INSURANCETHAI.NET
Tue 12/11/2024 9:09:47
Home » อัพเดทประกันภัย » แก้ กรมธรรม์ แยก ค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ระหว่างซ่อม\"you

แก้ กรมธรรม์ แยก ค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ระหว่างซ่อม

2017/12/23 877👁️‍🗨️
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ระหว่างซ่อม เป็นปัญหามาช้านาน มิได้กำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ในการจ่าย ตรงตามสภาพความเสียหายจริง

ข้อพิพาทสินไหม ประกันภัยรถยนต์ เรื่อง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม ปัญหาเรื้อรัง ตกลงกันไม่ได้จะจ่ายเท่าไหร่ อย่างไร ก็ได้แนวทางแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น

งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ประกันภัยรถยนต์ ประจำปี ระหว่าง คปภ. สมาคมประกันวินาศภัย และบริษัทประกันวินาศภัย เมื่อเร็วๆ นี้ มีการหารือกันถึง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ที่กำลังมีปัญหาและต้องแก้ไข

สรุปของการสัมมนา

– จะมีการแก้ไขกรมธรรม์ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ในส่วนความรับผิดต่อบุคคลภายนอก แยกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ และค่าเสื่อมราคาออกมาต่างหาก
– กำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ในการจ่าย
เช่น ค่าขาดประโยชน์จะกำหนดต้องจ่ายอย่างไร ขั้นต่ำเท่าไหร่ จ่ายกี่วัน สูงสุดเท่าไหร่ จ่ายตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน เป็นต้น
ซึ่งจะส่งผลไปถึงเบี้ย ประกันภัย เป็นธรรม และคิดได้ถูกต้อง ตรงตามสภาพความเสียหายจริง

“วันนี้ในกรมธรรม์ ในเรื่องความรับผิดตามกรมธรรม์ของผู้ขับขี่ ที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย หากรถยนต์ คู่กรณีเสียหาย ไม่ได้เขียนต้องรับผิดเท่าไหร่ บริษัทต้องจ่ายค่าขาดประโยชน์เท่าไหร่ จ่ายกี่วัน ไม่ได้กำหนด เลยเกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ ถ้าจะต้องไปศาลให้เป็นผู้ตัดสินก็เสียเวลา เลยมีการเจรจากันข้างนอก พอเจรจาก็ไม่มีมาตรฐานการเจรจา เพราะที่มีอยู่กำหนดแค่คร่าวๆ เช่น รถบ้านจ่ายเท่าไหร่ การเรียกร้องของผู้เสียหายเท่าไหร่ เป็นกรอบหลวมๆ จะให้ออกเป็นคำสั่งนายทะเบียนกำหนดตายตัวก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้ค่าเสียหายจริงเท่าไหร่”

ทุกวันนี้เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ มีมากถึง 50% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด โดยมีกลุ่มคนที่มาหากินทางการเรียกร้อง ไปซื้อสิทธิ์เรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้จากผู้เสียหาย แล้วมาดำเนินการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์เพิ่มเติมจากบริษัท ประกันภัย โดยวงเงินที่เรียกร้องสูงกว่าที่จ่ายให้กับผู้เสียหายเช่น แท็กซี่ถูกชน ก็จะจ่ายค่าซ่อมให้กับแท็กซี่ไป 8,000 บาท และให้แท็กซี่มอบอำนาจให้เพื่อไปเรียกร้องค่าขาดประโยชน์เอาจากบริษัท ประกันภัย ในวงเงินที่สูงกว่าค่าซ่อมที่จ่ายไป โดยที่แท็กซี่เองก็ไม่รู้ว่าสามารถเรียกค่าขาดประโยชน์ได้

ระยะเวลาในการแก้ไขเงื่อนไขในกรมธรรม์

จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ของสมาคมฯ ต้องเสนอขอแก้ไขเข้ามาที่ คปภ. เพื่อให้นายทะเบียนเห็นชอบในการปรับปรุงแก้ไขในกรมธรรม์ ซึ่งนายทะเบียนอาจตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อร่วมพิจารณา ซึ่งก็คงต้องพูดคุยกันในเรื่อง หากพิจารณาเสร็จ ก็เสนอนายทะเบียนอนุมัติให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

“จริงๆ แล้วทั้ง คปภ. บริษัทประกันภัย และผู้เอาประกันภัย ควรจะรู้ตั้งแต่แรกว่า เมื่อซื้อความรับผิดบุคคลภายนอก ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ บริษัท ประกันภัย จะต้องรับผิดในส่วนนี้เท่าไหร่ ซึ่งหากรู้จะทำให้ปัญหาลดลงไปได้มาก จากในตอนนี้ทางผู้เอาประกันภัย ผู้เสียหาย กระทั่งบริษัท ประกันภัย เอง ก็ไม่รู้ต้องจ่ายเท่าไหร่”

ค่าเสื่อมราคารถยนต์

การซ่อมจะทำให้มูลค่ารถยนต์ลดลง เช่น …
ก่อนถูกชนขายได้ 500,000 บาท เมื่อซ่อมเสร็จแล้วให้เต็นท์รถตีราคา อาจจะเหลือแค่ 480,000 บาท โดย 20,000 บาทที่หายไปเป็นค่าเสื่อม

เรื่อง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ

ต้องทำความเข้าใจกับภาคธุรกิจว่า เป็นส่วนหนึ่งของความคุ้มครองของภาคสมัครใจ และจะต้องพิจารณาชดใช้ถ้าเสียหาย ซึ่งที่ถกกันคือ ความเสียหายคืออะไร ไม่ใช่ค่าแท็กซี่ หรือค่ารถโดยสารรถประจำทาง คือสิ่งที่คนเคยมีรถ เมื่อถูกรถที่มีประกันภัย ชนเอารถไปซ่อมที่อู่ เขาไม่มีรถใช้ บริษัท ประกันภัย ต้องเข้ามาดูแลชดเชยในส่วนนี้ให้กับเขา ไม่ใช่มาตีกันและบอกว่าเบิกได้เท่านั้นเท่านี้ไม่ได้ ต้องคำนวณจากต้นทุนที่เขาจะต้องหารถมาใช้ ซึ่งเพดานการจ่ายสูงสุดจะไม่เกินความเสียหายของทุนประกันภัยทรัพย์สิน

ไม่สามารถกำหนดวงเงินความเสียหายที่แน่นอนได้ เพราะเป็นเรื่องของการประมาณการ แต่อาจจะกำหนดเป็นราคากลางไว้ ถ้าผู้เอา ประกันภัย เช่น คนที่ไม่ได้ทำงานประจำ หาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถที่จะหาหลักฐานในสิ่งที่เสียหายมาแสดงได้ บริษัท ประกันภัย สามารถเอาราคากลางมาเสนอได้ อาทิ ชดเชย 300-500 บาทต่อวัน เป็นต้น ซึ่งหากผู้เสียหายยอมรับค่ากลางก็ไม่มีปัญหา

หากมีการจ่าย ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเยอะ ทำให้อัตราสินไหมทดแทน (Loss Ratio) เพิ่มขึ้นในอนาคตจะกระทบไปที่เบี้ยประกันภัยเอง โดยเบี้ยประกันภัย ที่นายทะเบียนให้ไว้ในขณะนี้ เพียงพอที่จะคลุม Loss ปัจจุบันได้ แต่ถ้าในอนาคต Loss สูงขึ้น นายทะเบียนก็มาพิจารณาเบี้ย ประกันภัยใหม่

นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย
เห็นด้วยในแนวทางที่จะแก้ไขเงื่อนไขในกรมธรรม์ ประกันภัยรถยนต์ เพื่อแยกค่าขาดประโยชน์และค่าเสื่อมราคาออกมาต่างหาก พร้อมกับกำหนดให้ชัดเจนจ่ายเท่าไหร่ เช่น ค่าขาดประโยชน์รถเก๋งอาจจะเหมาจ่ายไปวันละ 1,000 บาท รถบรรทุก 2,000 บาท เป็นต้น ซึ่ง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ตามกฎหมายต้องรับผิด แต่เนื่องจากถ้อยคำเดิมไม่ชัดเจน รวมกันอยู่กับความรับผิดต่อบุคคลภายนอกทั้งหมด ถ้าทำให้ชัดเจน ประโยชน์ตกอยู่ที่ประชาชน ธุรกิจ ประกันภัย ต้องมีภาระเกิดขึ้นแน่นอน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกๆ ซึ่งต่อไปหากวงเงินความรับผิดในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ค่อยไปกำหนดเบี้ย ประกันภัย รองรับ

“เกิดความแฟร์ เพราะหากไปชน รถยนต์ ที่เขาใช้ทำมาหากินเสียหาย เช่น รถขายกับข้าว รถแท็กซี่ เขาทำมาหากินไม่ได้ ก็กระทบกับชีวิตของเขา สมมุติ รถแท็กซี่ เขามีค่าผ่อนเดือนละ 20,000 บาท เมื่อถูกชนถ้าต้องซ่อม 2 เดือน เท่ากับเขาใช้รถใช้ไม่ได้เลยตลอด 2 เดือน ขาดรายได้ไป ได้แค่ค่าซ่อม แต่ค่าผ่อนรถไม่มี ต้องหาทางชดเชยจ่ายให้เขาอย่างเป็นธรรม ดูเขาเสียหายอะไรบ้าง ต้องสร้างบรรทัดฐาน จะช่วยเรื่องการซ่อมรถให้เสร็จเร็วขึ้นด้วย บริษัท ประกันภัย เองก็ต้องเร่งให้ซ่อมเสร็จเร็วๆ จะปล่อยยืดเยื้อเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะจะมีค่าใช้จ่ายเรื่อง ค่าขาดประโยชน์ใช้รถ”

ประธานกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมฯ ให้ความเห็นว่า ค่าขาดประโยชน์ต้องคุยกันจะทำอย่างไร จะให้ระบุในกรมธรรม์ไปเลยก็ดี จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกันเหมือนปัจจุบัน ถ้าจะกำหนดชัดเจน การคิดเบี้ย ประกันภัย ต้องพิจารณารอบด้าน การระบุยังไม่แน่ใจต้องคุยกัน เช่น วันละ 500 บาท เกิดผู้เสียหายบอกแค่นี้ไม่พอ ยังจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอีกจะทำอย่างไร ปัญหาก็ไม่จบ ซึ่งหากมีกำหนดค่าขาดประโยชน์ออกมา ต้องเป็นที่ยอมรับกันระหว่างธุรกิจ ประกันภัย และ คปภ. ผู้เสียหายไม่สามารถไปเรียกร้องเพิ่มได้อีก

“ถ้าแบบนี้แล้วยอมรับก็จบ แต่วันนี้พอไม่ได้ก็จะไปร้องเรียนที่ คปภ.บ้าง สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) บ้าง ถ้า คปภ.บอกแค่นี้ ประกันภัย ก็เห็นด้วยก็จบ เร็วดี ลดปัญหาร้องเรียน แฟร์กับคนทั่วไป การกำหนดชัดเจน 100% คงเป็นไปไม่ได้ ดูสามัญชนทั่วไปแบบนี้ควรได้กี่วัน เช่น รถเก๋ง รถแท็กซี่ รถปิกอัพ ค่าเสียหายเกิน 50% ต้องบวกค่าเสื่อมสภาพเข้าไปด้วย จริงๆ แล้วการระบุไปจำกัดความรับผิด ผู้ละเมิดต้องรับผิดถ้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มได้เขาก็ฟ้อง เป็นอีกจุดนึงที่ห่วง ต้องมาคุยกัน จะคุยกับสมาชิกก่อนแล้วค่อยคุยกับ คปภ.”

ทั่วโลกไม่มีการกำหนดจ่ายเท่านั้นเท่านี้ ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน คำตัดสินที่ออกมาเป็นบรรทัดฐาน ต้องพิสูจน์เสียหายเท่าไหร่ ความสูญเสียไม่เท่ากัน ซึ่งในต่างประเทศก็เกิดปัญหาแบบนี้มานานแล้ว





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow