INSURANCETHAI.NET
Sat 27/07/2024 12:15:16
Home » อัพเดทประกันภัย » วิธีการจัดการความเสี่ยงภัย\"you

วิธีการจัดการความเสี่ยงภัย

2016/01/24 1963👁️‍🗨️

วิธีการจัดการความเสี่ยงภัย ทำได้หลายรูปแบบดังนี้
1. การหลีกเหลี่ยงความเสี่ยงภัย ( Risk avoidance ) ทำได้โดยการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมหรืองาน ที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยนั้น เช่น กลัวเครื่องบินตก ก็ไม่ไปนั่งเครื่องบิน ไม่กล้านำเงินไปลงทุนธุรกิจ เพราะกลัวขาดทุน ก็นำเงินไปฝากธนาคาร หรือลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงภัยน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการหลีกเหลี่ยงความเสี่ยงภัยบางครั้งอาจให้ผลเสีย เพราะบางครั้งเราอาจปฏิเสธโครงการที่มีความเสี่ยงสูงแต่มีประโยชน์ต่อสังคม มาก เช่น โครงการโรงไฟฟ้าปรมาณู โรงงานอุตสาห-กรรมแร่สำคัญต่างๆ ที่มีความเสี่ยงภัยต่อการเกิดมลภาวะเป็นพิษ แต่มีคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูง ดังนั้นในบางครั้งการจัดการการเสี่ยงภัย โดยวิธีนี้ควรเป็นวิธีสุดท้าย

2. การลดความเสี่ยงภัย ( Risk Reduction ) ทำได้โดยอาจลดจำนวนครั้ง ( frequency ) หรือลดความรุนแรง (severity) ของการเกิดภัย ซึ่งทำได้ 3 วิธี คือ
2.1 การป้องกันการเกิดความเสียหาย ( Loss prevention ) โดยจะกระทำก่อนที่จะมีความเสียหายเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนสายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เก่า การติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในโรงงาน การตรวจสอบสภาพรถยนต์อยู่เสมอ การติดตั้งเครื่องดับเพลิง การติดตั้งสัญญาณการเตือนภัยกันขโมย เป็นต้น
2.2 การควบคุมความเสียหาย ( Loss control ) วิธีนี้จะทำการขณะ หรือ ภายหลังจากที่มีความเสียหายเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อควบคุมความรุนแรงของความเสียหายนั้นหรือลดความเสียหายลง เช่น การที่พนักงานดับเพลิงทำการดับเพลิงอย่างทันท่วงที การติดตั้งเครื่องพ่นน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ การที่ผู้เจ็บป่วยรีบไปหาหมอรักษา เพื่อไม่ให้มีอาการหนักมากขึ้น เป็นต้น
2.3 การแยกทรัพย์สิน ( Separation ) วิธีนี้จะกระทำก่อนเกิดความเสียหาย เช่น การเก็บของมีค่าไว้คนละแห่ง เช่น บ้าน ธนาคาร การสร้างโรงงาน และโกดังไว้คนละแห่ง เมื่อเกิดไฟไหม้จะไม่เสียหายทั้งหมด หรือการแยกสินค้าไว้หลายๆโกดังเช่นกัน

3. การรับการเสี่ยงภัยไว้เอง ( Risk retention ) คือ การที่เรายินยอมรับภาระความเสียหายไว้เองหากมีภัยเกิดขึ้น โดยจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และอาจจะรับภาระนี้ไว้ทั้งหมด หรือบางส่วนก็ได้ การจัดการการเสี่ยงภัยวิธีนี้มีเหตุผล คือ
3.1 ภัยที่เกิดขึ้นนั้นก่อให้เกิดความเสียหายน้อยมาก พอที่จะรับภาระได้ เช่น ภัยที่เกิดจากปากกาสูญหายซึ่งราคาไม่แพง
3.2 ความเสี่ยงภัยนั้นไม่สามารถโอนไปให้ผู้อื่นได้ เช่น การที่ผู้ส่งออกหรือผู้ลงทุนในต่างประเทศต้องยอมรับความเสี่ยงที่ทรัพย์สิน ของตนจะถูกรัฐบาลต่างประเทศยึด หรือ อายัด ด้วยสาเหตุต่างๆ
3.3 ได้พิจารณาแล้วว่า วิธีนี้เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

4. การโอนความเสี่ยงภัย ( Risk Transfer ) เป็น วิธีการจัดการการเสี่ยงภัยที่นิยมมากในปัจจุบันนี้ โดยการโอนความเสี่ยงภัยที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งหมด หรือ บางส่วน ไปให้บุคคลอื่นรับภาระแทน ซึ่งมีวิธีการกระทำได้ 2 วิธี

4.1 การโอนความเสี่ยงภัยไปให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่การประกันภัย ( Non-insurance Transfer ) หมายถึง การโอนความเสี่ยงภัยไปให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่บริษัทประกันภัยโดยสัญญา ซึ่งในสัญญาบางประเภทคู่สัญญา จะได้รับการโอนความเสี่ยงภัยในการปฏิบัติตามสัญญานั้นไปด้วย เช่น การจ้างบริษัทมาทำความสะอาดภายนอกอาคารที่สูงๆ การทำสัญญาซื้อ- ขายสินค้าล่วงหน้าโดยการกำหนดราคาที่แน่นอน ถึงแม้ว่าราคาจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม ก็จะต้องซื้อ – ขายในราคาเดิม การให้มีการค้ำประกันการทำงานของพนักงาน

4.2 การโอนความเสี่ยงภัยในรูปของการประกันภัย ( Insurance Transfer ) หมายถึง การโอนความเสี่ยงภัยไปให้บริษัทประกันภัย ในรูปของการเอาประกันไว้กับบริษัทประกันภัย โดยการทำสัญญาประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยสัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกัน ภัย สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น และได้รับการคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยนั้น เช่น การทำประกันรถยนต์ เป็นการโอนความเสี่ยงภัยในความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับรถยนต์ไปให้บริษัท ประกันภัย โดยสัญญาว่าหากรถยนต์เกิดอุบัติเหตุ เสียหาย บริษัทประกันภัยจะรับชดใช้ให้หรือ ซ่อมแซมให้ หรือ การทำประกันชีวิต โดยผู้เอาประกันเห็นว่า หากตัวเองประสบอันตรายถึงชีวิต จะทำให้ครอบครัวลำบาก จึงโอนความเสี่ยงภัยนี้ไปให้บริษัทประกันภัย โดยสัญญาว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงบริษัทจะชดใช้เงินจำนวนหนึ่งให้กับครอบครัว เป็นการบรรเทา ในเรื่องของความเป็นอยู่ที่ขาดรายได้จากสามี ซึ่งเป็นความเสี่ยงภัยอันหนึ่งเช่นกัน

how-to-manage-risk





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow