INSURANCETHAI.NET
Tue 12/11/2024 10:15:22
Home » ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง » การประกันภัยทางทะเล และ ขนส่ง (Marine Insurance)\"you

การประกันภัยทางทะเล และ ขนส่ง (Marine Insurance)

2013/09/03 6712👁️‍🗨️

การประกันภัยทางทะเล หมายถึง การประกันความเสียหายแก่เรือ และทรัพย์สิน หรือสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเล และยังขยายขอบเขตความคุ้มครองไปถึงการขนส่งสินค้าทางอากาศ และทางบก ซึ่งต่อเนื่องกับการขนส่งทางทะเลด้วย

การประกันภัยทางทะเล แบ่งเป็น 2

การประกันภัยตัวเรือ ( Hull Insurance ) คุ้มครองความเสียหายต่อตัวเรือจากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ภัยจาก ลมพายุ เรือเกยตื้น เรือชนกัน เรือชนหินโสโครก เป็นต้น และยังหมายความรวมไปถึงการประกันค่าระวางด้วย

การประกันภัยสินค้า ( Cargo Insurance ) คุ้มครองสินค้าที่เอาประกันภัย ซึ่งอยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเล ภัยที่ได้รับการคุ้มครอง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันภัยเลือกซื้อความคุ้มครองไว้

บุคคลผู้มีสิทธิหรือมีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยทางทะเลได้

ผู้ที่จะเอาประกันภัยได้ จะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย เช่น เจ้าของเรือ มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยตัวเรือได้ และยังอาจเอาประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ในกรณีที่เรือนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอก เจ้าของสินค้า ย่อมมีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลได้ และยังอาจเอาประกันภัย รวมไปถึงกำไรที่จะพึงได้รับจากการขายสินค้านั้นด้วย ผู้ขนส่งย่อมมีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัย ความรับผิดต่อสินค้าที่ผู้ขนส่งรับทำการขนส่ง ซึ่งอาจเอาประกันภัยได้ เท่ากับราคาของทรัพย์สินที่รับทำการขนส่ง และยังอาจเอาประกันภัยค่าระวาง ค่าขนส่ง และค่านายหน้า ที่จะพึงได้รัยในการขนส่งได้ด้วย
เอกสารสำคัญในทางการค้าระหว่างประเทศ
หลักฐานทางเอกสารที่แสดงกรรมสิทธิ์ในการค้าระหว่างประเทศ คือ

ใบกำกับสินค้าออก ( The Invoice ) เป็นเอกสารที่ผู้ขายออกให้เมื่อขายสินค้านั้น มีรายละเอียด แสดงถึงปริมาณ ชนิด และราคาสินค้า
ใบตราส่งสินค้า ( Bill of Landing ) เป็นเอกสารสัญญา การรับส่งสินค้าระหว่างบริษัทเรือ และผู้ส่งสินค้า ทำการสั่งจ่ายเงินให้แก่ตน ซึ่งอาจจะเป็นการจ่ายโดยทันที หรือในการกำหนดระยะเวลาหนึ่ง ที่ได้ตกลงกันไว้นับแต่วันที่ได้รับเอกสารการส่งสินค้าที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว
ตั๋วแลกเงิน หรือ ดราฟต์ ( Bill of Exchange ) เป็นหนังสือตราสาร ที่ผู้ขายสินค้า เป็นผู้สั่งให้ผู้ซื้อสินค้าทำการสั่งจ่ายเงินให้แก่ตน ซึ่งอาจจะเป็นการจ่ายโดยทันที หรือในการกำหนดระยะเวลาหนึ่ง ที่ได้ตกลงกันไว้นับแต่วันที่ได้รับเอกสารการส่งสินค้าที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว
กรมธรรม์ประกันภัย ( Marin insurance ) เป็นเอกสาร ที่ออกให้โดยบริษัทประกันภัย แสดงว่า สินค้าที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนั้น ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลแล้ว

การกำหนดราค่าสินค้าในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ
การกำหนดราคาสินค้าในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ โดยทั่วไปมี 3 แบบ คือ

1. ราคาเฉพาะสินค้าอย่างเดียว หรือเรียกว่า ราคา F.O.B. ( Free on board ) หมายถึง ผู้ขายมีหน้าที่ และความรับผิดชอบนำสินค้าที่ผู้ซื้อ ส่งขึ้นเรือเดินสมุทรเท่านั้น โดยไม่ต้อจ่ายค่าระวางเรือ และไม่ต้องซื้อประกันภัยในการขนส่งสินค้านั้นด้วย ผู้ซื้อเป็นผู้จ่ายค่าระวางเรือ และทำประกันภัยเอง
2. ราคาค่าสินค้าบวกค่าระวางเรือ หรือที่เรียกว่า ราคา C&F ( Cost and Freight ) หมายถึง ผู้ขายมีหน้าที่ และความรับผิดชอบนำสินค้าไปลงเรือเดินสมุทรพร้อมกับจ่ายค่าระวางเรือ ณ ต้นทาง แต่ไม่ต้องทำประกันภัยในการขนส่งสินค้านั้น
3. ราคาสินค้าบวกค่าระวางเรือ และ บวกค่าประกันภัยด้วย หรือที่เรียกว่า ราคา C.I.F. ( cost Insurance and Freight ) หมายถึง ผู้ขายมีหน้าที่ และความรัยชอบในการนำสินค้าไปลงเรือเดินสมุทร จ่ายค่าระวางเรือ ณ ต้นทาง และซื้อประกันภัยคุ้มครองการขนส่งสินค้า จนถึงโรงเก็บสินค้าของผู้ซื้อ ณ เมืองท่าปลายทาง
การค้าระหว่างประเทศ

การที่ธนาคารกล้าปล่อยเครดิต โดยจ่ายค่าสินค้าให้ผู้ขายไปก่อน ก็เพราะมีความมั่นใจว่า ผู้สินค้า ในฐานะลูกหนี้ต่อธนาคาร ได้ทำประกันภัยการขนส่งสินค้าไว้ สามารถจ่ายคืนหนี้สินกับธนาคารได้ ซึ่งโดยปกติ ธนาคารก็จะเปิด L/C ให้แก่ผู้สั่งซื้อสินค้า ธนาคารก็มักจะเรียกร้องให้ทำประกันภัยสินค้าที่สั่งเข้ามาก่อนเสมอ
ภัยที่คุ้มครองและเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์

1. ภัยทางทะเล ( Peril of the sea ) หมายถึง ภยันตรายที่เกิดจากเหตุการณ์อันไม่อาจคาดหมายได้ ซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของลม และคลื่นในทะเล ได้แก่ พายุ มรสุม เรือจม เรือชนกัน และเรือเกยตื้น
2. อัคคีภัย ( Fire ) ได้แก่ ความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้ แต่ต้องไม่เกิดจากความประพฤติผิดของผู้เอาประกันภัยเอง หรือเกิดจากการลุกไหม้ขึ้นมาเองของสินค้าอันเนื่องจากธรรมชาติ

การทิ้งทะเล ( Jettisons ) หมายถึง การเอาของทิ้งทะเลเพื่อเรือเบาลง เพื่อช่วยให้เรือพ้นจากภัยทางทะเลที่กำลังคุกคาม
โจรกรรม ( Thieves ) หมายถึง การโจรกรรมอย่างรุนแรง โดยการใช้กำลังเพื่อช่วงชิงทรัพย์ เช่น การกระทำของโจรสลัด
การกระทำโดยทุจริตของคนเรือ ( Barraty ) หมายถึง การกระทำโดยมิชอบ ของคนเรือโดยเจตนากลั่นแกล้งทุจริต ตั้งแต่นายเรือ จนกระทั้งถึงลูกเรือ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสียหาแก่ทรัพย์สิน และการกระทำนั้นต้องปราศจาก การรู้เห็นเป็นใจของเจ้าของทรัพย์
ภัยอื่นๆ ( Other Peril ) หมายถึง ภัยอื่นๆนอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งผู้เอาประกันภัย ต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติม ก็จะต้องมีการตกลงกันในขณะขอเอาประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น เช่น ภัยสงคราม เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทจะออกใบเสร็จสลักหลังแนบติดไว้กับกรมธรรม์ โดยปกติกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลจะไม่คุ้มครองภัยสงคราม การนัดหยุดงาน การจลาจล หรือการวุ่นวายในประเทศ

การเลือกซื้อความคุ้มครอง

F.P.A. ย่อมาจาก “ Free Particular Average ” แปลว่า ไม่ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นบางส่วน บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะเมื่อสินค้าเสียหายโดยสิ้นเชิงเท่านั้น
W.A. ย่อมาจาก “ With Average ” แปลว่า รวมการชดใช้ที่เกิดขึ้นบางส่วนด้วย การประกันภัยตามเงื่อนไขนี้ให้ความคุ้มครองความเสียหายโดยสิ้นเชิง และความเสียหายบางส่วนด้วย แต่ความเสียหายบางส่วนนี้ จะต้องไม่ต่ำกว่า 3 % ของมูลค่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
All Risks เป็นเงื่อนไขความคุ้มครองที่กว้างขวางที่สุด คือ คุ้มครองความเสียหายทุกบาททุกสตางค์ ทั้งความเสียหายบางส่วน โดยไม่จำกัดเปอร์เซ็นต์ความสูญเสีย ความคุ้มครองแบบนี้ จำกัดความเสียหายทางกายภาพต่อสินค้าเท่านั้น ส่วนความเสียหายที่เกิดจากลักษณะอันเป็นการเสื่อมสภาพของสินค้าคัวเอง เช่น ผัก ผลไม้ ที่บูดเน่าเองตามธรรมชาติ รวมทั้งการล่าช้าและการสูญเสียตลาด จะไม่ได้รับความคุ้มครอง

ภัยพิเศษ ( Extraneous Risks )
ภัยพิเศษ หมายถึง ภัยภายนอก ที่ไม่ใช่ภัยทางทะเล แต่เป็นภัยที่เกิดขึ้น เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางทะเล ภัยพิเศษนี้ ถ้าผู้เอาประกันภัยซื้อความคุ้มครองตามเงื่อนไข All Risks ก็จะได้รับความคุ้มครองภัยพิเศษนี้ด้วย ภัยเพิ่มเติมพิเศษที่ผู้เอาประกันภัยนิยมซื้อเพิ่มเติมจากเงื่อนไข F.P.A. หรือ W.A. มีดังต่อไปนี้

ความเสียหายจากน้ำฝน น้ำจืด และ/หรือน้ำทะเล
การสิ่งสินค้าไม่ครบตามจำนวนหีบห่อโดยผู้รับขน
การแตกหัก งอ และ/หรือบุบ
การรั่วไหล หรือขาดจำนวนไป
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากตะขอที่ใช้เกี่ยว และจากตะปู
การฉีกขาด การขีดข่วน
ขโมย ลอบงัดแงะ
ความเสียหายจากการเปื้อนน้ำมัน คราบไข หรือถูกับสินค้าอื่น
ถูกน้ำกรด หนู แมลง น้ำที่เกิดจากการระบายอากาศ และความร้อน การระอุ ไหม้ขึ้นเอง
การเปรอะเปื้อน หรือถูกเจอปนด้วยโดยสิ่งแปลกปลอมอื่น

กรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ สำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเล ของสถาบันผู้รับประกันภัยแห่งลอนดอน ( Institute Cargo Clauses ) ที่ร่างขึ้นใหม่ คือ
Institute Cargo Clauses ( A ) ( ICC A ) ใช้แทนเงื่อนไขเดิม All Risks
Institute Cargo Clauses ( B ) ( ICC B ) ใช้แทนเงื่อนไขเดิม W.A.
Institute Cargo Clauses ( C ) ( ICC C ) ใช้แทนเงื่อนไขเดิม F.P.A.
การทำประกันภัย

ในการทำประกันภัยนั้น หากมีข้อมูลไม่เพียงพอ เช่น ไม่รู้ชื่อเรือ ไม่รู้จำนวนสินค้าที่แน่นอน การออกกรมธรรม์ประกันภัย ก็ไม่สามารถทำได้ สินค้าอาจได้รับความเสียหายก่อนที่ผู้ซื้อจะได้รับแจ้งเรื่องของลงเรือได้ ดังนั้น จำเป็นที่ผู้นำเข้า ควรจะได้รับการคุ้มครองจากบริษัทประกันภัยล่วงหน้า หรือโดยอัตโนมัติ ในทางปฏิบัติ การทำประกันล่วงหน้าเช่นนี้ สามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ

1. โดยการใช้ Cover Note
คือ เอกสารที่ผู้รับประกันภัยออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่า สินค้าตามรายการที่ระบุไว้ใน Cover Note นั้น ได้รับความคุ้มครองจากผู้รับประกันภัยแล้ว ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ใน Cover Note นั้น ตามปกติ เอาประกันภัยควรแสดงแจ้งให้ผู้รับประกันภัยออก Cover Note ทันที่ ที่เปิด L/C หรือ สั่งซื้อสินค้า และต่อมาเมื่อผู้เอาประกันภัยทราบจำนวนหีบห่อ ชื่อเรือ และวันที่สินค้าลงเรือจากผู้ขายแล้ว จึงแจ้งบริษัทประกันภัยอกกรมธรรม์ให้

2. โดยการใช้ Open Cover หรือ Open Policy
ใช้ในกรณีที่ผู้เอาประกัน สั่งสินค้าจำนวนบ่อยครั้ง ถ้าจะใช้วิธีออก Cover Note อาจไม่สะดวก และบางครั้งอาจลืมทำประกันได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่สะดวก ผู้ส่งสินค้าออก จะทำประกันเป็นกรมธรรม์ระยะยาว ภายใต้ความคุ้มครองแบบกรมธรรม์เปิด ผู้เอาประกันภัย ได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ สำหรับการส่งสินค้าทุกเที่ยว ภายใต้เงื่อนไข และอัตราเบี้ยประกันภัยที่ตายตัว มีการจำกัดจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด สำหรับการขนส่งในเรือหนึ่งลำ ถ้าผู้เอาประกันภัย ประสงค์จะให้การคุ้มครองเกินกำหนดดังกล่าว ก็จะต้องแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบ ก่อนที่จะทำการขนส่งภายใต้สัญญาคุ้มครองแบบกรมธรรม์เปิด ( Open Cover ) กำหนดให้ผู้เอาประกันภัย ต้องรับผิดชอบในเรืองการแจ้ง ให้ผู้รับประกันภัยทราบโดยเร็ว เท่าที่จะทำได้ถึงการขนส่งทุกเที่ยว หลังจากสินค้าเริ่มออกเดินทาง





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow