INSURANCETHAI.NET
Wed 24/04/2024 7:03:35
Home » กมลประกันภัย » เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน)\"you

เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน)

2017/08/14 1668👁️‍🗨️
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงดาบเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) แล้ว

ด้วยกระทรวงการคลังได้มีหนังสือที่ สร.กค.686 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1196/2560 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2560 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และคำสั่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ 5/2560 เรื่องแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 นั้น สำนักงาน คปภ.ขอชี้แจงข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดจนการเตรียมมาตรการต่างๆเพื่อรองรับมิให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบดังนี้

1. บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เดิมคือ บริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกคำสั่งนายทะเบียน ที่ 21/2558 ลงวันที่ 1 กันยายน 2558 สั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และให้บริษัทเร่งแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงาน ซึ่งบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในเวลาที่กำหนดได้ นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ดคปภ.) จึงนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในระหว่างนั้นบริษัทได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้มีการทบทวนคำสั่ง โดยแสดงหลักฐานการโอนเงินเข้ามาในบริษัททำให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสำนักงานคปภ.ได้มีการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เมื่อพบว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และมีความคืบหน้าในการดำเนินการตามเงื่อนไขอื่นๆ นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของ คณะกรรมการ คปภ. จึงอนุญาตให้บริษัทเปิดดำเนินการรับประกันวินาศภัยได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ภายใต้เงื่อนไขที่สำนักงาน คปภ. ต้องติดตามการดำเนินงานของบริษัทอย่างใกล้ชิด ต่อมาบริษัทได้มีการเปลี่ยนเป็นชื่อเป็น บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน)

2. ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามการดำเนินงานของบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาโดยตลอด ต่อมาเมื่อปรากฏข้อสงสัยว่าบริษัทอาจมีการทำธุรกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย สำนักงาน คปภ.จึงได้เข้าตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานในเชิงลึกในทันทีจนพบว่า บริษัทมีการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ดำรงสินทรัพย์

สำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการถอนเงิน ในบัญชีธนาคารของบริษัทให้กับกรรมการและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท ทำให้รายงานทางการเงินของบริษัทขาดความน่าเชื่อถือ อีกทั้งบริษัทค้างชำระค่าปรับตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบ ซึ่งปัจจุบันสายกฎหมายและคดีอยู่ระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว

3. ด้วยเหตุผลข้างต้นนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้บริษัทแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงาน และให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นผลให้บริษัทไม่สามารถรับประกันวินาศภัยและถูกระงับการทำธุรกรรมทั้งหมดในช่วงเวลาที่กำหนด โดยสำนักงาน คปภ. ได้เข้าควบคุมธุรกรรมการเงินเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระหว่างที่บริษัทต้องคำสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวและอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งฯ จะไม่มีการโยกย้ายทรัพย์สิน หรือมีการกระทำใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่รวดเร็วในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย โดยกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การจัดหาเงินทุน การเพิ่มทุนให้เพียงพอต่อภาระผูกผันตามสัญญาประกันภัยและให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด ปรับปรุงการบันทึกบัญชีให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง จัดให้มีระบบควบคุมภายใน การสอบทาน และการคานอำนาจของคณะกรรมการบริษัท จัดให้มีแผนธุรกิจ แผนบริหารความเสี่ยง และแผนการดำเนินงานที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ เป็นต้น ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560

4. นอกจากนี้เมื่อบริษัทมีหนังสือขอขยายระยะเวลา นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ยังได้ให้โอกาสแก่บริษัทโดยอนุญาตให้ขยายเวลาแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงานจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ตามที่บริษัทร้องขอ โดยกำชับว่า หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในเวลาที่ได้รับการขยาย สำนักงาน คปภ. จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ได้รับการอนุญาตให้ขยาย บริษัทยังไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ครบถ้วน ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 100 โดยจากการตรวจสอบเมื่อครบเวลาตามที่มีการอนุญาตให้ขยาย บริษัทไม่สามารถแสดงหลักฐานยืนยันว่า มีการนำเงินเข้าบัญชีของบริษัทให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งยังไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ได้ครบถ้วน ดังนั้น หากให้บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน สำนักงาน คปภ. ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ได้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาใช้อำนาจตามความในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท

5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้ครบถ้วน ได้แก่ งบการเงินของบริษัทยังไม่ผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต โดยผู้สอบบัญชีไม่อาจให้ข้อสรุปผลการสอบทาน เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการ และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ณ วันที่ 30 เมษายน 2560 จำนวนร้อยละ -312.92 การจัดทำแผนธุรกิจและแผนบริหารความเสี่ยงไม่มีความชัดเจน และการประมาณการฐานะทางการเงินยังไม่สอดคล้องกับธุรกิจ บริษัทไม่สามารถดำรงทรัพย์สินสำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย ตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4 ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ดำเนินการชำระค่าปรับตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบให้ครบถ้วน และปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าบริษัทดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ส่งผลให้บริษัทยังคงมีปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงาน ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัยได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2560

6. เนื่องจากการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นเพราะปัญหาฐานะการเงินและปัญหาการจัดการภายในของบริษัทนี้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด

7. สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชน สำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 23 บริษัท ยินดีรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัยซึ่ง ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ยังมีผลผูกพันอยู่ โดยขอความร่วมมือให้ผู้เอาประกันภัย ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยในแบบเดิม ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งบริษัทจะขยายความคุ้มครองให้กับผู้เอาประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือของกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้กับบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยไม่มีการคิดเบี้ยประกันภัยเพิ่ม ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิที่จะได้รับเบี้ยประกันภัย

สำหรับระยะเวลาที่เหลือจากผู้ชำระบัญชี หรือจากกองทุนประกันวินาศภัยให้แก่บริษัทที่รับโอนกรมธรรม์ประกันภัย นั้นด้วย สำหรับกรณีที่กรมธรรม์มีค่าเสียหายเกิดขึ้นแล้ว การเรียกร้องค่าเสียหายนั้นให้เป็นไปตาม

หลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยผู้ชำระบัญชีของบริษัทที่รัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต โดยสำนักงาน คปภ. ในทุกพื้นที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนเป็นเบื้องต้น

ทั้งนี้รายชื่อบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186

8. ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี และ/หรือกองทุนประกันวินาศภัย ภายในสองเดือนนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยออกประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัยบัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมายื่นต่อผู้ชำระบัญชีของ บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และกองทุนประกันวินาศภัยตามสถานที่ดังต่อไปนี้

ส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้

(1) สำนักงาน คปภ. เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

(2) สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600

(3) สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260

ส่วนภูมิภาค ยื่นที่ สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ

9. สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่ และภายในกำหนดเวลาที่ระบุข้างต้น พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการขอยื่นชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ

10. ทั้งนี้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย

ทางทีมงาน insurancethai.net ได้เข้าไปดูเว็บไซต์ของสัจจะประกันภัย (https://sajjainsurance.com/) หน้าเว็บมีข้อความ ดังนี้

คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ สัจจะประกันภัย ได้ที่ลิ้งนี้ https://www.insurancethai.net/กมลประกันภัย/

กรณี “สัจจะประกันภัย”ถูกปิด
คปภ. เร่งช่วยเหลือประชาชน 30 ต.ค. นี้ เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยสามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ทั้งในพื้นที่ กทม.–ต่างจังหวัด

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1196/2560 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2560 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และคำสั่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ 5/2560 เรื่องแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 เนื่องจากบริษัทฯ มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน และมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชน รวมถึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของบริษัทได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้วางแนวทางการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชนในเรื่องนี้เอาไว้หลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 47/2560 เรื่อง การใช้อัตราเบี้ยประกันภัยตามโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ทำสัญญาไว้กับบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันวินาศภัยเพื่อรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัยที่ทำประกันภัยไว้กับบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และยังมีผลผูกพันอยู่ จึงขอความร่วมมือให้ผู้เอาประกันภัย ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยในแบบเดิม ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งบริษัทจะขยายความคุ้มครองให้กับผู้เอาประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือของกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้กับบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยไม่มีการคิดเบี้ยประกันภัยเพิ่ม

กรณีที่กรมธรรม์มีค่าเสียหายเกิดขึ้นแล้ว
การเรียกร้องค่าเสียหายให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยผู้ชำระบัญชีของบริษัทที่รัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต โดยสำนักงาน คปภ. ในทุกพื้นที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนเป็นเบื้องต้น ทั้งนี้รายชื่อบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยในครั้งนี้มีจำนวน 23 บริษัท
บมจ. กรุงเทพประกันภัย
บมจ.กรุงไทยพานิชประกันภัย
บจ. กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
บมจ. โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย)
บมจ. ทิพยประกันภัย
บมจ. เทเวศประกันภัย
บมจ. ธนชาตประกันภัย
บมจ. นวกิจประกันภัย
บมจ. นำสินประกันภัย
บมจ. ประกันคุ้มภัย
บมจ. ประกันภัยไทยวิวัฒน์
บมจ. พุทธธรรมประกันภัย
บมจ. ฟอลคอนประกันภัย
บมจ. มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ สาขาประเทศไทย
บมจ. มิตรแท้ประกันภัย
บมจ. เมืองไทยประกันภัย
บมจ. วิริยะประกันภัย
บมจ. สินมั่นคงประกันภัย
บมจ. เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย)
บมจ. ไทยประกันภัย
บมจ.เอราวัณประกันภัย
บมจ. ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย
บมจ. ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย

ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่าในส่วนของผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีได้ตั้งแต่ วันที่ 30 ตุลาคม 2560 สิ้นสุดวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ภายในวันและเวลาราชการ 8.30 – 16.30 น. โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมายื่นต่อผู้ชำระบัญชีของ บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ 3 แห่ง คือ กองทุนประกันวินาศภัย อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 หมายเลขโทรศัพท์ 0 2791 1444 ต่อ 11-15 และ 21-24 สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 หมายเลขโทรศัพท์ 0 2476 9940-3 และสำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 หมายเลขโทรศัพท์ 0 2361 3769-70

ในส่วนของพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เจ้าหนี้สามารถดาวน์โหลดแบบคำทวงหนี้ได้ที่ www.gif.or.th หัวข้อ “แบบฟอร์ม” ได้อีกด้วย

สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่ และภายในกำหนดเวลาที่ระบุข้างต้น พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการขอยื่นชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ กรณีมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow