือ

1.  ความหมายของคำว่า “ผู้บริโภค”  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3 บัญญัติว่า ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

2.  ความหมายของคำว่า  “ผู้ประกอบธุรกิจ”  หมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย

ผ่อนคอนโดครบ เเต่เจ้าของโครงการไม่สร้างต่อ เเละนำโครงการไปขาย

มื่อชำระเงินจองครบ  เจ้าของโครงการไม่ยอมสร้างต่อ  แต่เอาโครงการไปขายให้กับคนอื่นและได้กำไรเพิ่มเติมอีกหลายร้อยล้านบาท (จากที่ได้กำไรอยู่แล้วในการเปิดให้ผู้บริโภคจอง เป็นการได้กำไรซ้อนกำไร) โดยอ้างพิษเศรษฐกิจบังหน้า  ซึ่งไม่เป็นความจริง  เพราะบริเวณตรงข้ามมีคอนโดลักษณะเดียวกันถูกจองหมดแล้ว  ผู้บริโภคหลายรายที่จองโครงการดังกล่าวได้รับจดหมายบอกเลิกสัญญาและคืนต้นเงินแต่ไม่มีดอกเบี้ยและค่าเสียหายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคทำให้ได้รับความเสียหาย และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการบอกเลิกสัญญา ไปร้องเรียน สคบ.ก็ช่วยไม่ได้  จึงมาขอความช่วยเหลือที่ทนายคลายทุกข์  ต้องการเรียกค่าเสียหายให้สอดคล้องกับความเสียหายตามความเป็นจริง  เพราะต้องเจียดเงินเดือนผ่อนมา 2 ปี  แสนสาหัสและไม่ได้คอนโด

            ทนายคลายทุกข์ขอเรียนว่า ตามกฎหมายแล้วผู้บริโภคมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเจ้าของโครงการได้ดังนี้

            1.  ขอต้นเงินที่จองและชำระเงินจองทั้งหมดคืนพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาและตามประกาศประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง  ให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543  ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2543 ข้อ 8.6 (ก)

            2.  เจ้าของโครงการไม่ยอมสร้างต่อแต่เอาโครงการไปขายให้บุคคลภายนอกได้กำไร  หลายร้อยล้านบาทเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  ผู้บริโภคต้องไปหาซื้อคอนโดใหม่ในย่านเดียวกัน  มีราคาต่อตารางเมตรสูงขึ้นจากเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์  กล่าวคือ จากเดิม 48,700  บาท  ราคาปัจจุบันสูงกว่าเดิมเป็น 76,200  บาท  เกิดความเสียหายต่อตารางเมตรละ 27,500 บาท

            3.  ค่าขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์นับแต่วันที่ต้องสร้างให้เสร็จ เป็นรายวัน-รายเดือน ตามข้อเท็จจริง

            4.  ค่าเสียหายทางด้านจิตใจ  เช่น  อาจจะจองคอนโดเพื่อใช้เป็นเรือนหอ  อาจทำให้แฟนเลิกกันหรือถอนหมั้น  ผมเคยได้รับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว  ก็น่าจะเรียกได้ถ้าสืบได้

            5.  ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น  เพราะผู้บริโภคตั้งใจซื้อคอนโดใกล้ที่ทำงาน  แต่เมื่อเจ้าของโครงการไม่ยอมสร้าง  ทำให้ต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น

            6.  ของแถมที่ตกลงจะให้กับผู้จองคอนโด เช่น ทีวี  ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ  แต่เมื่อไม่มีการสร้าง  จึงไม่มีการให้ของแถม  เจ้าของโครงการต้องชดใช้คืนให้กับผู้บริโภคตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้

            7.  ค่าเสียหายอื่นๆ  อีก (ถ้ามี)  ผู้บริโภคสามารถเรียกได้ทั้งสิ้น



ตัวบทกฎหมายอ้างอิง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 5  ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต

มาตรา 391  เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่

ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้

ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น

การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่



ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง  ให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543

ข้อ 8.6  ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด

ก.      ให้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิเรียกเงินที่ผู้บริโภคได้ชำระไปแล้ว

ทั้งหมดคืนจากผู้ประกอบธุรกิจพร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับเบี้ยปรับ  ที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดสำหรับกรณีผู้บริโภคผิดนัดชำระหนี้  แต่ทั้งนี้  ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างอื่น



พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

มาตรา 4  ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับความคุ้มครองดังต่อไปนี้

(3 ทวิ) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา

(4) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย



พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551

มาตรา18  ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย การยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ในคดีผู้บริโภคซึ่งดำเนินการโดยผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด

ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่าผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควร ประพฤติตนไม่เรียบร้อย ดำเนินกระบวนพิจารณาอันมีลักษณะเป็นการประวิงคดีหรือที่ไม่จำเป็น หรือมีพฤติการณ์อื่นที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลนั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้ หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ในกรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมโดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคนั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร

ที่มา
http://decha.com/main/showTopic.php?id=5912



INSURANCETHAI.NET
Line+