INSURANCETHAI.NET
Fri 29/03/2024 5:03:08
Home » อัพเดทประกันภัย » กฎกระทรวง กำหนดลักษณะ / ขนาด / กำลังเครื่องยนต์ /รถที่รับจดทะเบียน\"you

กฎกระทรวง กำหนดลักษณะ / ขนาด / กำลังเครื่องยนต์ /รถที่รับจดทะเบียน

2017/07/17 3764👁️‍🗨️

กฎกระทรวง กำหนดลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถที่จะรับจดทะเบียน เป็นรถประเภทต่างๆ พ.ศ. ๒๕๔๘

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ (๑) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิก
(๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒
(๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒
(๓) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒
(๔) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒
(๕) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒
(๖) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒
(๗) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๖ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒

ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้
“ช่วงล้อ” หมายถึง ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดหรือศูนย์กลางสลักพ่วงของรถกึ่งพ่วง ถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายในกรณีที่เพลาล้อท้ายเป็นเพลาคู่
“ความกว้าง” หมายถึง ระยะระหว่างด้านข้างของรถด้านหนึ่งถึงด้านข้างอีกด้านหนึ่งที่กว้างที่สุดของรถ ทั้งนี้ โดยให้รวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถังด้วย เว้นแต่กระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ
“ความสูง” หมายถึง ระยะเมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ โดยไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ยืดหยุ่นได้ ในกรณีเป็นความสูงภายใน ให้วัดจากพื้นรถส่วนที่ใช้วางเท้าถึงส่วนต่ำสุดของเพดานห้องโดยสารของรถ
“ความยาว” หมายถึง ระยะระหว่างกันชนหน้าหรือส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถโดยไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถและแขนพ่วง
“ส่วนยื่นท้าย” หมายถึง ระยะระหว่างส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุก โดยไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายในกรณีที่เพลาล้อท้ายเป็นเพลาคู่

ข้อ ๓ รถที่จะรับจดทะเบียนต้องมีลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถดังต่อไปนี้
(๑) รถยนต์สาธารณะ
(ก) รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด ต้องเป็นรถเก๋งสองตอน รถเก๋งสองตอนแวนรถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสองตอน รถยนต์นั่งสองตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอนรถยนต์นั่งสามตอนแวน หรือรถลักษณะอื่นตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ มีประตูไม่น้อยกว่าสี่ประตู ความกว้างไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร ความยาวไม่เกิน ๖ เมตร ความสูงไม่เกิน ๒ เมตรเครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่ต่ำกว่า ๑,๕๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร
ในกรณีที่เป็นรถยนต์นั่งสองตอน รถยนต์นั่งสองตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน หรือรถยนต์นั่งสามตอนแวน เบาะนั่งต้องมีระยะห่างจากพื้นถึงส่วนบนสุดของเบาะนั่งไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตรและมีระยะห่างจากส่วนต่ำสุดของเบาะนั่งถึงเพดานไม่น้อยกว่า ๘๕ เซนติเมตร
(ข) รถยนต์รับจ้าง ต้องมีลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถเช่นเดียวกับ (ก) และต้องมิได้ติดตั้งระบบควบคุมการปิดเปิดประตูรถจากศูนย์กลาง (CENTRAL LOCK) กระจกกันลมต้องเป็นกระจกที่โปร่งใสสามารถมองเห็นสภาพภายในรถและสภาพการจราจรภายนอกรถได้ชัดเจน และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือการติดวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดที่กระจกกันลมด้านหน้าตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด
(ค) รถยนต์รับจ้างสามล้อ ต้องมีลักษณะประทุน โดยมีที่นั่งสองตอนหรือสองแถวความกว้างไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ความยาวไม่เกิน ๔ เมตร ความสูงไม่เกิน ๒ เมตร ความสูงภายในไม่น้อยกว่า ๑.๒๐ เมตร เครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน ๖๖๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร
(ง) รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง ต้องเป็นรถสองตอน มีประตูไม่น้อยกว่าสองประตูความกว้างไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ความยาวไม่เกิน ๔ เมตร ความสูงไม่เกิน ๒ เมตร ความสูงภายในไม่น้อยกว่า ๑.๒๐ เมตร เครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน ๘๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร
(๒) รถยนต์บริการ ต้องมีลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถเช่นเดียวกับ (๑) (ก)
(๓) รถยนต์ส่วนบุคคล
(ก) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน ต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร ความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร ความสูงไม่เกิน ๔ เมตร กรณีที่รถมีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ให้มีความสูงได้ไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร
(ข) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน ต้องมีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับ (ก) และต้องมีความสูงภายในไม่น้อยกว่า ๑.๖๐ เมตร เว้นแต่รถนั้นมีความยาวตลอดช่องทางเดินไม่เกิน ๒ เมตร ความสูงภายในจะน้อยกว่า ๑.๖๐ เมตร ก็ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๑.๒๐ เมตร
ในกรณีที่รถมีแถวที่นั่งติดกับประตูทางขึ้นลงและแถวที่นั่งนั้นมีที่นั่งเรียงติดต่อกันไม่เกินสามที่นั่ง เมื่อวัดในแนวดิ่งจากส่วนต่ำสุดของเพดานรถถึงกึ่งกลางของเบาะที่นั่งแต่ละที่นั่งต้องมีระยะห่างไม่น้อยกว่า ๙๐ เซนติเมตร
(ค) รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร ความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร ความสูงไม่เกิน ๔ เมตร กรณีที่รถมีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ให้มีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร ส่วนยื่นท้ายต้องไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ เว้นแต่ตัวถังส่วนที่บรรทุกเป็นกระบะบรรทุกส่วนยื่นท้ายต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ
(ง) รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล ต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒ เมตร ความยาวไม่เกิน ๔ เมตร ความสูงไม่เกิน ๒ เมตร เครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน ๖๖๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร
ส่วนยื่นท้ายของรถตาม (ก) และ (ข) ต้องไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ และไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อสำหรับรถที่มีทางขึ้นลงของผู้โดยสารด้านท้าย
ความสูงของรถตาม (ก) (ข) และ (ค) ต้องไม่ทำให้รถมีการทรงตัวได้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด
(๔) รถจักรยานยนต์
(ก) รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ต้องมีความกว้างไม่เกิน ๑.๑๐ เมตร ความยาวไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร ความสูงไม่เกิน ๒ เมตร กรณีที่เครื่องยนต์มีความจุในกระบอกสูบรวมกันเกินกว่า ๒๕๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้มีความยาวได้ไม่เกิน ๓ เมตร ถ้ามีพ่วงข้าง รถพ่วงของรถจักรยานยนต์ต้องมีความกว้างไม่เกิน ๑.๑๐ เมตร ความยาวไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร ความสูงไม่เกิน ๒ เมตร และเมื่อนำมาพ่วงกับรถจักรยานยนต์แล้ว ต้องมีความกว้างวัดจากขอบยางด้านนอกสุดของล้อหลังรถจักรยานยนต์ถึงขอบยางด้านนอกสุดของล้อรถพ่วงไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร
(ข) รถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องมีความกว้างไม่เกิน ๑.๑๐ เมตร ความยาวไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร ความสูงไม่เกิน ๒ เมตร เครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน ๑๒๕ ลูกบาศก์เซนติเมตร
(๕) รถพ่วง ต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร ความยาวไม่รวมแขนพ่วงไม่เกิน ๘ เมตร ส่วนยื่นท้ายต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ความสูงไม่เกิน ๔ เมตร เว้นแต่รถมีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ให้มีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร กรณีที่เป็นรถพ่วงชนิดที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกเฉลี่ยลงบนรถลากจูงมากกว่าร้อยละสิบของน้ำหนักรวมสูงสุด ต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร ความยาวไม่เกิน ๑๔ เมตร เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุด โดยระยะจากศูนย์กลางของสลักพ่วงถึงส่วนท้ายสุดต้องไม่เกิน ๑๒ เมตร และเมื่อวัดจากศูนย์กลางสลักพ่วงถึงส่วนหน้าสุดของรถต้องไม่เกิน ๒ เมตร กรณีที่รถมีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ให้มีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร ความสูงของรถต้องไม่ทำให้รถมีการทรงตัวได้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด
(๖) รถบดถนน ต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร ความยาวไม่เกิน ๘ เมตร ความสูงไม่เกิน ๔ เมตร
(๗) รถแทรกเตอร์ ต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร ความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร ความสูงไม่เกิน ๔ เมตร กรณีที่รถมีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ให้มีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร

ข้อ ๔ ในกรณีที่รถตามข้อ ๓ (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) และ (๗) ขับเคลื่อนด้วยพลังงานอย่างอื่นนอกจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน กำลังของเครื่องยนต์ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด

ข้อ ๕ ตัวถังของรถตามกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่รถจักรยานยนต์ ด้านข้างจะยื่นเกินกว่าขอบยางด้านนอกสุดของเพลาล้อท้ายหรือกลุ่มเพลาล้อท้าย ในกรณีที่เพลาล้อท้ายมีมากกว่าหนึ่งเพลาได้ไม่เกินด้านละ ๑๕ เซนติเมตร และขอบยางด้านนอกสุดต้องไม่ยื่นเกินกว่าตัวถังรถ เว้นแต่ได้จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายและความเสียหายอันเกิดจากการหมุนของล้อรถนั้นแล้ว

ข้อ ๖ ในกรณีจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานเฉพาะกิจ รถในข้อ ๓ (๓) (๕) (๖) และ (๗) อาจมีตัวถัง เครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบหรือมีช่วงล้อ ขนาดของรถ หรือส่วนยื่นท้ายไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก

ข้อ ๗ ผู้ที่มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถผู้ใดประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถสำหรับรถประเภทต่างๆ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยหลักฐานดังต่อไปนี้
(๑) ใบคู่มือจดทะเบียนรถ
(๒) บัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอย่างอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายของบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานดังกล่าว
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถสำหรับรถประเภทต่างๆ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด

ข้อ ๘ เมื่อนายทะเบียนอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถแล้ว ให้นายทะเบียนจัดการแก้ไขเพิ่มเติมทะเบียนรถและใบคู่มือจดทะเบียนรถที่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถให้ถูกต้อง

ข้อ ๙ กฎกระทรวงนี้ไม่ใช้บังคับกับรถที่จดทะเบียนก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
คำขอที่ได้ยื่นไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือเป็นคำขอตามกฎกระทรวงนี้
ในการเปลี่ยนแปลงลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถสำหรับรถประเภทต่างๆ สำหรับรถที่จดทะเบียนก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนพิจารณาอนุญาตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๖ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒

ข้อ ๑๐ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการกำหนดลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถที่จะรับจดทะเบียนเป็นรถประเภทต่างๆ ยังไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ สมควรปรับปรุงเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

กฎกระทรวงฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๗ (พ.ศ. ๒๕๔๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๑๐ รถยนต์รับจ้างตามกฎกระทรวงนี้ให้มีอายุการใช้งานได้ไม่เกินเก้าปีนับแต่วันที่รถยนต์นั้นจดทะเบียนครั้งแรก”

ข้อ ๒ รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และมีอายุการใช้งานยังไม่ถึงสิบสองปี นับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก ให้ใช้รถยนต์รับจ้างนั้นต่อไปได้จนกว่าจะครบสิบสองปีนับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันได้กำหนดให้รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานครมีอายุการใช้งานได้ไม่เกินสิบสองปีนับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก ซึ่งจากผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปรากฏว่าอายุการใช้งานที่เหมาะสมทั้งทางด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม สำหรับรถยนต์รับจ้างดังกล่าวควรกำหนดไว้ไม่เกินเก้าปี ดังนั้น เพื่อแก้ไขอายุการใช้งานของรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนจากสิบสองปีเป็นเก้าปี จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

กฎกระทรวงฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๗ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๗ รถยนต์รับจ้างตามกฎกระทรวงนี้ให้มีอายุการใช้งานได้ไม่เกินเก้าปี นับแต่วันที่รถยนต์นั้นจดทะเบียนครั้งแรก”

ข้อ ๒ รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และมีอายุการใช้งานยังไม่ถึงสิบสองปี นับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก ให้ใช้รถยนต์รับจ้างนั้นต่อไปได้จนกว่าจะครบสิบสองปีนับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันได้กำหนดให้รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครมีอายุการใช้งานได้ไม่เกินสิบสองปีนับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก ซึ่งจากผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปรากฏว่าอายุการใช้งานที่เหมาะสมทั้งทางด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม สำหรับรถยนต์รับจ้างดังกล่าวควรกำหนดไว้ไม่เกินเก้าปี ดังนั้น เพื่อแก้ไขอายุการใช้งานของรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนจากสิบสองปีเป็นเก้าปี จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

กฎกระทรวง
กำหนดเครื่องแต่งกาย เครื่องหมาย ประวัติคนขับรถบัตรประจำตัวคนขับรถ
และการแสดงบัตรประจำตัวคนขับรถยนต์สาธารณะรถยนต์บริการธุรกิจ
รถยนต์บริการทัศนาจร และรถจักรยานยนต์สาธารณะพ.ศ. ๒๕๔๘

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ (๑๕) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๔๗ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒

ข้อ ๒ ในขณะขับรถรับจ้าง คนขับรถยนต์สาธารณะต้องแต่งกายให้สะอาด สุภาพเรียบร้อย และรัดกุมด้วยเครื่องแต่งกาย ดังต่อไปนี้
(๑) เสื้อเชิ้ตคอพับแขนยาวหรือแขนสั้น ไม่มีลวดลาย การสวมเสื้อให้สอดชายล่างของเสื้ออยู่ภายในกางเกง
(๒) กางเกงขายาวสีเดียวกับเสื้อและไม่มีลวดลาย โดยสีกางเกงอาจจะเข้มกว่าสีเสื้อก็ได้
(๓) รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ
(๔) ในกรณีที่จะสวมหมวกต้องเป็นหมวกทรงหม้อตาล สีเดียวกับสีเสื้อ

ข้อ ๓ ในขณะขับรถรับจ้าง คนขับรถยนต์บริการธุรกิจและรถยนต์บริการทัศนาจรต้องแต่งกายให้สะอาด สุภาพเรียบร้อยและรัดกุม ด้วยเครื่องแต่งกาย ดังต่อไปนี้
(๑) เสื้อเชิ้ตคอตั้งหรือคอพับ แขนยาวหรือแขนสั้น ไม่มีลวดลาย การสวมเสื้อให้สอดชายล่างของเสื้ออยู่ภายในกางเกง ยกเว้นเสื้อที่โดยสภาพไม่ต้องสอดชายล่างให้อยู่ภายในกางเกง
(๒) กางเกงขายาวสีเดียวกับเสื้อและไม่มีลวดลาย โดยสีกางเกงอาจจะเข้มกว่าสีเสื้อก็ได้
(๓) รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ
นอกจากเครื่องแต่งกายที่กำหนดตามวรรคหนึ่งแล้ว คนขับรถอาจแต่งกายตามแบบที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกก็ได้

ข้อ ๔ ในขณะขับรถรับจ้าง คนขับรถจักรยานยนต์สาธารณะต้องแต่งกายให้สะอาด สุภาพ เรียบร้อย และรัดกุม ด้วยเครื่องแต่งกาย ดังต่อไปนี้
(๑) เสื้อแขนยาวหรือแขนสั้น การสวมเสื้อให้สอดชายล่างของเสื้ออยู่ภายในกางเกง ยกเว้นเสื้อที่โดยสภาพไม่ต้องสอดชายล่างให้อยู่ภายในกางเกง
(๒) เสื้อกั๊กหรือเสื้อคลุมตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด
(๓) กางเกงขายาวทรงสุภาพ
(๔) รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ

ข้อ ๕ ในขณะขับรถรับจ้าง คนขับรถยนต์สาธารณะต้องติดเครื่องหมาย ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อตัวและสกุลของผู้ขับรถยนต์เป็นภาษาไทย ขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ เซนติเมตร ตัวอักษรต้องเป็นแบบตัวพิมพ์ อ่านได้ง่าย โดยเย็บติดหรือปักไว้ที่อกเสื้อด้านซ้าย สีของตัวอักษรให้ตัดกับสีเสื้อ
(๒) เครื่องหมายตาม (๑) ต้องติดให้มองเห็นได้ชัดเจน มิให้มีสิ่งใดปิดบังไว้

ข้อ ๖ ในขณะขับรถรับจ้าง คนขับรถยนต์บริการธุรกิจและรถยนต์บริการทัศนาจรต้องติดเครื่องหมาย ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อตัวและสกุลของผู้ขับรถยนต์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ เซนติเมตร ตัวอักษรต้องเป็นแบบตัวพิมพ์ อ่านได้ง่าย โดยเย็บติดหรือปักไว้ที่อกเสื้อด้านซ้าย สีของตัวอักษรให้ตัดกับสีเสื้อ
(๒) เครื่องหมายตาม (๑) ต้องติดให้มองเห็นได้ชัดเจน มิให้มีสิ่งใดปิดบังไว้

ข้อ ๗ ในขณะขับรถรับจ้าง คนขับรถจักรยานยนต์สาธารณะต้องติดเครื่องหมาย ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อตัวและสกุลของผู้ขับรถจักรยานยนต์เป็นภาษาไทย ขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ เซนติเมตร ตัวอักษรต้องเป็นแบบตัวพิมพ์ อ่านได้ง่าย โดยเย็บติดหรือปักไว้ที่อกเสื้อด้านซ้ายของเสื้อกั๊กหรือเสื้อคลุม สีของตัวอักษรให้ตัดกับสีเสื้อ
(๒) ที่ด้านหลังเสื้อกั๊กหรือเสื้อคลุม มีชื่อสถานที่รอรับคนโดยสารและหมายเลขประจำตัวคนขับรถตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด โดยแสดงที่ด้านหลังของเสื้อกั๊กหรือเสื้อคลุม
(๓) เครื่องหมายตาม (๑) และ (๒) ต้องติดให้มองเห็นได้ชัดเจน มิให้มีสิ่งใดปิดบังไว้
ข้อ ๘ ให้เจ้าของรถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจรและรถจักรยานยนต์สาธารณะจัดทำประวัติคนขับรถตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด

ข้อ ๙ ผู้ใดประสงค์จะขอรับบัตรประจำตัวคนขับรถ เพื่อขับรถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการธุรกิจ และรถยนต์บริการทัศนาจร ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(๑) ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะหรือใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ หรือใบแทนใบอนุญาตขับรถดังกล่าว พร้อมด้วยภาพถ่าย
(๒) รูปถ่ายขนาด ๕ x ๖.๕ เซนติเมตร จำนวน ๓ รูป ซึ่งเป็นรูปถ่ายครึ่งตัวหน้าตรง ไม่สวมหมวกหรือแว่นตาสีเข้ม และไม่ใส่ผ้าคลุมใบหน้าหรือผ้าโพกศีรษะ เว้นแต่ผู้ซึ่งมีความจำเป็นตามศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมของศาสนาของตน และถ่ายก่อนวันยื่นคำขอไม่เกินหกเดือน
ข้อ ๑๐ ผู้ใดประสงค์จะใช้ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เพื่อขับรถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการธุรกิจ และรถยนต์บริการทัศนาจร ให้ยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวคนขับรถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(๑) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หรือใบแทนใบอนุญาตขับรถดังกล่าวพร้อมด้วยภาพถ่าย
(๒) บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยภาพถ่าย
(๓) สำเนาทะเบียนบ้านหรือภาพถ่าย
(๔) รูปถ่ายตามที่กำหนดในข้อ ๙ (๒)

ข้อ ๑๑ ผู้ขอรับบัตรประจำตัวคนขับรถตามกฎกระทรวงนี้ ต้องยื่นคำขอตามสถานที่ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด

ข้อ ๑๒ ผู้ขอรับบัตรประจำตัวคนขับรถต้องผ่านการอบรมหรือทดสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด

ข้อ ๑๓ บัตรประจำตัวคนขับรถให้เป็นไปตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๑๔ ให้คนขับรถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการธุรกิจ และรถยนต์บริการทัศนาจรแสดงบัตรประจำตัวคนขับรถ โดยใส่กรอบติดไว้ภายในรถด้านหน้าตอนบน และด้านหลังของพนักพิงที่นั่งตอนหน้าในลักษณะที่ผู้โดยสารสามารถมองเห็นได้ชัดเจน และมิให้มีสิ่งใดปิดบังไว้

ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่กำหนดเครื่องแต่งกาย เครื่องหมาย และการแสดงบัตรประจำตัวคนขับรถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการธุรกิจ และรถยนต์บริการทัศนาจร ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้วประกอบกับมาตรา ๕ (๑๕) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้ออกกฎกระทรวงกำหนดเครื่องแต่งกาย เครื่องหมาย ประวัติคนขับรถ บัตรประจำตัวคนขับรถ และการแสดงบัตรประจำตัวคนขับรถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร และรถจักรยานยนต์สาธารณะ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ

no related articles to display.




up arrow