INSURANCETHAI.NET
Fri 13/09/2024 17:22:57
Home » กฏหมาย » ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พระราชบัญญัติ พ.ศ. 2540\"you

ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พระราชบัญญัติ พ.ศ. 2540

2020/01/19 3824👁️‍🗨️

มาตรา 5 ข้อตกลงจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน หรือการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพซึ่งไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

ในการวินิจฉัยว่าข้อตกลงตามวรรคหนึ่งทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้หรือไม่ ให้พิเคราะห์ถึงขอบเขตในด้านพื้นที่และระยะเวลาของการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ รวมทั้งความสามารถและโอกาสในการประกอบอาชีพการงานหรือการทำนิติกรรมในรูปแบบอื่นหรือกับบุคคลอื่นของผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ ประกอบกับทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของคู่สัญญาด้วย

มาตรา 7 ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดเป็นมัดจำ หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้

มาตรา 10 ในการวินิจฉัยว่าข้อสัญญาจะมีผลบังคับเพียงใดจึงจะเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีให้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งปวง รวมทั้ง

(1) ความสุจริต อำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ ความเข้าใจ ความสันทัดจัดเจน ความคาดหมาย แนวทางที่เคยปฏิบัติ ทางเลือกอย่างอื่น และทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริง

(2) ปกติประเพณีของสัญญาชนิดนั้น

(3) เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาหรือในการปฏิบัติตามสัญญา

(4) การรับภาระที่หนักกว่ามากของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง

คดีที่ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

คดีนี้มีข้อเท็จจริงโดยสรุปคือ นางสาว ป. สมัครเข้าเรียนในคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัย ค. ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชน เมื่อขึ้นเรียนจบชั้นปีที่สอง มหาวิทยาลัยมีประกาศให้นักศึกษาในคณะนี้ต้องทำสัญญา ซึ่งเป็นสัญญาสำเร็จรูปกับมหาวิทยาลัยว่า เมื่อจบการศึกษาแล้วจะทำงานในโรงพยาบาลที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยต้องมีผู้ค้ำประกันด้วย

นางสาว ป. เกรงว่าหากไม่ยินยอมทำสัญญา อาจมีผลต่อการสำเร็จการศึกษา จึงยอมทำสัญญา โดยให้ ก. เป็นผู้ค้ำประกัน แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว นางสาว ป. ไม่ได้ทำงานที่โรงพยาบาลที่มหาวิทยาลัยกำหนด

มหาวิทยาลัยฟ้อง นางสาว ป. และ ก. ผู้ค้ำประกัน เรียกค่าเสียหายเป็นเงินสี่แสนบาท

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นางสาว ป. จำเลยเรียนจบชั้น ปีที่สองแล้ว ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนไปมากแล้ว มหาวิทยาลัย ค. โจทก์ เพิ่งมีประกาศให้ทำข้อตกลงที่เป็นการจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ ที่ต้องทำงานในโรงพยาบาลของโจทก์หรือโรงพยาบาลอื่น แม้เพียงหนึ่งปีโดยมีค่าตอบแทนให้ แต่ก็ทำให้นางสาว ป. ไม่มีทางเลือก

การทำสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องที่นางสาว ป. ไม่เคยคาดหมายมาก่อน เพราะหากทราบมาก่อนก็อาจไม่เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย ค. ที่ทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการเลือกที่ทำงาน การบังคับตามสัญญาดังกล่าว ทำให้นางสาว ป ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้สัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับ (คำพิพากษาฎีกาที่15162/2556)

การวินิจฉัยปัญหาว่าสัญญาที่มีข้อสัญญาไม่เป็นธรรมหรือไม่

ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบโจทก์หรือไม่ โดยมาตรา 4 วรรคสามดังกล่าว ได้ยกตัวอย่างของคำจำกัดความข้างต้นไว้ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ เป็นต้น เมื่อสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ ฮ. ระบุข้อตกลงไว้ชัดเจนแล้วเรื่องกำหนดเวลาของสัญญาว่าเป็นสัญญาแบบปีต่อปี โดยมีการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติในกรณีที่ไม่มีการแจ้งบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลา และสัญญาดังกล่าว ข้อ 8.1 ระบุว่า คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยที่ไม่มีการปฏิบัติผิดสัญญาได้ โดยส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน ก่อนถึงวันครบอายุสัญญาของอายุสัญญาดั้งเดิมหรืออายุสัญญาที่ต่อออกไปของสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่โจทก์เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มียอดขายสินค้าและมาตรฐานการให้บริการต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเลยที่ 1 กำหนด จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาตามข้อ 8.1 จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติหรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบโจทก์ ดังนั้นข้อตกลงตามข้อ 8.1 จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม




สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ

no related articles to display.




up arrow