INSURANCETHAI.NET
Mon 02/12/2024 23:37:59
Home » Uncategorized » มูลค่ากรมธรรม์ประกันชีวิตหรือมูลค่าที่ริบไม่ได้ (Nonforfeiture Value)\"you

มูลค่ากรมธรรม์ประกันชีวิตหรือมูลค่าที่ริบไม่ได้ (Nonforfeiture Value)

2018/10/30 3709👁️‍🗨️

มูลค่าที่ริบไม่ได้ เป็นสิทธิของผู้เอาประกันที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์

มูลค่ากรมธรรม์ประกันภัยจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เอาประกันได้ชำระเบี้ยประกันมาแล้ว 2 ปีขึ้นไป แล้วแต่แบบของกรมธรรม์ เมื่อกรมธรรม์เกิดมูลค่าเงินสดแล้วและผู้เอาประกันไม่ประสงค์จะชำระเบี้ยประกันต่อไป ผู้เอาประกันมีสิทธิที่จะเลือกเงื่อนไขต่างๆ
1.ขอรับมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์เป็นเงินสด
2.แปลงเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ
3.แปลงเป็นกรมธรรม์แบบขยายเวลาได้

บริษัทได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับมูลค่ากรมธรรม์หรือมูลค่าที่ริบไม่ได้ไว้ในกรมธรรม์ และมูลค่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่ากรมธรรม์จะแตกต่างกันไปในแต่ละแบบของการประกัน แต่ละช่วงอายุ และแต่ละปีกรมธรรม์ ผู้เอาประกันขอรับมูลค่าดังกล่าวได้หลายวิธีดังนี้

1.เลิกสัญญาโดยขอรับเป็น มูลค่าเวนคืนเงินสด
2.ขอรับความคุ้มครองต่อไปโดยเปลี่ยนเป็น กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ
3.ขอรับความคุ้มครองต่อไปโดยเปลี่ยนเป็น กรมธรรม์ขยายเวลา
4.กู้ยืม ในวงเงินไม่เกินมูลค่าเวนคืนโดยมีกรมธรรม์ค้ำประกัน หรือ กู้เพื่อชำระเบี้ยประกันโดย อัตโนมัติ

มูลค่าเงินสดหรือมูลค่าเวนคืน

โดยทั่วไปแล้วมูลค่าที่ริบไม่ได้มักจะหมายถึงมูลค่าเงินสดนั่นเอง มูลค่าเงินสดหรือมูลค่าเวนคืน (Cash Value or Surrender Value) หมายถึงจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในตารางมูลค่าซึ่งผู้เอาประกันจะได้รับเมื่อบอกเลิกสัญญาก่อนที่สัญญาจะสิ้นผลบังคับโดยการหยุดชำระเบี้ยประกัน ซึ่งมีผลให้สัญญาสิ้นสุดลง

การจะขอเวนคืนกรมธรรม์เพื่อรับเงินสดมีขั้นตอนดังนี้

  1. บอกเลิกสัญญา
  2. ขอรับเงินมูลค่าเวนคืนตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์
  3. ส่งคืนกรมธรรม์
  4. สัญญาสิ้นสุดและความคุ้มครองหมดไป

การเวนคืนกรมธรรม์เพื่อรับเงินสดนี้ผู้เอาประกันมีสิทธิรับได้หลังจากได้ส่งเบี้ยประกันมาแล้วอย่างน้อย 2 หรือ 3 ปีขึ้นไป (การประกันแบบสะสมทรัพย์มีสิทธิรับได้เมื่อสิ้นปีที่ 2 แห่งการประกัน ส่วนกรมธรรม์แบบอื่นๆ จะมีสิทธิได้รับเมื่อสิ้นปีที่ 3) ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุกรมธรรม์หรือระยะเวลาที่ผู้เอาประกันได้ส่งเบี้ยประกันมาทั้งหมด

หากผู้เอาประกันไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะชำระเบี้ยประกันต่อไป ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้เอาประกันยังได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์นี้ ดังนี้

มูลค่าใช้เงินสำเร็จ

มูลค่าใช้เงินสำเร็จ (Reduced Paid Up Value) หมายถึง จำนวนเงินเอาประกันของกรมธรรม์ ภายใต้ผลประโยชน์ความคุ้มครองเดิมที่ลดลงตามส่วน กล่าวคือ เมื่อกรมธรรม์ได้เกิดมูลค่าขึ้นแล้ว และผู้เอาประกันไม่สามารถชำระเบี้ยต่อไปได้หรือไม่ประสงค์จะชำระเบี้ยต่อไป แต่ยังต้องการความคุ้มครองจากกรมธรรม์อยู่ ผู้เอาประกันสามารถเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์เป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ (Reduced Paid Up Value) ได้โดยไม่ต้องชำระเบี้ยประกันอีกต่อไป กรมธรรม์ยังคงให้ความคุ้มครองตามการประกันชีวิตแบบเดิม ระยะเวลาเอาประกันเท่าเดิม แต่ทุนประกันลดลงตามส่วน บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันให้ตามจำนวนเงินเอาประกันที่ลดลงนั้น หากผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วงที่มีการเปลี่ยนเป็นมูลค่าใช้เงินสำเร็จหรือมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา

มูลค่าใช้เงินสำเร็จคำนวณได้จากการนำมูลค่ากรมธรรม์ในปีนั้นมาซื้อความคุ้มครองตามแบบประกันชีวิตเดิม ระยะเวลาเอาประกันเท่าเดิมโดยที่ทุนประกันลดลงตามส่วน มูลค่ากรมธรรม์รวมที่นำมาซื้อความคุ้มครองนี้จะเปรียบเสมือนเบี้ยประกันภัยสุทธิชำระครั้งเดียว (Single Premium)

มูลค่าใช้เงินสำเร็จของกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะสูงกว่ามูลค่าเงินสด ยกเว้น ในปีสุดท้ายแห่งสัญญาจะมีมูลค่าเท่ากัน

มูลค่าขยายเวลา

กรณีที่ผู้เอาประกันหยุดชำระเบี้ยประกันภัย แต่ยังต้องการความคุ้มครองการเสียชีวิตในจำนวนทุนประกันเท่าเดิมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผู้เอาประกันสามารถใช้สิทธิแปลงกรมธรรม์เป็นแบบขยายระยะเวลา (Extended Term Insurance) ได้

มูลค่าขยายเวลา เกิดจากการนำมูลค่ากรมธรรม์รวมมาใช้เป็นเบี้ยประกันภัยสุทธิชำระครั้งเดียวซื้อการประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ซึ่งให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตเท่ากับความคุ้มครองในขณะที่ขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ โดยระยะเวลาที่คุ้มครองจะลดลงหรือไม่เกินระยะเวลาคุ้มครองของกรมธรรม์เดิม ดังนั้นการคำนวณมูลค่าขยายเวลาจะต้องคำนวณหาระยะเวลาและจำนวนเงินเอาประกันที่กรมธรรม์แบบขยายระยะเวลาจะคุ้มครองได้ ในบางกรณีมูลค่ากรมธรรม์รวมที่คิดเป็นเบี้ยประกันภัยสุทธิชำระครั้งเดียวนั้น อาจมีจำนวนมากกว่าเบี้ยประกันภัยสุทธิชำระครั้งเดียวที่จะซื้อความคุ้มครองแบบเฉพาะกาล จนครบกำหนดสัญญาได้ ผู้เอาประกันก็สามารถขอรับเงินส่วนที่เกินนี้ได้ หรืออาจนำมูลค่าที่เกินนี้ไปซื้อความคุ้มครองแบบสะสมทรัพย์แท้จริง (Pure Endowment) ตามระยะเวลาของกรมธรรม์เดิม

หากผู้เอาประกันเสียชีวิตลงในช่วงเวลาที่ขยายความคุ้มครอง บริษัทจะจ่ายเงินเอาประกันให้ แต่ถ้าผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนครบระยะเวลาที่ขยายสัญญาประกันชีวิตจะสิ้นสุดลง การเปลี่ยนกรมธรรม์เป็นแบบขยายเวลา จึงมีลักษณะเหมือนกับการประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา

เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเวนคืนแล้ว ผู้เอาประกันสามารถใช้สิทธิต่างๆ ตามกรมธรรม์ได้หลากหลายรูปแบบ ติดตามการใช้สิทธิ์ตามกรมธรรม์อีกรูปแบบหนึ่งได้ที่นี่…

การกู้ยืมเงิน

เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเวนคืนแล้วและผู้เอาประกันมิได้เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์แบบใช้เงินสำเร็จหรือขยายเวลา ผู้เอาประกันมีสิทธิกู้ยืมเงินจากบริษัทได้ไม่เกินมูลค่าเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ในขณะนั้น บริษัทจะหักหนี้สินที่ผูกพันตามกรมธรรม์ คือเบี้ยประกันภัยงวดที่ยังไม่ได้ชำระในรอบปีกรมธรรม์นั้นออก แล้วผู้เอาประกันลงนามในสัญญากู้ยืมกับบริษัท

ผู้เอาประกันอาจคืนเงินกู้โดยชำระคืนทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ในระหว่างที่กรมธรรม์ยังมีผลบังคับอยู่ บริษัทจะคิดดอกเบี้ยทบต้นสำหรับหนี้สินที่ยังคงค้างอยู่ และเมื่อใดที่หนี้สินรวมกับดอกเบี้ยมีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่าเงินค่าเวนคืนในขณะนั้นแล้ว และผู้เอาประกันมิได้ชำระเบี้ยประกันงวดที่ถึงกำหนดชำระนั้น กรมธรรม์จะสิ้นผลบังคับทันที

1. การกู้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติ

ในกรมธรรม์ประเภทสามัญเมื่อผู้เอาประกันมิได้ชำระเบี้ยประกันจนพ้นระยะเวลาผ่อนผัน และยังมิได้ใช้สิทธิใด ๆ ตามกรมธรรม์แล้ว บริษัทจะกู้เงินจากมูลค่าเงินสดนั้นมาชำระเบี้ยประกันแทนให้โดยอัตโนมัติเพื่อให้กรมธรรม์มีผลบังคับต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตในระหว่างนี้ บริษัทจะจ่ายเงินให้ตามจำนวนเงินเอาประกันหักด้วยเบี้ยประกันค้างชำระและดอกเบี้ย

สำหรับในกรมธรรม์ประเภทอุตสาหกรรม กรมธรรม์จะถูกแปรสภาพเป็นมูลค่าใช้เงินสำเร็จโดยอัตโนมัติ

2. การกู้โดยตรงจากผู้เอาประกัน

เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นแล้ว ผู้เอาประกันสามารถขอกู้เงินได้ในวงเงินที่ไม่เกินมูลค่าเงินสดที่มีอยู่ในขณะนั้น โดยนำกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับอยู่เป็นประกัน และต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่บริษัทตามอัตราที่กำหนด

หากมีการมรณะเกิดขึ้นในระหว่างการกู้ตามกรมธรรม์ บริษัทจะหักจำนวนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระออกจากจำนวนเงินเอาประกันที่บริษัทจะต้องจ่ายให้กับผู้รับประโยชน์

ตารางมูลค่ากรมธรรม์

ตารางมูลค่ากรมธรรม์เป็นตารางที่แสดงถึงมูลค่าเงินสด มูลค่าใช้เงินสำเร็จ และมูลค่าขยายเวลาที่อายุและปีกรมธรรม์ต่าง ๆ กัน ตัวอย่าง

ตารางแสดงมูลค่ากรมธรรม์สะสมทรัพย์
อัตรามูลค่าเวนคืน มูลค่าใช้เงินสำเร็จ และมูลค่าขยายเวลา
ระยะ 15/15 ปี อายุ 30 ปี
(ต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท)
เพศหญิง

สิ้นปีแห่ง กรมธรรม์มูลค่าเวณคืนมูลค่าใช้เงินสำเร็จมูลค่าขยายเวลา
เงินจ่ายคืนทันทีเงินเอาประกันปีวันเงินคงเหลือ
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
31
92
155
232
296
364
436
512
593
679
770
867
970












27
65
183
292
413
497
578
653
725
792
856
917
974
1,000
13
12
11
10
9
8
7
6
5
4
3
2












15
143
260
388
478
563
643
717
788
854
915
974
15ครบกำหนด

การคำนวณมูลค่ากรมธรรม์

นางสาว A อายุ 30 ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ระยะ 15/15 ปี
จำนวนเงิน เอาประกันภัย 500,000 บาท
ชำระเบี้ยประกันภัยมาได้ 5 ปี
ต้องการหยุดส่งเบี้ยประกันภัย สามารถเลือกใช้สิทธิดังต่อไปนี้

1.เวนคืนกรมธรรม์เพื่อขอรับเงินสด
นางสาว A จะได้รับเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะมีผลให้สัญญาสิ้นสุดลงทันที จำนวนเงินที่ได้รับคำนวณดังนี้คือ

(มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ x จำนวนเงินเอาประกัน)/1,000
ดูปีที่ 5 ==> (232 x 500,000) /1,000 = 116,000 บาท

2.แปลงเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ
นางสาว A ยังคงได้รับความคุ้มครองแบบเพิ่มค่าต่อไปจนครบ 15 ปี แต่จำนวนเงินเอาประกันจะลดลงตามส่วน

(มูลค่าใช้เงินสำเร็จ x จำนวนเงินเอาประกัน)/1,000
ดูปีที่ 5 ==> (413 x 500,000) /1,000 = 206,500 บาท

3.แปลงเป็นกรมธรรม์ขยายเวลา
ตารางมูลค่ากรมธรรม์ ณ สิ้นปีที่ 5 จะขยายเวลา ได้อีก 10 ปี
ความคุ้มครองจะเท่าเดิม คือ 500,000 บาท
เมื่อครบกำหนดสัญญา นางสาว A จะได้รับเงินคืนอีก 388 บาท ต่อทุนประกัน 1,000 บาท
หรือ จะได้รับเงินคืนเท่ากับ (338 x 500,000)/1,000=194,000





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow