INSURANCETHAI.NET
Sun 08/09/2024 21:16:36
Home » ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ » ทางออกแพทย์ กับ ความรับผิดทางอาญา\"you

ทางออกแพทย์ กับ ความรับผิดทางอาญา

2015/02/02 2794👁️‍🗨️

ความรับผิดในการรักษาคนไข้ของแพทย์อาจเกิดได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา
ความรับผิดทางแพ่ง
เป็นกรณีที่แพทย์ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่คนไข้หรือทายาทของคนไข้
ความรับผิดทางอาญา ซึ่งมีทั้งโทษจำคุก และปรับนั้น เป็นกรณีที่แพทย์ต้องรับผิดในฐานะผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องใช้ความรู้ ทักษะและความระมัดระวังอย่างเหมาะสมที่บุคคลเช่นว่านั้นต้องมีในพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น

doctor-arrest1

ทั้งความรับผิดทางอาญาอาจเกิดจากความผิดพลาดในการรักษาคนไข้ หรือเป็นความผิดอื่นๆที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะสำหรับแพทย์ว่าเป็นความผิด เช่น มาตรา 269 แพทย์ทำคำรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ หรือมาตรา 323 การห้ามเปิดเผยความลับคนไข้ เป็นต้น

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายของแพทย์อาจเกิดได้หลายกรณี ขึ้นอยู่กับผลของการกระทำ เช่น คนไข้ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ซึ่งการพิจารณาว่าเป็นความผิดฐานใดนั้น ศาลต้องพิเคราะห์ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไป

แพทย์อาจต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกาย หากแพทย์รู้ว่าการกระทำของตนอาจเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่คนไข้ เช่น การศึกษาวิจัยและทดลองในมนุษย์ หรือการปลูกถ่ายอวัยวะที่ขัดต่อศีลธรรม และจริยธรรมของประชาชน แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย แพทย์ก็ยังคงต้องมีความรับผิดฐานทำร้ายร่างกาย

ส่วนความผิดฐานประมาททำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย อาจเกิดจากการที่แพทย์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างพอเพียงตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ทั่วไปพึงปฏิบัติในพฤติการณ์เดียวกัน ซึ่งการกระทำโดยประมาทนี้มีฐานความผิดที่แตกต่างกันขึ้นกับผลของการกระทำ เช่น คนไข้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย

ตัวอย่างที่แพทย์กระทำโดยประมาท เช่น การลืมเครื่องมือแพทย์ไว้ในร่างกายของคนไข้หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว หรือทำการวินิจฉัยรักษาโรคคนไข้ผิดพลาดอย่างมาก ซึ่งตามปกติวิสัยของแพทย์นั้นมักจะไม่เกิดขึ้น หากแพทย์ผู้นั้นได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการประกอบวิชาชีพแล้ว

เมื่อ 6 ธันวาคม 2550 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแพทย์มีความผิดตามมาตรา 291 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 ปี ลักษณะการกระทำความผิดที่ค่อนข้างประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หลังเกิดเหตุก็ไม่ได้บรรเทาผลร้ายแก่ญาติผู้ตายและให้การปฏิเสธตลอดมา จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ

ข้อเท็จจริงในคดีศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่วิสัญญีแพทย์โดยมิได้เป็นวิสัญญีแพทย์โดยตรง โดยวิสัยและพฤติการณ์จำเลยที่ 2 จึงจำต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ อีกทั้งมีเวลามากเพียงพอที่จะตรวจสอบปริมาณยาโดยปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญีหรือทบทวนการใช้ยาให้ชัดเจนจนมั่นใจก่อนได้ ถือได้ว่าอยู่ในภาวะที่อาจใช้ความระมัดระวังในการกระทำได้อย่างเพียงพอ แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอไม่ คดีนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ญาติผู้ตายเป็นเงิน 800,000 บาท

ประเด็นดังกล่าวได้ถกเถียงกันเป็นอย่างมากในขณะนี้ว่าเพราะเหตุใดแพทย์จึงต้องรับผิดทางอาญาในการรักษาคนไข้ เป็นการลงโทษแพทย์เกินสมควรหรือไม่

แนวคิดเรื่องความรับผิดทางอาญาของแพทย์ในต่างประเทศ

ปัญหานี้ได้มีการศึกษาอยู่แล้วในหลายประเทศ เพราะปริมาณคดีที่แพทย์ถูกฟ้องเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ได้มีคดีตัวอย่างที่ศาลสูงประเทศอังกฤษ ในคดี R v Adomako ([1994] 3 All ER 79) พิพากษาว่า Dr.Adomako มีความผิดฐานประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 6 เดือน รอการลงโทษ 12 เดือน

ข้อเท็จจริงในคดีมีอยู่ว่า คนไข้เข้าทำการผ่าตัดนัยน์ตา ที่โรงพยาบาลเมย์เดย์ และจำเลยเป็นวิสัญญีแพทย์ที่เป็นผู้รับผิดชอบในช่วงท้ายของการผ่าตัดให้แก่คนไข้ หลังจากที่จำเลยมารับช่วงรับผิดชอบต่อจากแพทย์คนแรกได้ประมาณ 35 นาที สายต่อท่อส่งออกซิเจนที่จัดให้คนไข้หลุด และมีผลให้คนไข้หัวใจหยุดเต้น โดยที่จำเลยไม่รู้ และมารู้ในภายหลังจากที่มีสัญญาณเตือนจากเครื่องวัดความดันของคนไข้ ซึ่งกินเวลาประมาณ 4 นาทีหลังจากคนไข้หัวใจหยุดเต้นแล้ว ทั้งนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในระหว่างที่เกิดเหตุจำเลยในฐานะวิสัญญีแพทย์บกพร่องในหลายกรณี เช่น ควรรู้ว่าคนไข้หยุดหายใจแล้วเพราะหน้าอกของคนไข้ไม่มีการเคลื่อนไหว และคนไข้มีอาการขาดอากาศหายใจเพราะตัวเขียว และหน้าปัดของเครื่องช่วยหายใจไม่ทำงาน อีกทั้งยังไม่มีการตรวจสอบเครื่องมือว่าไม่ได้มีการเปิดปุ่มสัญญาณเตือนไว้

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเองก็ให้ความเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวังอย่างมาก และวิสัญญีแพทย์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญควรจะรับรู้ถึงสัญญาณจากการที่สายต่อท่อส่งออกซิเจนที่จัดให้คนไข้หลุด ภายใน 15 วินาทีนับแต่เกิดเหตุ

ประเด็นในคดีนี้มีว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาท แต่ถึงขั้นที่เป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ ซึ่งผู้พิพากษาในคดีนี้เห็นว่าต้องเริ่มพิจารณาว่าจำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องกระทำการโดยระมัดระวังต่อคนไข้หรือไม่ หากมีก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าคนไข้เสียชีวิตหรือไม่ และมีการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเกิดขึ้นหรือไม่

ทั้งนี้ระดับความระมัดระวังที่แพทย์ควรมี ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ แต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่แพทย์ทั่วไปจะพึงมีในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การจะพิจารณาลงโทษแพทย์ในคดีอาญาจึงจะกระทำต่อเมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำในระดับที่แพทย์ทั่วไปไม่ทำกัน ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลสูงของอังกฤษ (House of Lords) จึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

เช่นเดียวกับประเทศนิวซีแลนด์ ที่ได้กำหนดความรับผิดทางอาญาของแพทย์ไว้ในมาตรา 155 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางอาญา ค.ศ. 1961 ว่าบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการผ่าตัด หรือให้การรักษาทางการแพทย์ ต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะใช้ความรู้ ทักษะ และความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งนี้อาจต้องรับผิดทางอาญาหากละเว้นไม่กระทำการโดยไม่มีข้ออ้างที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะไม่กระทำการนั้น

แพทย์ควรได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่

เมื่อศึกษาจากแนวคิดของต่างประเทศข้างต้น ความรับผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นของแพทย์นั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อแพทย์ในฐานะผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านวิชาชีพของตน กระทำการรักษาคนไข้โดยขาดความระมัดระวังอย่างมาก เช่นบุคคลในฐานะเช่นนั้นจะพึงมี

ทั้งนี้มาตรฐานในการตัดสินว่าแพทย์ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างพอเพียงหรือไม่นั้น ศาลจะพิจารณาจากมาตรฐานของแพทย์ในสาขาเดียวกันนั้นเองว่า ในพฤติการณ์เดียวกันนั้นการกระทำของแพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นเช่นใด ดังนั้นหากแพทย์ได้ใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจเรื่องแนวทางการรักษา แม้มีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นและคนไข้เสียชีวิต แพทย์ย่อมไม่มีความรับผิดทางอาญา

โดยทั่วไปแล้วคนไข้หรือทายาทของคนไข้เอง ก็ไม่ต้องการที่จะให้แพทย์ต้องรับโทษทางอาญา หากแพทย์ได้ใช้ความสามารถและความระมัดระวังในการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว แต่เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น บุคคลที่ต้องเสียหายย่อมต้องการที่จะได้รับการบรรเทาและเยียวยาจากความเสียหายนั้น และอาจเห็นว่าควรที่จะมีการฟ้องดำเนินคดีอาญากับแพทย์ ก่อนที่จะเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย ในต่างประเทศ บางประเทศจึงมีกองทุนชดเชยให้แก่ผู้เสียหายทางการแพทย์ หรือมีการประกันภัยกรณีที่แพทย์ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการรักษาคนไข้

ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ ควรจัดตั้งกองทุนค่าทดแทนผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาลเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่แพทย์และผู้เสียหาย ทั้งควรส่งเสริมให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำงานของแพทย์ และสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้เสียหาย นำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมโดยรวมต่อไป

โดย สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

ความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ผู้ได้กระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ในการพิสูจน์ว่าการกระทำของแพทย์นั้นเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่ โดยอาจจะขอความเห็นจากสภาวิชาชีพคือแพทยสภาหรือสภาการพยาบาล

ความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ท่านว่าผู้ต้องทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

ในการเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการกระทำของแพทย์โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดรายได้ จากการที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ? ในกรณีที่เสียชีวิต ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะจากบุคคลที่เสียชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานภาพทางสังคมของบุคคลนั้น





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow