INSURANCETHAI.NET
Thu 05/12/2024 7:43:00
Home » อัพเดทประกันภัย » กฎหมายลักษณะประกันภัย\"you

กฎหมายลักษณะประกันภัย

2017/03/02 3449👁️‍🗨️

กฎหมายลักษณะประกันภัย
A บททั่วไป
1. ประกันภัยคืออะไร ?
มาตรา 861 ได้วางหลักไว้ว่า “สัญญาประกันภัย คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้สินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ในกรณีมีวินาศภัยเกิดขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นตกลงจะส่งเงินเบี้ยประกันภัย”

โดยนัยของมาตรา 861 สามารถแยกหลักกฎหมายออกเป็น 2 หลักมาตรา
มาตรา 861 ได้วางหลักเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยไว้ว่า
“สัญญาประกันภัย คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้สินไหมทดแทนให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งในกรณีมีวินาศภัยเกิดขึ้น และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นตกลงจะส่งเงินเบี้ยประกันภัย”

มาตรา 861 ได้วางหลักเกี่ยวกับการประกันชีวิตไว้ว่า
“สัญญาประกันภัย คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งในเหตุอย่างอื่นในอนาคตซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นตกลงจะส่งเงินเบี้ยประกันภัย”

ซึ่งมีลักษณะสำคัญ 5 ประการ
1. เป็นสัญญาต่างตอบแทน
– ระหว่างใช้สินไหมทดแทน กับส่งเงินเบี้ยประกัน (กรณีประกันวินาศภัย)
– ระหว่างใช้เงินจำนวนหนึ่งที่ใช้ให้ กับส่งเงินเบี้ยประกัน (กรณีประกันชีวิต)
2. เป็นสัญญาเสี่ยงภัย
อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดเวลาใด
3. เป็นสัญญาที่ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ต้องแถลงความจริงเกี่ยวกับภัยที่เสี่ยงต่อผู้รับประกันภัย ตาม ม.865
4. เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ
แต่ถ้าจะฟ้องร้องบังคับคดีต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ตาม ม.867
5. เป็นสัญญาที่รัฐควบคุมดูแล
เพราะกระทบต่อความผาสุกและความปลอดภัยของสาธารณชน

2. ผู้เกี่ยวข้องกับสัญญาประกันภัย มีใครบ้าง ?
มาตรา 862 ได้กล่าวถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาประกันภัยไว้ชัดเจน ซึ่งประกอบด้วยบุคคล 3 ฝ่าย
(1) ผู้รับประกันภัย – คือคู่สัญญาฝ่ายที่ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้
(2) ผู้เอาประกันภัย – คือคู่สัญญาฝ่ายที่ตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
(3) ผู้รับประโยชน์ – กรณีประกันวินาศภัย คือบุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน ซึ่งอาจ
เป็นผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลอื่นตาม ม.374 , 375
– กรณีประกันชีวิต คือบุคคลผู้จะพึงได้รับเงินจำนวนหนึ่งที่ใช้ให้ ซึ่งอาจ
เป็นผู้เอาประกันภัย บุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวหรือธุรกิจ

3. ผู้เอาประกันต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยหรือไม่ ?
มาตรา 863 ได้วางหลักไว้ว่า
“ สัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้น ย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
สาระสำคัญ
(1) ผู้เอาประกันภัยจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้
(2) ส่วนได้เสียในเหตุประกันภัยนั้น จะต้องมีอยู่ในขณะที่เกิดสัญญาประกันภัย
(3) เมื่อมีส่วนได้เสียเช่นนั้น การประกันภัยย่อมผูกพันคู่สัญญา

คำอธิบาย
1. ผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย
(1) ผู้มีกรรมสิทธิ์ สิทธิ ประโยชน์ หรือความรับผิดตามกฎหมายซึ่งสามารถคำนวณหรือตีราคาเป็นจำนวนเงินได้
(2) ผู้มีความผูกพันกับวัตถุที่เอาประกันภัย
2. ผู้มีส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย กรณีประกันวินาศภัย ,มีหลักพิจารณาว่า
หากมีวินาศภัยเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สิน มีผลทำให้ผู้ใดได้รับความเสียหายบ้าง ซึ่งได้แก่
– ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน – ผู้เช่าซื้อ
– เจ้าหนี้ (เจ้าหนี้จำนำจำนอง) – ผู้รับประกันภัยต่อ
– ผู้รับเหมาก่อสร้าง – นายคลังสินค้า
3. ผู้มีส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย กรณีสัญญาประกันชีวิต ,มีหลักพิจารณาว่า
(1) ผู้เอาประกันภัยเอาประกันชีวิตตนเอง เขาคือผู้มีส่วนได้เสีย
(2) ผู้เอาประกันภัยเอาประกันชีวิตบุคคลอื่น ต้องมีความสัมพันธ์ถึงขนาดเรียกได้ว่ามีส่วน
ได้เสียในชีวิตของบุคคลอื่นนั้น ซึ่งได้แก่
– ผู้มีความสัมพันธ์ทางครอบครัว เช่น คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน เป็นต้น
– ผู้มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เช่น เจ้าหนี้กับลูกหนี้ นายจ้างกับลูกจ้าง เป็นต้น
4. การมีส่วนได้เสียในเหตุประกันภัยนั้น จะต้องมีอยู่ในขณะที่เกิดสัญญาประกันภัย ซึ่งหมายถึง ขณะที่ผู้รับประกันภัยเข้ารับความเสี่ยงตามที่ผู้เอาประกันภัยมีคำเสนอไปยังผู้รับประกันภัยนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีข้อพิจารณาอื่น ดังนี้
(1) ขณะมีคำเสนอ ยังมีส่วนได้เสีย แต่ขณะเกิดสัญญา ไม่มีส่วนได้เสียแล้ว ……..ผลคือ สัญญาประกันภัยไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาแล้ว
(2) ขณะมีคำเสนอ ยังไม่มีส่วนได้เสีย และไม่มีตลอดไปจนถึงขณะเกิดสัญญา …….ผลคือ สัญญาประกันภัยไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา ถึงแม้ว่าหลังเกิดสัญญาผู้เอาประกันจะกลายเป็นผู้มีส่วนได้
เสียแล้วก็ตาม
(3) ขณะมีคำเสนอ ยังมีส่วนได้เสีย และยังมีอยู่ตลอดไปจนถึงขณะเกิดสัญญา …….ผลคือ สัญญาประกันภัยมีผลผูกพันคู่สัญญาแล้ว ถึงแม้ว่าหลังเกิดสัญญาผู้เอาประกันจะกลายเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียแล้วก็ตาม

4. สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่ง หมายความว่าอย่างไร ?
มาตรา 865 ได้วางหลักไว้ว่า “ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก ให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วว่าแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จ สัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่ง นับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธิภายในกำหนดห้าปี นับแต่วันทำสัญญาก็ดี สิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

โดยนัยของมาตรา 865 ว.1 สามารถแยกหลักกฎหมายออกเป็น 2 หลักมาตรา ได้ดังนี้

มาตรา 865 ว.1 ได้วางหลักเกี่ยวกับประกันวินาศภัยไว้ว่า “ในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก ให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วว่าแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จ สัญญานั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 865 ว.1 ได้วางหลักเกี่ยวกับประกันชีวิตไว้ว่า “ในสัญญาประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้น รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก ให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วว่าแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จ สัญญานั้นเป็นโมฆียะ”

อธิบาย
1. ม.865 ว.1 บอกให้ทราบว่า สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่ง กล่าวคือ ต้องมีการเปิดเผยและแถลงความจริง
2. ผู้มีหน้าที่ต้องเปิดเผยและแถลงความจริงคือ
(1) กรณีประกันวินาศภัย …..ผู้เอาประกันภัย
(2) กรณีประกันชีวิต …..ผู้เอาประกันภัย หรือผู้ถูกเอาประกันภัย
3. เหตุที่จะทำให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะ เกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ
(1) รู้อยู่แล้วแต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยความจริง (การปกปิดความจริง)
(2) รู้อยู่แล้วว่าข้อความที่แถลงนั้นเป็นความเท็จ
4. ข้อความที่จะต้องเปิดเผยและแถลงความจริงนั้น จะต้องมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ
(1) ต้องเป็นข้อมูลที่ผู้รับประกันภัยต้องรู้ หรือควรจะรู้
(2) ต้องเป็นข้อมูลที่มีสาระสำคัญถึงขนาดว่า ถ้าผู้รับประกันภัยรู้จะปฏิเสธไม่ยอมรับ
ประกันภัย หรือหากรับประกันภัยก็จะเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น
5. ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ไม่ถือว่าเป็นข้อความสำคัญถึงขนาดทำให้ผู้รับประกันภัยเรียกเอาเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือเป็นเหตุบอกปัดไม่รับประกันภัย เช่น
– ป่วยเป็นโรคไส้เลื่อนมิใช่โรคอันตรายร้ายแรง เมื่อผ่าตัดแล้วอาจหายขาดได้
– รถเคยถูกชนมาก่อน แต่ผู้เอาประกันภัยมิได้เปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบ

6. ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ถือว่าข้อความอันเป็นสาระสำคัญถึงขนาดทำให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะ เช่น
– แถลงข้อความเท็จเรื่องอาชีพและเสียค่าเบี้ยประกันภัยเอง แต่ความจริงไม่มีอาชีพและ
ผู้รับประโยชน์เป็นผู้เสียค่าเบี้ยประกันภัย
– กรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับเดิม ผู้เอาประกันชีวิตมีสุขภาพแข็งแรง เมื่อต่ออายุกรมธรรม์
ผู้เอาประกันชีวิตทำใบรับรองว่าสุขภาพดีเช่นเดิม แต่ความจริงรู้อยู่ว่าป่วยเกี่ยวกับท้อง
และสุขภาพไม่สมบูรณ์ เป็นการปกปิดความจริง
– เคยเข้ารักษาตัวด้วยโรคมะเร็งในเม็ดโลหิตขาวไม่มีทางรักษาหาย แต่ปกปิดความจริง
– ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและปัสสาวะเป็นเลือด แต่ละเว้นไม่เปิดเผยความจริง
– ป่วยเป็นโรคมะเร็งและเคยเข้ารับการผ่าตัด แต่ปกปิดความจริงไว้
– ป่วยเป็นโรคตับแข็งและโรคในลำคออยู่ก่อน แต่ปกปิดความจริงไว้
– กรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความระบุว่า “ค่าเบี้ยประกันภัยจะต้องคิดตามจำนวนค่าแรงและ
เงินเดือน ตลอดทั้งรายได้อื่นที่ผู้เอาประกันจ่ายให้แก่ลูกจ้าง…” แต่ไม่ได้แจ้งจำนวนรายได้
ที่แท้จริงที่จ่ายให้ลูกจ้างไป เป็นการไม่เปิดเผยข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญ
– ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองซึ่งเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด แต่ปกปิดความจริงไว้
– รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคไตวายร้ายแรง แต่ละเว้นไม่เปิดเผยความจริง
– ป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคตับแข็ง แต่ละเว้นไม่เปิดเผยความจริง
– ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นโรคร้ายแรงรักษาไม่หาย แต่ปกปิดความจริงไว้
7. สัญญาประกันภัยที่ตกเป็นโมฆียะ ตาม ม.865 ว.1 นั้น ผู้รับประกันภัยสามารถบอกล้างได้ภายในกำหนดระยะเวลา ซึ่งระบุอยู่ใน ม.865 ว.2 ดังนี้
– ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ หรือ
– ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญา
8. ในทางตรงข้าม ถ้าปรากฏว่าผู้รับประกันภัยได้รู้หรือควรจะรู้ถึงข้อความที่ผู้เอาประกันภัยได้ปกปิดไว้ หรือที่ได้แถลงอันเป็นเท็จไว้ โดยใช้ความระมัดระวังสอดส่องเยี่ยงวิญญูชน สัญญาประกันภัยนั้นย่อมสมบูรณ์ ตาม ม.866 ผู้รับประกันภัยไม่มีสิทธิบอกล้างได้
9. วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ หมายความถึง แค่ทราบมูลเหตุก็เพียงพอที่ผู้รับ ประกันภัยจะบอกล้างได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องรอถึงวันที่ทราบความจริงตามที่นายแพทย์วินิจฉัย
10. แม้ว่าเหตุวินาศภัยหรือเหตุที่กำหนดไว้ตามสัญญาจะเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อความที่ปกปิดความจริงไว้หรือที่แถลงอันเป็นเท็จก็ตาม ผู้รับประกันภัยก็ยังมีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรมได้

5. สัญญาประกันภัยมีแบบหรือไม่ ?
1. สัญญาประกันภัยนั้น กฎหมายมิได้กำหนดว่าจะต้องมีแบบแต่อย่างใด
2. สัญญาประกันภัย เกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน แม้ไม่มีหลัก ฐานเป็นหนังสือ ก็มีผลเป็นสัญญาถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
3. เพียงแต่ ม.867 ว.1 กำหนดไว้ว่า สัญญาประกันภัยนั้น ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของเขาเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้
4. การประกันภัยนั้น ม.867 ว.2 และ ว.3 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้รับประกันภัยจะต้องออกกรมธรรม์ประกันภัย (กรมธรรม์ประกันภัยมิใช่สัญญาประกันภัย) มอบให้ผู้เอาประกันภัยยึดถือไว้ กรมธรรม์นี้จะต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกัน และมีรายการแสดงไว้ 11 รายการ …ทั้งนี้ หากข้อความไม่ครบทั้ง 11 รายการ ไม่เป็นเหตุให้สัญญาประกันภัยเสียไป

B ประกันภัยมีกี่แบบ ?
ประกันภัย ตามความหมายในมาตรา 861 แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. แบบประกันวินาศภัย – เป็นการประกันความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงิน
ได้ ตามที่ได้นิยามไว้ใน ม.869 เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม อุบัติเหตุ โจรปล้น
2. แบบประกันชีวิต – เป็นการประกันความสูญเสียในชีวิตและร่างกายของบุคคลซึ่งไม่อาจ
คำนวณเป็นเงินได้ แม้บางครั้งจะเจ็บป่วยให้ต้องรักษาพยาบาลเสียเงินไป
จำนวนหนึ่งนั้น ก็ไม่ใช่ค่าของชีวิต
นอกจากนี้ ประกันวินาศภัย (บทเบ็ดเสร็จทั่วไป ม.869 – 882) ยังจำแนกออกเป็น
– ประกันภัยในการรับขน (ม.883 – 886)
– ประกันภัยค้ำจุน (ม.887 – 888)

C สาระสำคัญเกี่ยวกับประกันวินาศภัย
1. วินาศภัย ตาม ม.869 หมายถึง บรรดาความเสียหายใดๆ ที่สามารถประมาณเป็นจำนวนเงินได้
2. วินาศภัย เกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ
(1) เกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคล ……….หมายถึงบุคคลเป็นผู้ก่อวินาศภัยขึ้น ไม่ว่าจะโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ หรือด้วยวิธีการงดเว้นการกระทำใดๆ เพื่อให้เกิดวินาศภัยนั้นขึ้น เช่น นาย ก.ขับรถไปชนรถยนต์ที่เอาประกันไว้ไม่ว่าจงใจหรือประมาท ผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย
(2) เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ………ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายกรณี เช่น
– เกิดจากธรรมชาติ เช่น ลมพายุ ไฟไหม้ป่า น้ำท่วม แผ่นดิน ไหว ภูเขาไฟระเบิด
– เกิดโดยสภาพ แต่ไม่ใช่การกระทำของบุคคล เช่น กำแพงที่มีอายุเก่าแก่ล้ม
– เกิดจากของตกหล่นโดยธรรมชาติ
– เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเองตามธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ที่กำลังจะเน่า
– เกิดจากความเสื่อมสภาพของสารเคมี
3. สัญญาประกันวินาศภัย ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องในค่าสินไหมทดแทน ซึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์อาจเป็นบุคคลคนเดียวกัน

4. ลักษณะการประกันภัยหลายรายนั้น ม.870 และ ม.871 วางหลักเกณฑ์ไว้ ดังนี้คือ
(1) สาระสำคัญ
– ผู้เอาประกันเป็นบุคคลคนเดียวกัน
– วัตถุแห่งประกันภัยสิ่งเดียวกัน
– เหตุแห่งความเสียหายเดียวกัน
– ผู้รับประกันภัยต่างรายกัน (มากกว่า 1 ราย)
– ระยะเวลาคุ้มภัยเดียวกัน
(2) สัญญาประกันภัยทั้งหลายลงวันที่เดียวกัน ให้ถือว่าทำพร้อมกัน ………เมื่อนำเงินซึ่งเอาประกันมารวมกันแล้ว มากกว่าค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้รับประโยชน์จะได้รับค่าสินไหมเพียงเท่าค่าความเสียหายเท่านั้น โดยผู้รับประกันภัยแต่ละรายแบ่งความรับผิดตามส่วนที่รับประกันไว้
(3) สัญญาประกันภัยทั้งหลายทำสืบเนื่องกันเป็นลำดับกัน ……….ผู้รับประกันรายแรกต้องรับ
ผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ถ้ายังไม่พอกับค่าเสียหายอยู่เท่าใด ให้เรียกเอาจากผู้รับประกันรายถัดไป
เช่นนี้จนกว่าจะคุ้มวินาศภัย
(4) การทำสัญญาประกันภัยหลายราย ไม่ว่ากรณีใด ถ้าผู้เอาประกันภัยยอมสละสิทธิเรียก
ร้องแก่ผู้รับประกันรายใด การชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นอันระงับไปเฉพาะรายนั้น ผู้รับประกันภัย
รายอื่นยังต้องชำระค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนต่อไป
5. ก่อนเริ่มเสี่ยงภัย ผู้เอาประกันมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่ผู้รับประกันย่อมมีสิทธิได้รับการชำระค่าเบี้ยประกันครึ่งหนึ่งตามสัญญาจากผู้เอาประกันภัย (ม.872)
6. ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ปรากฏว่ามูลประกันภัยได้ลดน้อยถอยลง ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิขอลดจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย และขอลดจำนวนเงินเบี้ยประกันภัย (ม.873)
7. คู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้ และต่อมาพิสูจน์ได้ว่าราคาที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินไป ผู้รับประกันภัยมีสิทธิขอลดค่าสินไหมทดแทน และคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันได้ตามส่วนพร้อมดอกเบี้ย (ม.874)
8. ถ้าวัตถุที่เอาประกันไว้ต้องเปลี่ยนการครอบครองไปอยู่กับผู้อื่น จะโดยพินัยกรรมก็ดี หรือโดยผลของกฎหมายก็ดี สิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย (ม.875) ……แต่ถ้าวัตถุที่เอาประกัน ภัยนั้น เมื่อโอนไปอยู่กับบุคคลอื่นแล้ว เป็นผลให้การใช้วัตถุที่เอาประกันนั้นเปลี่ยนแลงไปและมีเสี่ยงภัยมากขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา สัญญาประกันภัยนั้นเป็นโมฆะ
9. กรณีที่ผู้รับประกันต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย ผู้เอาประกันภัย มีสิทธิเลือกจัดการกับสัญญาประกันภัยของตนได้ 2 ประการ คือ เรียกให้หาผู้รับประกันภัยรายใหม่ หรือบอกเลิกสัญญาประกัน
ภัยนั้น (ม.876 ว.1)
10. กรณีที่ผู้เอาประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย ผู้รับประกันย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาประกันภัยนั้นเสีย เว้นแต่ ผู้เอาประกันภัยได้ส่งเบี้ยประกันครบแล้ว ผู้รับประกันจะบอกเลิกสัญญาไม่ได้ (ม.876 ว.2)
10. ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการตีราคาวินาศภัย ผู้รับประกันรับผิดชอบ (ม.878)
11. เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น มีข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัย (ม.879) คือ
(1) เหตุวินาศภัยนั้นเกิดเพราะความทุจริตของผู้เอาประกันภัย
(2) เหตุวินาศภัยนั้นเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัย
12. กรณีที่วินาศภัยนั้นเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก เมื่อผู้รับประกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันไปจำนวนเท่าใด ผู้รับประกันย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอก เพื่อจะไปเรียกค่าเสียหายจากบุคคลภายนอกนั้น (ม.880)
13. อายุความฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน (ม.882) กำหนดไว้ว่า
(1) กรณีเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย
(2) กรณีเรียกให้ใช้เงินประกันภัยมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิจะเรียกให้ใช้
(3) กรณีเรียกให้คืนเบี้ยประกันภัยมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิจะเรียกให้คืน

D. สาระสำคัญเกี่ยวกับประกันภัยในการรับขน
1. ประกันภัยในการรับขน คือสัญญาประกันภัยเพื่อคุ้มครองวินาศภัยที่เกิดขึ้นในการขนส่งสินค้าจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งอาจมีการเสี่ยงภัยในระหว่างการขนส่ง (ม.883)
2. สัญญาประกันภัยในการรับขน มีสาระสำคัญดังนี้
– เป็นสัญญาที่สมบูรณ์เมื่อมีการรับขนสินค้า
– เป็นสัญญาที่ไม่จำเป็นต้องระบุประเภทแห่งภัยที่ผู้รับประกันภัยเข้ารับเสี่ยงภัย
– คุ้มครองตั้งแต่เวลาที่ผู้รับขนส่งได้รับของไป จนถึงส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง
– ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้รับประกันภัยใช้ตามจำนวนวินาศที่แท้จริง
– ให้ตีราคาค่าสินไหมทดแทนตามราคาของที่ขนส่ง ณ ตำบลที่กำหนดให้ส่งของนั้น
3. วินาศภัยต่อทรัพย์ที่เอาประกันภัยซึ่งเกิดขึ้นจากการรับขน ได้แก่
(1) การสูญหาย – สินค้านั้นหลุดไปจากการครอบครองของผู้ขนส่งทั้งหมดหรือแต่
บางส่วน เนื่องจากถูกไฟไหม้ ถูกปล้น ถูกขโมย ฯลฯ
(2) การบุบสลาย – สินค้านั้นยังอยู่ในความครอบครองของผู้ขนส่ง แต่สภาพของสิน
ค้าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เนื่องจากบุบ
สลาย แตกหักเสียหาย เสื่อมค่า เสื่อมราคา ขาดจำนวน ฯลฯ
(3) ความล่าช้า – สินค้านั้นส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งล่าช้าหรือนานเกินควร ทำให้
สินค้านั้นเน่าเสีย นำไปติดตั้งไม่ทันกำหนด ฯลฯ
4. ถ้าของที่อยู่ระหว่างการขนส่งแล้วค่อยเอาประกันภัยทีหลัง กรณีเช่นนี้ให้คิดมูลประกันโดยนับรวมราคาของ ณ สถานที่และเวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของ ค่าระวางส่งของไปยังสถานที่ส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มี (ม.884)
5. การขนส่งนั้น แม้ว่าระหว่างทางการขนส่งจะต้องสะดุดหยุดลงชั่วขณะก็ดี หรือจะต้องเปลี่ยนวิธีขนส่งโดยเหตุจำเป็นก็ดี ถือว่าสัญญาประกันภัยในการรับขนนั้นยังสมบูรณ์อยู่ เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (ม.885)

E สาระสำคัญเกี่ยวกับประกันภัยค้ำจุน
1. ประกันค้ำจุน คือสัญญาประกันความรับผิดของผู้เอาประกันภัย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลที่ 3 โดยตกลงกันว่า ให้ผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยแก่บุคคลที่ 3 คนนั้น หากเกิดวินาศภัยขึ้นกับบุคคลที่ 3 หรือทรัพย์สินของบุคคลที่ 3 (ม.887 ว.1)
2. ประกันภัยค้ำจุน จะเกี่ยวข้องกับบุคคล 3 ฝ่าย คือ
(1) ผู้รับประกันภัย – ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลที่ 3 และการจ่าย
ดังกล่าวจะจ่ายในนามของผู้เอาประกันภัย
(2) ผู้เอาประกันภัย – ผู้ก่อให้เกิดวินาศภัย และมีหน้าที่ต้องส่งเงินเบี้ยประกันแก่ผู้รับ
ประกันภัย
(3) บุคคลที่ 3 – ผู้เสียหายซึ่งได้รับผลแห่งวินาศภัย และมีสิทธิได้รับค่าสินไหม
ทดแทนอันเกิดจากวินาศภัยนั้น

ตัวอย่าง
นายแดงผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่ง ไปทำสัญญาประกันภัยเพื่อบุคคลที่ 3 กับบริษัทมอสอทอประกันภัย ดังนั้น บริษัทมอสอทอประกันจึงอยู่ในฐานะผู้รับประกันภัย หากนายแดงขับรถไปชนรถของนายเขียวจนเสียหาย บริษัทมอสอทอประกันภัยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายเขียวผู้เสียหายแทนนายแดง เป็นต้น

3. ถ้าความเสียหายนั้น มากเกินกว่าวงเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ทำสัญญาประกันค้ำจุนกับผู้เอาประกัน ภัย ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลที่ 3 ไม่เกินกว่าวงเงินตามสัญญา หากบุคคลที่ 3 ไม่พอใจ ก็มีสิทธิยื่นฟ้องผู้รับประกันภัยต่อศาล โดยต้องเรียกผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู่คดีด้วย (ม.887 ว.2)
ตัวอย่าง : นายแดงผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันรถของตนเพื่อบุคคลที่ 3 ไว้ 100,00 บาท แล้วขับรถไปชนรถของนายเขียวจนได้รับความเสียหาย 150,000 บาท กรณีเช่นนี้ บริษัทมอสอทอประกันภัยจะจ่ายให้นายเขียวสูงสุดเพียง 100,000 บาท ถ้านายเขียวต้องการให้บริษัทฯ รับผิดชอบเงินส่วนที่เหลืออีก 50,000 บาท นายเขียวมีสิทธิยื่นฟ้องบริษัทฯ และจะต้องเรียกนายแดงเข้ามาสู่คดีด้วย

4. เมื่อได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว ต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้ผู้รับประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลที่ 3 ไม่คุ้มค่าเสียหายจริงซึ่งมากกว่า ผู้เอาประกันภัยยังต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่ เว้นแต่บุคคลที่ 3 ได้ละเลยโดยไม่ได้เรียกผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู่คดีด้วย (ม.888)

ตัวอย่าง
เมื่อนายเขียวยื่นฟ้องบริษัทมอสอทอประกันภัยแล้ว ปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทฯ จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่นายเขียวจำนวน 80,000 บาท ค่าเสียหายส่วนที่เหลืออีก 70,000 บาท นายแดงจะ ต้องรับผิดชอบ …..แต่ถ้าการยื่นฟ้องบริษัทฯ แล้วนายเขียวลืมเรียกให้นายแดงเข้ามาสู่คดี กรณีเช่นนี้ นายแดงไม่ต้องรับผิดชอบเงินส่วนที่เหลืออีก 70,000 บาท และนายเขียวจะไปเรียกร้องเอาจากใครไม่ได้เลย

5. อายุความในสัญญาประกันค้ำจุน
(1) ฟ้องผู้เอาประกันภัยฐานละเมิด มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันทำละเมิด (ม.448)
(2) ฟ้องผู้รับประกันภัยเรียกค่าสินไหมทดแทน มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่สิทธิจะเรียก
ให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นถึงกำหนด (ม.882)
ตัวอย่าง : นายแดงขับรถชนรถของนายเขียวเป็นการทำละเมิด นายเขียวมีสิทธิยื่นฟ้องนายแดงในความผิดฐานละเมิดได้ภายใน 1 ปี แต่ถ้านายเขียวยื่นฟ้องนายแดงเกิน 1 ปีแล้ว ถือว่าขาดอายุความไปแล้ว กรณีเช่นนี้ บริษัทมอสอทอประกันภัยซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแทนนายแดง ย่อมหลุดพ้นความรับผิด ไปด้วย

F สาระสำคัญเกี่ยวกับการประกันชีวิต
มาตรา 889 วางหลักไว้ว่า “การใช้จำนวนเงินในสัญญาประกันชีวิต ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง”
การอธิบายความหมายของการประกันชีวิต ต้องอาศัย ม.889 และ ม.861 อธิบายควบคู่กัน ดังนี้
ประกันชีวิต คือสัญญาซึ่งผู้รับประกันชีวิตตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เอาประกันชีวิต หรือผู้รับประโยชน์ ในเมื่อผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ที่ถูกเอาประกันชีวิตไว้ได้ตายลง (ความมรณะ) หรือเมื่อผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาตามที่ได้ตกลงกันไว้ (ความทรงชีพ) และในการนี้ผู้เอาประกันชีวิตตกลงจะส่งเบี้ยประกันให้แก่ผู้รับประกันชีวิต
จากความหมายของประกันชีวิตดังกล่าว สามารถแยกเป็นประเด็นได้ดังนี้
(1) ต้องมีบุคคล 2 ฝ่าย เข้าร่วมตกลงกันทำสัญญา คือ ผู้เอาประกันชีวิตและผู้รับประกันชีวิต
(2) ต้องมีข้อตกลงเกี่ยวกับความตายหรือความทรงชีพ
(3) ผู้เอาประกันชีวิตตกลงจะส่งเบี้ยประกันให้แก่ผู้รับประกันชีวิต
(4) ผู้รับประกันชีวิตตกลงจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้รับประโยชน์

ลักษณะสำคัญของสัญญาประกันชีวิต คือ
(1) เป็นสัญญาที่รัฐต้องควบคุมดูแล …..การประกอบกิจการจึงต้องได้รับอนุญาตจากรัฐ
(2) มิใช่สัญญาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน …..แต่มุ่งจะช่วยเหลือผู้ซึ่งต้องอาศัยพึ่งพาผู้ตาย
(3) ไม่จำเป็นต้องประมาณราคาส่วนได้เสียเป็นเงิน …..ผู้เอาประกันชีวิตสามารถตกลงกับผู้รับประกันชีวิตในจำนวนเงินมากน้อยเพียงใดก็ได้

หากพิจารณาจาก ม.889 จะพบว่า การประกันชีวิตแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
(1) ประเภทซึ่งอาศัยความทรงชีพของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นหลักในการใช้เงิน
– เป็นสัญญาที่ผู้รับประกันชีวิตตกลงจะใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันชีวิต หากผู้เอาประกันชีวิต
หรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตยังมีชีวิตอยู่จนถึงกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้
– หากผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดเวลาตามที่ตก
ลงกันไว้ ผู้รับประกันชีวิตก็ไม่ต้องใช้เงินให้
(2) ประเภทซึ่งอาศัยความมรณะของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นหลักในการใช้เงิน
– เป็นสัญญาที่ผู้รับประกันชีวิตตกลงจะใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้รับประโยชน์ เมื่อ
ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ตายลงภายในกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้
– หากผู้เอาประกันชีวิตไม่ตายภายในกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ ผู้รับประกันชีวิตก็ไม่
ต้องใช้เงินให้
จะเห็นว่า การประกันชีวิตทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว ต่างมีจุดอ่อน ทำให้ไม่มีคนสนใจในเรื่องการประกันชีวิต จึงเกิดการประกันชีวิตประเภทที่ 3 ในลักษณะผสม เรียกว่า การประกันชีวิตแบบสะสมทุนหรือสะสมทรัพย์ กล่าวคือ มีความคุ้มรอง มีการออมทรัพย์ และเป็นการลงทุน

เกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับการประกันชีวิต มีดังนี้คือ
1. การพิจารณาเกี่ยวกับการประกันชีวิต ต้องนำบทบัญญัติ ม.863 , 865 , 893 มาวินิจฉัยร่วมกัน
2. การมีส่วนได้เสียในสัญญาประกันชีวิต ให้นำบทบัญญัติ ม.863 มาใช้บังคับ กล่าวคือ
(1) ส่วนได้เสียนั้นต้องมีอยู่ในขณะทำสัญญาประกันชีวิต ……สามีหรือภรรยาได้เอาประกันชีวิตของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไว้ แม้จะได้หย่าขาดจากกันไปในภายหลัง สัญญาประกันชีวิตที่ทำไว้นั้นยังคงผูกพันอยู่
(2) ผู้ใดเอาประกันชีวิตของตนเอง ผู้นั้นคือผู้มีส่วนได้เสีย
(3) ผู้ใดเอาประกันชีวิตของผู้อื่น ต้องพิจารณาว่าผู้นั้นต้องมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่ตนจะเอาประกันชีวิตหรือไม่ ถ้ามีก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ตัวอย่างเช่น
– สามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในชีวิตของกันและกัน
– ชายหญิงที่เป็นคู่หมั้นกัน ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในชีวิตของกันและกัน
– บิดามารดากับบุตร ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในชีวิตของกันและกัน
– พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และ
ลุง ป้า น้า อา ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในชีวิตกับผู้เอาประกัน
– สามีภรรยาอยู่กินกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในชีวิตของกัน
และกัน
– บุตรนอกสมรสซึ่งบิดารับรองการเป็นบุตรแล้ว ไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในชีวิตกับบิดา
– เจ้าหน้ามีส่วนได้เสียในชีวิตของลูกหนี้
– นายจ้างมีส่วนได้เสียในชีวิตของลูกจ้าง
– ผู้เป็นหุ้นส่วนมีส่วนได้เสียในชีวิตของกันและกัน

3. การเปิดเผยข้อความจริงในการทำสัญญาประกันชีวิต ให้นำบทบัญญัติ ม.865 มาใช้บังคับ กล่าวคือ
(1) ผู้เอาประกันชีวิตและผู้ถูกเอาประกันชีวิต มีหน้าที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงในการทำ
สัญญาประกันชีวิต
(2) ข้อความจริงที่เปิดเผยนั้น จะต้องมีความสำคัญถึงขนาดทำให้ผู้รับประกันชีวิตเรียกเบี้ยประกันชีวิตสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตด้วย
(3) ความสำคัญถึงขนาดเพียงใด ต้องถือตามความคิดเห็นของวิญญูชนทั่วไปเป็นหลัก
(4) การเปิดเผยข้อความจริง ต้องกระทำในขณะทำสัญญาประกันชีวิต
(5) ผู้เอาประกันชีวิตปกปิดความจริงเกี่ยวกับโรคร้ายแรงโรคหนึ่ง และต่อมาผู้เอาประกันชีวิตนั้นถึงแก่ความตายด้วยโรคอื่น สัญญาประกันภัยยังคงเป็นโมฆียะ

4. การแถลงอายุผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตคลาดเคลื่อน ให้นำบทบัญญัติ ม.893 มาใช้บังคับ กล่าวคือ
มาตรา 893 วางหลักไว้ว่า “การใช้เงินโดยอาศัยเหตุความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลใด แม้ได้แถลงอายุของบุคคลนั้นไว้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้กำหนดเบี้ยประกันไว้ต่ำ ให้ลดจำนวนเงินที่ผู้รับประกันชีวิตจะต้องใช้นั้นลงตามส่วน
แต่ถ้าผู้รับประกันชีวิตพิสูจน์ได้ว่า ในขณะทำสัญญานั้น อายุที่ถูกต้องแท้จริงอยู่นอกจำกัดอัตราตามทางค้าปกติของเขาแล้ว สัญญานั้นเป็นโมฆียะ”

คำอธิบาย
(1) การแถลงอายุคลาดเคลื่อนไม่จำเป็นต้องเป็นความเท็จ อาจแถลงคลาดเคลื่อนโดยสุจริตก็ได้
(2) เฉพาะกรณีที่เป็นเหตุให้กำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยไว้ต่ำเท่านั้น (ม.893 ว.1) เช่น อายุจริง 50 ปี แต่แถลงว่า 40 ปี
(3) ให้ผู้รับประกันชีวิตลดจำนวนเงินที่จะต้องใช้ให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้รับประโยชน์ลงตามส่วนได้ (ม.893 ว.1)
(4) ถ้าหลักเกณฑ์การรับประกันชีวิตบุคคลอายุไม่เกิน 60 ปี แต่ในขณะที่ทำสัญญาประกันชีวิตนั้น ผู้เอาประกันชีวิตแจ้งว่าอายุ 55 ปี ทั้งๆ ที่อายุจริงกว่า 60 ปีแล้ว หากผู้รับประกันชีวิตพิสูจน์ได้เช่นนั้น สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ (ม.893 ม.2)

5. ผลของการไม่เปิดเผยข้อความจริง
(1) ผู้รับประกันชีวิต เป็นผู้มีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตที่เป็นโมฆียะ (ม.865 ว.1)
(2) ต้องบอกล้างภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กล่าว คือ ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ หรือภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญา (ม.865 ว.2)
(3) ถ้ามิได้ใช้สิทธิภายในระยะเวลาดังกล่าว สิทธิการบอกล้างเป็นอันระงับสิ้นไป (ม.865 ว.2)
(4) แต่ถ้าผู้รับประกันชีวิตได้รู้ว่า ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตปกปิดความจริงไว้ หรือข้อความที่แถลงนั้นไม่เป็นความจริง หรือถ้าผู้รับประกันชีวิตจะไม่รู้ แต่หากได้ใช้ความระมัดระวังเช่นวิญญูชนแล้ว ผู้รับประกันชีวิตควรจะรู้ได้ไม่ยาก สัญญาประกันชีวิตนั้นเป็นอันสมบูรณ์ (ม.866)

6. ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันชีวิต ได้ระบุไว้ใน ม.895 ดังนี้
มาตรา 895 วางหลักไว้ว่า “เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ผู้รับประกันต้องใช้เงินนั้นเมื่อมรณภัยนั้นได้เกิดขึ้น เว้นแต่
(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่ง นับแต่วันทำสัญญา หรือ
(2) บุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
ในกรณีที่ 2 นี้ ผู้รับประกันชีวิตจะต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น”

คำอธิบาย
(1) ผู้กระทำอัตวิบาตรหรือฆ่าตัวตายนั้น ต้องกระทำด้วยความสมัครใจ หมายความว่า กระทำโดยรู้อยู่ว่า ตนกำลังทำอะไร …….กรณี วิกลจริตก็ดี ถูกลวงให้หลงเสียจนไม่รู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ก็ดี หรือถูกบังคับให้ทำ ไม่เข้า ม.895 (1)
(2) ต้องเป็นการฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา จึงจะเข้า ม.895 (1) ………ถ้าไปฆ่าตัวตายเมื่อเลย 1 ปี ไปแล้ว ผู้รับประกันชีวิตยังต้องรับผิดอยู่
(3) กรณีผู้รับประโยชน์เจตนาฆ่าผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิต เพื่อหวังเงินประกันชีวิต เข้าข้อยกเว้นตาม ม.895 (2) ผู้รับประกันชีวิตไม่ต้องใช้เงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ หรือทายาทของผู้เอาประกัน แต่ต้องใช้เงินไถ่ถอนค่ากรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือทายาท ตาม ม.895 ว.2
(4) กรณีผู้รับประโยชน์มีเจตนาฆ่าผู้เอาประกันชีวิต แต่เป็นการกระทำโดยป้องกันตนเองพอสมควรแก่เหตุ ตาม ปอ. ม.68 ……กรณีนี้ไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ม.895 (2) ดังนั้น ผู้รับประกันชีวิตยังต้องรับผิดอยู่
(5) ถ้าผู้เอาประกันชีวิตได้โอนสิทธิรับประโยชน์ไปให้บุคคลอื่นตาม ม.891 ทำให้ผู้รับประโยชน์คนนั้นหมดสิทธิไปแล้ว แต่ไม่ทราบความจริง ต่อมาได้ไปฆ่าผู้เอาประกันชีวิต……….กรณีนี้ไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ม.895(2) ดังนั้น ผู้รับประกันชีวิตยังต้องรับผิดอยู่ ……แต่ถ้าผู้รับโอนประโยชน์ไปฆ่าผู้เอาประกันชีวิต กรณีนี้เข้าข้อยกเว้นตาม ม.895 (2) ผู้รับประกันชีวิตไม่ต้องรับผิด

7. สาระอื่นๆ ที่สำคัญเกี่ยวกับสัญญาประกันชีวิต ได้แก่
(1) การใช้เงินประกันชีวิตแก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ จะจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปีก็ได้ แต่แต่จะตกลงกันเอง ตาม ม.890
(2) กรณีที่ผู้เอาประกันชีวิตมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เอง ผู้ประกันชีวิตคนนั้นมีสิทธิโอนประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่นที่เรียกว่า “ผู้รับโอนประโยชน์” ได้ ตาม ม.891 เว้นแต่จะครบองค์ประกอบ 2 ประการ คือ
– ได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และ
– ผู้รับประโยชน์คนนั้นได้แสดงเจตนายอมรับประโยชน์เช่นนั้น โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือ
ไปยังผู้รับประกันชีวิตแล้ว
(3) กรณีที่ผู้เอาประกันชีวิตบอกล้างสัญญาประกันชีวิตที่เป็นโมฆียกรรม ตาม ม.865 ผู้รับประกันชีวิตต้องคืนค่ากรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือทายาท ตาม ม.892
(4) ผู้เอาประกันชีวิตจะบอกเลิกสัญญาประกันชีวิตเมื่อใดก็ได้ เพียงแต่งดส่งเบี้ยประกันชีวิตเสีย ก็ถือว่าเป็นการบอกเลิกแล้ว ตาม ม.894 ……แต่ถ้าบอกเลิกก่อนครบ 3 ปี ไม่ได้คืนค่ากรมธรรม์ประกันภัย
(5) กรณีความตายของผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตเกิดจากความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันชีวิตไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้น ตาม ม.896 …….แต่ทายาทของผู้ตายมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้น แม้ว่าจะได้รับเงินประกันจากผู้รับประกันแล้วก็ตาม
(6) ผู้เอาประกันชีวิตได้กำหนดเงื่อนไขให้ชำระเงินแก่ทายาท ตาม ม.897 มีแนวพิจารณา 2 กรณี คือ
– กรณีไม่ได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์……เงินประกันชีวิตที่ผู้รับประกันชีวิตจ่ายให้ทั้งหมดต้อง
กลับเข้าสู่กองมรดกของผู้ตาย ดังนั้น เจ้าหนี้ของผู้ตายมีสิทธิเรียกชำระหนี้เอาจากเงินนี้ได้

– กรณีระบุตัวผู้รับประโยชน์ ……ผู้รับประโยชน์คนนั้นมีสิทธิได้รับเงินประกันชีวิตนั้น แต่
ต้องส่งเงินเท่าจำนวนเงินเบี้ยประกันที่ผู้เอาประกันชีวิตได้ส่งให้แก่ผู้รับประกันชีวิตไปแล้ว
คืนเข้าสู่กองมรดก เช่นเดียวกัน เจ้าหนี้ของผู้ตายมีสิทธิเรียกชำระหนี้เอาจากเงินนี้ได้
(7) อายุความเกี่ยวกับสัญญาประกันชีวิต ในการฟ้องเรียกให้ใช้เงินประกันชีวิตก็ดี หรือให้คืนเบี้ยประกันชีวิตก็ดี มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำสัญญา ตาม ม.193/3

8. สิทธิของผู้เอาประกันชีวิต
(1) สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้เงินประกันชีวิต (ม.861)
(2) สิทธิบอกเลิกสัญญาประกันชีวิต (ม.894)
(3) สิทธิได้รับค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันชีวิตหรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ (ม.895 ว.2)
(4) สิทธิลดเบี้ยประกันชีวิต (ม.864)
(5) สิทธิโอนประโยชน์ให้บุคคลอื่น (ม.891)

9. หน้าที่ของผู้เอาประกันชีวิต
(1) หน้าที่ส่งเบี้ยประกันชีวิต (ม.861)
(2) หน้าที่เปิดเผยข้อความจริง (ม.865 ว.1)

10. สิทธิของผู้รับประกันชีวิต
(1) สิทธิบอกล้างโมฆียะแห่งสัญญาประกันชีวิต (ม.865 ว.1)
(2) สิทธิที่จะไม่ต้องรับผิดต่อการกระทำบางอย่างของผู้เอาประกันชีวิตและผู้รับประโยชน์
(3) สิทธิที่จะลดจำนวนเงินเบี้ยประกันชีวิต

11. หน้าที่ของผู้รับประกันชีวิต
(1) หน้าที่กำหนดเบี้ยประกันชีวิต
(2) หน้าที่ใช้เงินประกันชีวิต
(3) หน้าที่คืนเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันชีวิต





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow