INSURANCETHAI.NET
Thu 10/10/2024 10:59:21
Home » การประกันภัย » หลักความสุจริตต่อกันอย่างยิ่ง (Utmost Good Faith)\"you

หลักความสุจริตต่อกันอย่างยิ่ง (Utmost Good Faith)

2019/02/11 8068👁️‍🗨️

สัญญาประกันภัยต้องอาศัยเหตุการณ์ ในอนาคตอันไม่แน่นอนมาเป็นปัจจัยในการกำหนดการชำระค่าสินไหมทดแทนของผู้รับประกันภัย โดยผู้รับประกันภัยจะต้องอาศัยข้อมูลต่าง ๆ ของ  ผู้เอาประกันภัยเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้ารับเสี่ยงภัยหรือไม่ ดังนั้นผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของการเสี่ยงภัยนั้นของผู้เอาประกันให้ผู้รับประกันภัยทราบโดยละเอียด หน้าที่การเปิดเผยข้อความจริงตามหลักสุจริตอย่างยิ่งนี้ ปัจจุบันใช้เป็นหลักของสัญญาประกันภัยในทุกประเทศ

หลักความสุจริตต่อกันอย่างยิ่ง หมายถึง  คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ได้แก่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย จะต้องมีความเป็นสุจริตในใจในการทำสัญญาต่อกัน โดยการเปิดเผยข้อความจริงการไม่แถลงข้อความเท็จ และการรับรองว่าจะปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย

ประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ มาตราที่ 865

“ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัยก็ดีหรือกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงิน ย่อมอาศัยการทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วจะเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัย ให้เรียกร้องประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นเท็จไซร้ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ”

หลักความสุจริตต่อกันอย่างยิ่ง ในกฎหมายจะบัญญัติไว้  ดังนี้

1. ผู้เอาประกันภัย จะต้องแถลงข้อความอันเป็นจริงทุกอย่างให้ผู้รับประกันภัยหรือตัวแทนเขาทราบ ถ้าแถลงข้อความอันเป็นเท็จสัญญาจะเป็นโมเฆียะไป นอกจากนี้การที่ผู้เอาประกันรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงที่จะเป็นเหตุให้ผู้รับประกันไม่รับประกัน หรืออาจรับแต่เรียกร้องเบี้ยประกันสูงสัญญาก็เป็นโมเฆียะ

 2. ผู้รับประกันภัย มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามปกติวิญญูชน (คือผู้รับประกันภัยทั่วๆ ไปควรใช้ความระมัดระวังที่จะสืบสานจนสามารถรู้ข้อความจริงนั้นได้หรือไม่) เรื่องที่ควรจะรู้ถึงข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ด้วยถ้ารู้แล้วรับประกันไปสัญญาก็สมบูรณ์ หรือถ้าไม่รู้แต่น่าจะได้รู้ ถ้าระมัดระวังบ้างสัญญาก็สมบูรณ์จะอ้างว่าผู้เอาประกันแถลงเท็จมาอ้างให้พ้นความรับผิดไม่ได้ (มาตรา 865-866)

 สาระสำคัญที่ถือว่าปฏิบัติหลักความสุจริตต่อกันอย่างยิ่ง สามารถพิจารณาได้ดังนี้

1.การไม่เปิดเผยข้อความจริง (Non-Disclosure)

 หมายถึง การเปิดเผยข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญ (Material Fact) ซึ่งอยู่ในความรู้เห็นของผู้เอาประกัน ทั้งที่เป็นข้อรู้เห็นโดยแท้ (Actual Knowledge) และข้อที่น่าจะรู้เห็น (Presumed Acknowledge) อันเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบโดยไม่ต้องสอบถามการไม่เปิดเผยข้อความจริงนี้ในบางกรณี เรียกว่า การปกปิดข้อความจริง (Concealment)

แต่ในการตีความนั้นกรณีจะถือว่าเป็นการปกปิดข้อความจริงก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัย มีเจตนาจะปกปิดข้อความจริงนั้นไม่ให้ผู้รับประกันภัยทราบ ซึ่งมีผลทำให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา865   ข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญซึ่งผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่จะต้องเปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบ มักจะเป็นสิ่งซึ่งมีการเสี่ยงภัยมากกว่าปกติและเกี่ยวเนื่องกับสภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) ซึ่งผู้รับประกันภัยจะให้ความสนใจเป็นพิเศษในการพิจารณาว่าจะรับประกันภัยนั้นหรือไม่และถ้าหากรับประกันภัยได้ จะรับในอัตราเบี้ยประกันภัยปกติหรือ อัตราเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้นหรือจะต้องกำหนดเงื่อนไขพิเศษในการรับประกันภัยนั้น เช่นยกเว้นบางอย่าง เป็นต้น

ตัวอย่าง

กรณีที่นาย A นำรถยนต์ของตนที่เพิ่งเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุไปเฉี่ยวชนต้นไม้ มาขอทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 กับบริษัทประกันภัย โดยไม่ได้แจ้งให้บริษัททราบ และยังมีเจตนาที่จะทุจริตต่อบริษัทโดยการแจ้งเคลมความเสียหายจากอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นก่อนที่บริษัทตกลงจะรับประกันภัยด้วย

ถือว่านาย A ไม่เปิดเผยข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญให้บริษัทราบ ซึ่งถ้าหากบริษัททราบข้อความจริงนี้ก่อนก็จะปฏิเสธการรับประกันภัยรถยนต์คันนี้ บริษัทประกันภัยแห่งนี้จึงสามารถจะใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865

บริษัทประกันจะไม่จ่ายเคลมให้กับนาย A และโดยทั่วไปก็มักไม่ฟ้องร้องลูกค้า

2.การแถลงข้อความเท็จ (Misrepresentation)

หมายถึง การที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องตอบข้อซักถามของบริษัทประกันภัยในขณะขอทำสัญญาประกันภัยให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งจะกระทำโดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรตามแต่กรณี การแถลงหรือตอบข้อซักถามที่เป็นความเท็จ ทำให้สัญญาประกันตกเป็นโมฆียะ เช่นเดียวกับการเปิดเผยข้อความจริงหรือการปกปิดข้อความจริง

ตัวอย่าง

แพทย์ได้วินิจฉัยว่านาย A ป่วยด้วยโรคมะเร็งในตับระยะที่ 3 และแพทย์ได้ลงความเห็นว่า นาย A คงจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกไม่เกิด 1 ปี นาย A จะมาขอทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งเป็นเงิน 100,000 บาท เพื่อจะได้มีหลักประกันให้แก่ครอบครัวภายหลังจากที่ตนเสียชีวิตลง ซึ่งนาย Aทราบจากตัวแทนว่าตามระเบียบบริษัทแล้ว วงเงินทุนประกัน 100,000 บาทนี้ ไม่ต้องมีการตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันชีวิต เพียงกรอกรายละเอียดในใบคำขอเอาประกันชีวิตเท่านั้น ซึ่งนาย Aเพียงแต่กรอกรายละเอียดในคำถามข้อที่ว่า “ท่านเคยป่วยหรือวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งหรือไม่” ว่า “ไม่” เท่านั้น ซึ่งบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นก็ไม่ได้ตรวจสุขภาพของนาย A ก่อนการรับประกัน เนื่องจากเป็นวงเงินทุนประกันที่ต่ำ หลังจากที่บริษัทตกลงรับประกันชีวิตของนาย A ไปได้ 8 เดือน นาย A เสียชีวิต บริษัทสงสัยจึงใช้เวลา 2 สัปดาห์ สืบหาพบหลักฐานชัดว่า นาย A เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในตับ

ถือว่านาย A ได้แถลงข้อความเท็จที่เป็นสาระสำคัญ (Material Misrepresentation) ต่อการพิจารณารับประกันชีวิตของบริษัท ซึ่งถ้าหากบริษัททราบข้อความจริงนี้ตั้งแต่ต้น บริษัทก็จะปฏิเสธการรับประกันชีวิตของนาย A

บริษัทประกันชีวิตจึงใช้สิทธิในการบอกล้างสัญญาประกันชีวิตนั้นได้ทันทีตามประมาณกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865

หากทำประกันชีวิตครบ 2 ปี บริษัทประกันชีวิต ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้

เป็นที่มาว่า ถ้าคุณจะ โกง บริษัทประกันชีวิต ก็ต้องปกปิดให้ได้2ปี

3.คำรับรอง (Warranties)

หมายถึง  การที่ผู้เอาประกันภัยให้คำรับรองต่อผู้รับประกันภัยว่า ผู้เอาประกันภัยจะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการเสี่ยงภัยของผู้รับประกันภัย

เช่น ผู้เอาประกันภัยจะไม่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ในอาคารที่เอาประกันภัยหรือจะต้องจัดหาอุปกรณ์ดับเพลิงติดตั้งอยู่ในอาคารที่เอาประกันภัย

คำรับรองโดยทั่วไปจะต้องเขียนไว้ชัดเจนในสัญญาประกับภัย
การปฏิบัติผิดคำรับรองหรือการไม่ปฏิบัติตามคำรับรองมีผลเท่ากับการปฏิบัติผิดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันภัย ผู้รับประกันภัยมีสิทธิปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาประกันภัยได้





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow