INSURANCETHAI.NET
Fri 03/05/2024 3:00:49
Home » Uncategorized » การประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน\"you

การประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน

2023/01/03 73403👁️‍🗨️

เป็นการประกันภัยที่มีจุดประสงค์ให้ความคุ้มครองต่อผู้เป็นเจ้าของอาคาร ประเภทบ้านอยู่อาศัย สำนักงานในบ้าน หรือห้องชุดอยู่อาศัยในแฟลต แมนชั่น หรือคอนโดมิเนียม ให้ได้รับความคุ้มครองหลายอย่างไว้ในกรมธรรม์เดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยความคุ้มครองต่อความเสียหายจากอัคคีภัย ความเสียหายจากการโจรกรรมหรือการลักทรัพย์ ความเสียหายต่อความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ความเสียหายต่อทรัพย์สินในอาคาร การสูญเสียค่าเช่าหรือค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเช่าที่พักอาศัยชั่วคราว การจ่ายเงินชดเชยสำหรับการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ เป็นต้น

การประกันภัยประเภทนี้ให้ประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัยอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้รับความคุ้มครองที่หลากหลายแล้ว ยังสะดวกในการต่ออายุประกันภัย เนื่องจากเป็นการผนวกเอากรมธรรม์หลายรูปแบบไว้ในกรมธรรม์เดียว และที่สำคัญยังช่วยประหยัดค่าเบี้ยประกันภัยได้อีกด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับการทำประกันภัยหลายประเภทหลายกรมธรรม์

ประกันบ้านอยู่อาศัยรัฐสนับสนุนจึงได้ความคุ้มครองและเรทเบี้ยที่ดีกว่าอาคารที่ใช้ประโยชน์อื่น

ความคุ้มครองหลัก

กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละบริษัทอาจเลือกขายความคุ้มครองแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปความคุ้มครองประกอบด้วย 5 หมวดหลัก ดังนี้

1.ความคุ้มครองต่ออาคารและทรัพย์สินในอาคาร (หมวด 1 และ หมวด 2)

บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายต่ออาคาร หรือต่อทรัพย์สินในอาคารที่เอาประกันภัย อันเนื่องมาจากอัคคีภัย ฟ้าผ่า การระเบิด อากาศยานหรือสิ่งที่หล่นจากอากาศยาน น้ำท่วม การไหลล้นหรือการระเบิดของแท้งค์น้ำ อุปกรณ์ส่วนควบของแท้งค์น้ำหรือท่อน้ำ การลักทรัพย์โดยใช้กำลังรุนแรงเพื่อเข้าไปหรือออกจากอาคาร การชิงทรัพย์ การปล้นทรัพย์ หรือความพยายามกระทำการดังกล่าว อาคารถูกชนโดยพาหนะทางบก ม้าหรือปศุสัตว์ ที่ไม่ได้เป็นของหรืออยู่ในความควบคุมของผู้เอาประกันภัย หรือของสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ด้วยกันกับผู้เอาประกันภัย แผ่นดินไหว พายุเฮอริเคน พายุไซโคลน พายุใต้ฝุ่น หรือลมพายุ

2. ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเช่าที่พักอาศัยชั่วคราวและการสูญเสียค่าเช่า (หมวด 3)

ในกรณีอาคารที่พักอาศัยที่ทำประกันนั้นได้รับความเสียหายจากภัยดังกล่าวข้างต้น จนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ และต้องทำการซ่อมแซมหรือสร้างขึ้นใหม่ ในระหว่างรอการซ่อมแซมหรือสร้างใหม่นั้น ผู้เอาประกันภัยจำเป็นต้องหาที่พักอาศัยชั่วคราว เช่น บ้านเช่า, โรงแรม หรืออพาร์ทเม้นท์ เป็นต้น บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยเพื่อเป็นค่าเช่าที่พักอาศัยชั่วคราวดังกล่าว

ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของอาคารและมีรายได้จากการให้เช่าอาคารนั้น เช่น เจ้าของบ้านเช่า, เจ้าของหอพัก หรือเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ เป็นต้น หากเกิดความเสียหายต่ออาคารจากภัยที่คุ้มครองตามกรมธรรม์ จนทำให้เจ้าของอาคารต้องขาดรายได้ซึ่งเคยได้รับ บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุในกรมธรรม์

4. คุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (หมวด 4)

บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ในฐานะเจ้าของอาคารที่เอาประกันภัย หรือในฐานะผู้เช่า ซึ่งพักอาศัยในอาคารที่เอาประกันภัย โดยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก แบ่งเป็น 2 กรณี

ความรับผิดต่อร่างกายของบุคคลภายนอก ในกรณีเสียชีวิต ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ตัวอย่างความบาดเจ็บต่อร่างกาย เช่น บุคคลภายนอกมาเที่ยวบ้านของผู้เอาประกันภัย แล้วเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำหัวฟาดพื้น เป็นต้นความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในอาคารหรือเกี่ยวกับอาคาร เช่น บุคคลภายนอกมาเที่ยวบ้านของผู้เอาประกันภัย และนำรถเข้าไปจอดไว้ในบ้านของผู้เอาประกันภัย บังเอิญของจากที่สูงตกใส่หลังคารถ ทำให้รถได้รับความเสียหาย เป็นต้น

5. ความคุ้มครองสำหรับเงินชดเชยการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัย (หมวด 5)

หากผู้เอาประกันภัยประสบอุบัติเหตุขณะที่อยู่ในอาคารที่ทำประกันภัย และเป็นเหตุให้เสียชีวิตทันที หรือได้รับบาดเจ็บอันมีสาเหตุมาจากภัยภายใต้ความคุ้มครองต่ออาคารและทรัพย์สินในอาคาร และมีผลทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องเสียชีวิตภายใน 180 วัน นับจากวันเกิดอุบัติเหตุ บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุชื่อไว้ในกรมธรรม์ เช่น อาคารที่เอาประกันภัยเกิดเพลิงไหม้ เป็นผลให้ผู้เอาประกันภัยถูกไฟคลอกได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต่อมาผู้เอาประกันภัยได้เสียชีวิตลง ซึ่งอยู่ภายใน 180 วัน นับจากวันที่เกิดเพลิงไหม้นั้น

ความคุ้มครองที่สามารถซื้อเพิ่มเติมได้

1.ความเสียหายต่อกระจก หมายถึง การแตกของกระจกที่เป็นเสมือนผนังอาคาร และกระจกประตูหน้าต่างที่เอาประกันภัยไว้ บริษัทจะชดใช้โดยเลือกกระจกอื่นมาทดแทนหรือซ่อมแซมกระจกที่แตกไป

2.ความคุ้มครองเงินชดเชยการเสียชีวิตของคู่สมรส และสมาชิกในครอบครัวของผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยต้องการได้รับเงินชดเชย กรณีคู่สมรสหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้เอาประกันภัยตามที่ระบุชื่อไว้ได้รับบาดเจ็บอันมีสาเหตุมาจากภัยที่ระบุภายใต้ความคุ้มครองต่ออาคารและทรัพย์สินในอาคาร และทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องเสียชีวิตภายใน 180 วัน นับจากวันเกิดอุบัติเหตุ บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้เอาประกันภัย

3.ผู้เอาประกันภัยที่ซื้อความคุ้มครองถึงภัยแผ่นดินไหว จะได้รับความคุ้มครองถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งในส่วนที่เสียหายจากภัยแผ่นดินไหว คลื่นใต้น้ำ และน้ำท่วม เนื่องจากภัยแผ่นดินไหวเป็นภัยหลักที่ส่งผลให้เกิดคลื่นใต้น้ำและน้ำท่วมตามมา อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมโดยไม่ได้ซื้อภัยแผ่นดินไหว หากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจะได้รับความคุ้มครองเฉพาะในส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วมเท่านั้น

การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

1. แจ้งเป็นหนังสือให้บริษัททราบโดยทันที
2. กรณีโจรกรรม หรือพยายามกระทำการดังกล่าว ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที
3. การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้ข้อตกลงคุ้มครอง ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งและส่งมอบหลักฐานตามที่บริษัทร้องขอ พร้อมทั้งรายละเอียดของทรัพย์สินที่สูญเสียหรือเสียหายภายใน 30 วัน นับแต่วันเกิดความสูญเสียหรือเสียหาย
4. การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้ข้อตกลงคุ้มครอง ผู้เอาประกันภัยต้องส่งหมายศาล หมายเรียกใดๆ หรือกระบวนการทางกฎหมายอื่นๆ ให้แก่บริษัท และต้องให้ข้อมูลและความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่บริษัท
5. ผู้เอาประกันภัยต้องไม่ตกลงหรือยอมรับ หรือประนีประนอม หรือปฏิเสธการเรียกร้องใดๆ โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากบริษัท เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหาย เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายต้องรับผิด หรือบริษัทไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายในเวลาอันสมควร

ข้อแนะนำการซื้อประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน

  1. ควรสำรวจดูสภาพความเสี่ยงภัยและความต้องการความคุ้มครองของอาคารที่อยู่อาศัยว่ามีความจำเป็นต้องทำประกันภัยหลายอย่างในขณะเดียวกันหรือไม่ เช่น หากต้องการความคุ้มครองทั้งจากอัคคีภัย การโจรกรรม ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และการสูญเสียค่าเช่า การทำประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านฉบับเดียวโดยได้รับความคุ้มครองทั้งหมด จะสะดวกและประหยัดค่าเบี้ยประกันภัยได้มากกว่า
  2. ผู้ที่เป็นเจ้าของอาคารและมีรายได้หลักจากการให้เช่าอาคาร เช่น เจ้าของห้องชุดให้เช่า เจ้าของอพาร์ทเม้นท์ และ เจ้าของหอพัก เป็นต้น ควรเลือกซื้อประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน เพราะการซื้อประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านกรมธรรม์เดียว จะได้รับความคุ้มครองครอบคลุมภัยทุกประเภทที่ต้องการ
  3. สำหรับบ้านอยู่อาศัยโดยทั่วไป ควรพิจารณาถึงภัยที่คุ้มครองตามกรมธรรม์ว่ามีความจำเป็น หรือมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด เพราะการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านจะต้องซื้อภัยทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยแพงกว่าการเลือกซื้อกรมธรรม์เฉพาะแบบที่ต้องการ
  4. ผู้เช่า ซึ่งเป็นผู้เช่าบ้าน ผู้เช่าคอนโดมิเนียม/ห้องชุด และผู้เช่าอพาร์ทเม้นท์ เป็นต้น สามารถทำประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านได้แต่จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะส่วนของความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของตน และความรับผิดต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น สำหรับตัวอาคารนั้น ผู้เช่าไม่สามารถนำไปทำประกันภัยได้ เนื่องจากไม่มีกรรมสิทธิ์หรือส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว




สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow