INSURANCETHAI.NET
Tue 15/10/2024 22:01:37
Home » การประกันภัย » หลักการรับช่วงสิทธิ (Principle of Subrogation)\"you

หลักการรับช่วงสิทธิ (Principle of Subrogation)

2019/02/14 13102👁️‍🗨️

หลักการรับช่วงสิทธิ (Principle of Subrogation)

หมายถึง  การกำหนดสิทธิของบริษัทประกันภัยว่าจะสามารถรับช่วงสิทธิทั้งปวงของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องเงินชดใช้จากบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ 3 ผู้ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินหรือวัตถุที่ได้เอาประกันภัยไว้ เมื่อบริษัทประกันภัยได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริงให้แก่ผู้เอาประกันภัย หลักที่กำหนดว่าผู้รับประกันภัยและความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นต้องเป็นการกระทำของบุคคลภายนอก

 ตัวอย่างเช่น

รถของนาย x ซึ่งทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ไว้กับ บริษัทประกันภัย A ถูกรถของนาย y ชนเสียหาย บริษัทประกันภัย A ซ่อม รถของนาย x คืนสู่สภาพเดิม และ บริษัทประกันภัย   A  จะรับช่วงสิทธิจากนาย x ไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนคืน (ไล่เบี้ยจากคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิด) จากนาย y ซึ่งเป็นผู้ละเมิดขับรถมาชน รถนาย x จนเสียหาย

หรือ หากนาย y ทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัทประกันภัย B บริษัทประกันภัย A ก็สามารถรับช่วงสิทธิจากนาย xไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนคืนจาก บริษัทประกันภัย x ได้โดยตรง

หลักในการรับช่วงสิทธิ

1.   การรับช่วงสิทธิในค่าเสียหายที่บริษัทประกันภัยได้จ่ายไป  

การพิจารณาการรับช่วงสิทธิในกรณีนี้มีลักษณะทั้ง 3 ประการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  880  มีดังนี้

1.1     ต้องเป็นการประกันวินาศภัย
1.2     วินาศภัยนั้นเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก
1.3     บริษัทประกันวินาศภัยได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว

หลักนี้ใช้สำหรับในกรณีที่บุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ 3 เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เอาประกันวินาศภัยโดยเฉพาะ

หลักการรับช่วงสิทธิได้ถูกบัญญัติขึ้น เพื่อให้มีความสัมพันธ์กับหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริง เพื่อให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ก่อวินาศภัยนั้นต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่ตนได้กระทำขึ้นตามกฎหมาย และเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนไปตามค่าเสียหายที่แท้จริงแล้วไม่สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนนั้นจากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ก่อความเสียหายได้อีก เพราะสิทธิดังกล่าวผู้รับประกันภัยได้รับช่วงไปแล้วตามกฎหมาย ผู้เอาประกันภัยจะเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนเดียวกันทั้งจากผู้ก่อวินาศภัยและผู้รับประกันภัยไม่ได้ และไม่ว่ากรณีใดผู้รับประกันภัยจะรับช่วงสิทธิ์เกินกว่าจำนวนที่ตนจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปไม่ได้

วินาศภัยที่อยู่ในความรับผิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยนั้น มีทั้งกรณีที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำของมนุษย์ และนอกเหนือจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ฟ้าผ่า อุทกภัย วาตภัย ฯลฯ แต่การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นวินาศภัยที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์เท่านั้น และผู้ก่อให้เกิดวินาศภัยนั้นจะต้องไม่ใช้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประประโยชน์เพราะการเกิดวินาศภัยด้วยความทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ถือว่าเป็นสภาวะภัยทางศีลธรรมที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยอยู่แล้ว

หลักการรับช่วงสิทธิกับหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การที่ผู้รับประกันภัยจะรับช่วงสิทธิจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของตนได้ ต้องเป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากเกิดวินาศภัยที่อยู่ในความรับผิดตามสัญญาประกันภัยเท่านั้น

การจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยสำคัญผิดว่าตนมีความรับผิดตามสัญญาประกันภัย เช่นสำคัญว่าผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะที่เกิดวินาศภัยหรือโดยสำคัญผิดว่ากรมธรรม์ประกันภัยมีผลใช้บังคับในขณะเกิดวินาศภัยก็ดี ผู้รับประกันภัยไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย

การเกิดวินาศภัยในบางกรณีมีปัญหาว่าอยู่ในความรับผิดตามสัญญาประกันภัยหรือไม่ ซึ่งการจะตีความให้ยุติผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยไม่ประสงค์จะทำเช่นนี้ จึงตกลงจ่ายเงินจำนวนหนึ่งซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า “สินไหมกรุณา (Ex-Gratia Payment)” ให้ผู้เอาประกันภัยรับไปบรรเทาความเสียหายนั้นผู้รับประกันภัยย่อมไม่ได้รับช่วงสิทธิตามกฎหมาย ดังนั้น การซื้อประกันภัย ควรให้ความสำคัญกับการเลือกบริษัทประกันภัย ที่มีธรรมภิบาล มีนโยบายที่เป็นมิตรกับลูกค้าและตัวแทน/นายหน้า นั่นเอง เพราะสินไหมกรุณานั้น บริษัทประกันจะจ่ายให้คุณหรือไม่ก็ได้ จะว่าไปก็คือ พอใจก็จ่ายไม่พอใจก็ไม่จ่าย

ในการประกันวินาศภัยถ้าบริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด หากภัยนั้นเกิดจากการก่อขึ้นของบุคคลภายนอกแล้วบริษัทประกันภัยก็ได้รับช่วงสิทธิไล่เบี้ยเอาเงินจำนวนที่จ่ายไปแล้วนั้นคืนจากำบุคคลภายนอนได้

2.   การรับช่วงสิทธิในซากทรัพย์

การรับช่วงสิทธิในซากทรัพย์จะเกิดขึ้นเฉพาะในการประกันวินาศภัยเท่านั้นซึ่งภายหลังเกิดภัยขึ้นมาแล้วทำให้เกิดความเสีย หายมีซากทรัพย์สินเหลือซึ่งยังมีราคาค่างวดอยู่บ้างเช่น เครื่องจักรของโรงงานที่ถูกเพลิงไหม้กลายเป็นซากเครื่องจักรใช้งานไม่ได้อีก อิฐหักกากปูนโครงสร้างเหล็กของอาคาร ตัวตึกที่ถูกเพลิงไหม้ ซากรถยนต์ที่พังยับเยิน ซากเรืออับบางที่อาจกู้คืนมาได้เหล่านี้ก็อาจมีราคาที่เป็นมูลค่าได้ทั้งนั้น

วันที่ทำประกันภัยทุนประกันภัยของรถยนต์ ชั้น1
ตั้งแต่ 80 % ของราคารถ ณ วันที่ทำประกันภัย หากเกิดความเสียหายกับตัวรถบริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายตามทุนประกันไปแล้วผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถให้กับบริษัทผู้รับประกันภัย

กรณีรับประกันภัยต่ำกว่า 80 % ของราคารถ ณ วันที่ทำประกันภัยหากเกิดความเสียหายกับตัวรถบริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายตามทุนประไปแล้วผู้เอาประกันภัยไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถให้กับบริษัทผู้รับประกันภัย

หลักการรับช่วงสิทธิ เป็นหลักชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัย ไม่สามารถนำมาใช้กับการประกันชีวิตได้เพราะสัญญาประกันชีวิตไม่ใช้สัญญาชดใช้ค่าเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริง หากความตายเกิดจากการกระทำของบุคคลที่ภายนอกหรือบุคคลที่ 3 กฎหมายให้ถือสิทธิเป็นของผู้รับประโยชน์หรือทายาทของผู้เอาประกันชีวิตที่จะไล่เบี้ยเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอนนั้นได้อีกด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  896 หลังจากได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิต  ผู้รับประโยชน์หรือทายาทของผู้เอาประกันชีวิตสามารถเรียกร้องได้ทั้ง 2 ทาง ดังนั้นหลักการรับช่วงสิทธิจึงไม่มีในกรณีการประกันชีวิต





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow