INSURANCETHAI.NET
Tue 17/09/2024 21:50:36
Home » ประกันภัย(ประกันวินาศภัย) » สาระสำคัญของสัญญาประกันภัย\"you

สาระสำคัญของสัญญาประกันภัย

2014/12/26 1551👁️‍🗨️

1. เป็นสัญญาต่างตอบแทน
เมื่อคู่กรณีแสดงเจตนาจะเอาประกันภัยและรับประกันภัยถูกต้องตรงกัน สัญญาประกันภัยเกิดขึ้น ผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยประกันเป็นค่าตอบแทนที่ผู้รับประกันเข้าเสี่ยงภัยแทน ในขณะเดียวกันหากเกิดวินาศภัยในอนาคตผู้รับประกันต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ อันมีลักษณะเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน ตามม.369

2. เป็นสัญญาที่ไม่มีผลบังคับแน่นอน
สัญญาประกันภัยจะแตกต่างจากสัญญาต่างตอบแทนประเภทอื่น คือ เป็นสัญญาที่อาศัยเหตุการณ์ไม่แน่นอน หรือเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไข เช่น ประกันอัคคีภัยบ้าน 20 ปี ตลอดเวลาประกันไม่เคยเกิดไฟไหม้เลย ผู้รับประกันไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่ผู้เอาประกันต้องจ่ายเบี้ยประกัน หรือ ผู้รับประกันอาจเสียค่าสินไหมทดแทนกรณีไฟไหม้ภายใน 20 ปี ดังนั้นผลบังคับของสัญญาจึงไม่แน่นอน

3. เป็นสัญญาที่ต้องการความซื่อสัตย์อย่างยิ่ง
การใช้สิทธิของบุคคลกฎหมายบัญญัติให้กระทำโดยสุจริตตามม. 5 คู่สัญญาไม่มีหน้าที่จะต้องเปิดเผยถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ เพราะถือเป็นสิทธิของแต่ละฝ่ายที่จะต่อรองให้เกิดผลดีแก่ตนมากที่สุด เว้นแต่ถ้าคู่กรณีนิ่งเสีย ไม่ไขข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันใดอันหนึ่งซึ่งคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่รู้และได้ทำสัญญาโดยหลงเชื่อ ก็ถือเป็นกลฉ้อฉลได้ แต่สัญญาจะตกเป็นโมฆียะ ตามม. 162 เมื่อปรากฏว่าการนิ่งเฉยนั้นถึงขนาดถ้าไม่นิ่งเสียคู่กรณีอีกฝ่ายไม่ยอมทำสัญญาด้วย ในส่วนสัญญาประกันภัยต้องการความซื่อสัตย์สุจริตสูงขึ้นอีก โดยเพียงนิ่งเฉยไม่เปิดเผยความจริงซึ่งอาจทำให้ผู้รับประกันเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่ยอมทำสัญญาหรือเพียงแค่แถลงเท็จเท่านั้น สัญญาตกเป็นโมฆียะตามม. 865 สัญญาประกันภัยจึงมีลักษณะพิเศษที่กฎหมายบังคับให้คู่สัญญาฝ่ายเอาประกันมีหน้าที่ต้องชี้แจงแสดงข้อบกพร่องของตนให้ผู้รับประกันทราบ เนื่องจากผู้รับประกันต้องเข้าเสี่ยงภัยแทนจึงต้องทราบข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจ จึงกำหนดให้ผู้เอาประกันมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลนั้น เรียกหลักนี้ว่า หลักสุจริตอย่างยิ่ง

4. เป็นสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
ม. 867 วรรคแรก บัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่”
สัญญาประกันภัยกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำตามแบบ หรือต้องทำเป็นหนังสือ กฎหมายเพียงบังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดมาแสดงเท่านั้น หมายความเฉพาะกรณีมีการเรียกร้องกันระหว่างคู่สัญญาเท่านั้นไม่รวมถึงบุคคลภายนอกด้วย ดังนั้นหากมีการเรียกร้องกันระหว่างผู้รับประกันกับบุคคลภายนอกก็ไม่อยู่ในบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง

ฎ. 5133/2542 สัญญาประกันภัย กฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้ ดังนั้น สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน
ส. ผู้จัดการจำเลย สาขาขอนแก่น มิได้เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจทำสัญญาประกันภัยแทนจำเลย ส. จึงไม่มีอำนาจรับประกันรถยนต์บรรทุกคันพิพาทไว้จากโจทก์ แต่การที่ ส. รับคำขอประกันภัยไว้การโจทก์ ก็เพียงเพื่อส่งคำสนองของโจทก์ให้แก่บริษัทจำเลยสำนักงานใหญ่ พิจารณาว่าจะรับประกันภัยได้หรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นคำสนองรับประกันภัย เมื่อบริษัทจำเลยสำนักงานใหญ่ เพิ่งได้รับคำเสนอของโจทก์เมื่อเวลา 13.55 นาฬิกา อันเป็นเวลาหลังที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทได้เกิดเหตุไปแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีคำสนองตอบรับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันพิพาทเมื่อใด จึงฟังไม่ได้ว่าขณะที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทเกิดอุบัติเหตุ จำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้แล้ว อันจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

ฎ 192/2524 กรมธรรม์ประกันภัยมิได้ปิดอากรแสตมป์แต่คดีนี้มิใช่กรณีบังคับระหว่างผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย เป็นเรื่องผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิมาฟ้องคนภายนอกไม่อยู่ในบังคับต้องมีเอกสารมาแสดงตาม ป.พ.พ. ม. 867 คำพยานของโจทก์ฟังได้โดยไม่ต้องอาศัยเอกสาร
กรมธรรม์ประกันภัย เป็นหนังสือสำคัญที่ผู้รับประกันออกให้แก่ผู้เอาประกัน กรมธรรม์ประกันภัยนั้นไม่ใช่สัญญาประกันภัย แต่อาจถือเป็นหลักฐานเป็นหนังสือได้ กรมธรรม์ประกันภัยต้องมีรายละเอียดตามที่กฎหมายระบุไว้ ตามม. 867 วรรค 3 และต้องมีข้อความตรงกับสัญญาประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัย เป็นเอกสารอย่างหนึ่งซึ่งผู้รับประกันภัยทำขึ้นเพราะเหตุที่ได้มีสัญญาต่อกันแล้ว ดังที่ มาตรา 867 วรรค 2 บัญญัติว่า “ ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง” ฉะนั้น กรมธรรม์ประกันภัยจึงขัดกับสัญญาประกันภัยไม่ได้ แต่ถ้าผู้รับประกันภัยออกกรมธรรม์ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ได้สัญญาไว้ก็อาจถือได้ว่าเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ ผู้เอาประกันภัย เมื่อได้รับกรมธรรม์นั้นแล้ว จะปฏิเสธข้อเสนอนั้นก็ได้ ถ้าไม่ปฏิเสธข้อเสนอนั้น อาจถือว่ายอมรับข้อความตามกรมธรรม์นั้นก็ได้ โดยพิจารณาจากพฤติการณ์อื่นๆประกอบ เช่น ไม่ทักท้วงไปยังผู้รับประกันภัยในเวลาอันควรหรือยินยอมปฏิบัติตามกรมธรรม์นั้นๆแล้ว
ในการวินิจฉัยปัญหา ถ้าต้องการวินิจฉัยว่า สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นแล้วหรือยังก็พิจารณาเรื่องคำเสนอคำสนองตามหลักนิติกรรมสัญญา แต่ถ้าจะวินิจฉัยปัญหาว่า สัญญาที่เกิดขึ้นแล้วนั้นมีข้อบังคับเงื่อนไข หรือข้อจำกัดอย่างไร ก็ต้องดูที่กรมธรรม์ประกันภัยประกอบด้วย ทั้งนี้เพราะข้อสัญญาและเงื่อนไขในการประกันภัยจำต้องถือตามกรมธรรม์ประกันภัยด้วย มิใช่เฉพาะเท่าที่ปรากฏในคำเสนอและคำสนองเท่านั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 1564 / 2525 สัญญาประกันภัยนั้น กฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้ เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือตัวแทนเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้ ดังนั้นสัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอ คำสนองถูกต้องตรงกัน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรค 2 กำหนดให้มีการส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย ฉะนั้นข้อสัญญาและเงื่อนไขในการประกันภัยจึงต้องถือตามกรมธรรม์ประกันภัยด้วย มิใช่เฉพาะที่ปรากฏในคำเสนอและคำสนองเท่านั้น
โจทก์ตอบรับคำขอประกันภัยของบริษัท อ. ในวันที่ 31 ตุลาคม 2521 และออกกรมธรรม์ประกันภัยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2521 ซึ่งตรงตามเจตนาในการทำสัญญาประกันภัย จึงหาเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรค 2 ไม่ ดังนั้นเมื่อนมข้นกระป๋องที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายระหว่างขนส่งลงเรือลำเลียงเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่เรือเดินทะเล ในขอบแห่งความรับผิดตามสัญญาประกันภัยในวันที่ 31 ตุลาคม 2521 และโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ก็ย่อมได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย

5. เป็นสัญญาซึ่งราชการควบคุม
โดยเหตุที่ฝ่ายผู้รับประกันเป็นผู้กำหนดแบบและรายละเอียดในกรมธรรม์ฝ่ายเดียว อาจเป็นช่องให้ประชาชนเสียเปรียบได้ง่าย กฎหมายจึงกำหนดมาตรการควบคุมตาม พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ม. 29 สรุปได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันต้องเป็นไปตามแบบและข้อคามที่นายทะเบียนเห็นชอบ รวมทั้งเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ด้วย นายทะเบียนมีอำนาจสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมกรมธรรม์บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow