INSURANCETHAI.NET
Fri 26/04/2024 5:17:53
Home » ข่าวประกันภัย » ลดหย่อนภาษีตัวแทนเพิ่ม สรรพากรไฟเขียว 3 แนวทางรูปแบบธุรกิจ\"you

ลดหย่อนภาษีตัวแทนเพิ่ม สรรพากรไฟเขียว 3 แนวทางรูปแบบธุรกิจ

2014/07/11 1394👁️‍🗨️

สรรพากรไฟเขียวให้ตัวแทน คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรูปแบบของการทำธุรกิจ ได้แล้ว บน 3 แนวทางที่กำหนด พร้อมกับเปิดทางให้นำค่าเช่าอาคารมาเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงาน หากไม่เข้าข่าย 3 แนวทางต้องยื่นแบบเดิม ระบุมาตรการใหม่เป็นการสนับสนุนคนเก่งให้ก้าวหน้าในอาชีพมากยิ่งขึ้น

น.ส.ศิริภรณ์ พุทธรักษ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้มีหนังสือแจ้งถึงนายกสมาคมตัวแทนฯ ถึงการพิจารณาค่าตอบแทนที่ตัวแทนประกันชีวิตได้รับจากบริษัทประกันชีวิตในรูปแบบของ “การทำธุรกิจ” เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม

“หนังสือดังกล่าวมีการลงนามไว้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2557 แต่ทางสมาคมเพิ่งได้รับเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยข้อกำหนดที่กรมสรรพากรจัดเป็นรูปแบบการทำธุรกิจของตัวแทนนั้น ตัวแทนผู้นั้นจะต้องเข้า 3 องค์ประกอบก่อนถึงจะสามารถคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม มาตรา 40 (8) และหากไม่เข้าองค์ประกอบก็ถือเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องคำนวณภาษีเหมือนผู้มีรายได้ทั่วไปคือ 40 (2) เช่นในอดีตที่ผ่านมา”

สำหรับองค์ประกอบที่กรมสรรพากรระบุไว้ คือ 1.จัดตั้งสำนักงานมีอาคารเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือเช่าจากบุคคลอื่นโดยมีหลักฐานมีการลงทุน โดยจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงานมีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงาน โดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงานมีการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายและมีหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง (แบบ ภ.ง.ด.1 หรือ ภ.ง.ด.1 ก)

2.ได้มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและ 3.มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการจริง เช่น ค่ารับรองค่าบริการต่างๆ ที่ติดต่อกับลูกค้าและมีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตต้นสังกัดว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้

น.ส.ศิริภรณ์ กล่าว่า ในหนังสือดังกล่าวยังระบุถึงการทำหน้าที่ของบริษัทประกันชีวิตต้นสังกัดของตัวแทนกลุ่มดังกล่าวอีกว่าตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 นั้น บริษัทประกันชีวิตผู้จ่ายเงินค่าตอบแทนดังกล่าว ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1(1) ของคำสั่งที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน 2528 ด้วย

นายกสมาคมตัวแทนฯ กล่าวว่า หนังสือแจ้งจากกรมสรรพากรดังกล่าว นับเป็นการยืนยันตามหนังสือขอความเป็นธรรมจากสมาคมฯ ที่ส่งถึงกรมสรรพากรก่อนหน้านี้ เลขที่ สตท.007/2556 ลงวันที่ 24 มกราคม 2556 ซึ่งสมาคมฯ ได้แจ้งเหตุผลไปในหนังสือดังกล่าวว่า สมาคมฯ ได้เรียนเชิญวิทยากรจากกรมสรรพากร เพื่อมาให้ความรู้เกี่ยวกับการเสียภาษีอากรของกิจการตัวแทนประกันชีวิต เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ซึ่งในวันดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัทประกันชีวิตต่างๆ มารับฟังจำนวนมาก และเห็นว่า แนวปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.115/2545 เรื่องการเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2545 ยังมีประเด็นในการทางปฏิบัติที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

สมาคมฯ จึงขอให้กรมสรรพากรยืนยันว่า หากตัวแทนประกันชีวิตได้แสดงให้เห็นว่า ได้ปฏิบัติตามข้อ 2.1(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.115/2545ฯ ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2545 ครบถ้วนแล้วก็ให้พิจารณาทบทวนแนวทางการคำนวณจ่ายภาษีเงินได้ของตัวแทนที่ประกอบกิจการในรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องและเป็นแนวทางเดียวกันด้วย

“นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งในการทำงานของสมาคมฯ ที่ได้ผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติใหม่สำหรับการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตัวแทนทั้งระบบที่มีรายได้สูงขึ้นจากเดิมเป็น 40 (2) มาเป็นแบบ 40 (8) ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบริการลูกค้าและทำงานในอาชีพนี้ได้มั่นคงขึ้นซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ตัวแทนเก่งๆ ทำงานก้าวหน้ามากขึ้นบนภาวการณ์แข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้นด้วยค่ะ”





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow