INSURANCETHAI.NET
Fri 19/04/2024 21:42:45
Home » Don't miss it » ปิดสัจจะประกันภัย\"you

ปิดสัจจะประกันภัย

2017/09/09 1586👁️‍🗨️

ปิดฉาก บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) หลังคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้เรียกประชุมบอร์ดนัดพิเศษ เย็น9 ส.ค. 2560 เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันภัย บริษัทสัจจะฯ หลังจากก่อนหน้านี้ ผู้บริหารได้เข้ามาขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 8 วัน เนื่องจากเงินทุนเข้าไม่ทัน ทั้งที่เส้นตายให้ผู้บริหารสัจจะฯ ส่งแผนปรับปรุงแก้ไขฐานะการเงิน ภายใน 31 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา

นายทะเบียน ด้วยความเห็นชอบของบอร์ด คปภ.ก็ได้ให้โอกาสแก่บริษัท ให้ขยายเวลาแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงาน จนถึงวันที่ 8 ส.ค. 2560 ตามที่ร้องขอ โดยกำชับว่า หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในเวลาที่ได้รับการขยาย สำนักงาน คปภ.จำเป็นต้องดำเนินการตามกฏหมายโดยเคร่งครัด จนในที่สุดบริษัทไม่สามารถหาเงินแก้ไขสถานการณ์ได้ จนในที่สุดบอร์ด คปภ.จึงมีอันต้องมีลงมติเพิกถอนโดยปริยาย และนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามเพิกถอนใบอนุญาต

โกงความตาย ซ้ำรอย “กมลฯ” ไม่สำเร็จ
ก่อนหน้านี้หลายคนต่างลุ้นกันว่า บริษัทสัจจะฯ มีสิทธิ์จะโกงความตายได้อีกครั้งเหมือนคราว บริษัทกมลประกันภัย ได้อีกหรือไม่ เหมือนเมื่อครั้งยังเป็น บริษัทกมลประกันภัย ได้ถูกหยุดรับ ประกันวินาศภัย เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2558 และให้บริษัทเร่งแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น …
– การตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนและหนี้สินต่างๆ ให้ครบถ้วน
– การจัดหาเงินทุนเพื่อทำให้บริษัทบริษัทดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
– ปรับปรุงให้มีระบบงานของบริษัท และบุคลากรที่เหมาะสมเพียงพอที่จะให้บริการแก่ประชาชนและผู้เอาประกันภัย อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่เนื่องจากบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครบถ้วน สำนักงาน คปภ.โดยความเห็นชอบของบอร์ด คปภ.จึงเสนอเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบนุญาต บริษัทกมลประกันภัย

ต่อมาบริษัทได้ส่งหนังสือนำเรียน รมว.คลัง เพื่อขอให้พิจารณาระงับการเพิกถอนใบอนุญาต และให้บริษัทดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยได้ตามปกติ ซึ่ง รมว.คลังได้ส่งเรื่องไปยังปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ คปภ.พิจารณา และสำนักงาน คปภ.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมบอร์ด คปภ.ในเวลาต่อมา กระทั่งถัดมา คปภ.ได้ไฟเขียวให้เปิดดำเนินการต่อ โดยให้เหตุผลว่า บริษัทมีการเพิ่มทุนเข้ามาในบริษัท โดยมีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากรวม 150 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน 157.1%

อีกทั้งบริษัทยังได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทชุดใหม่ ปรับปรุงแผนธุรกิจใหม่ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขระบบงานของบริษัท พร้อมจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานส่งให้สำนักงาน คปภ.แล้ว โดยการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักงาน คปภ.ได้ทำอย่างรอบคอบตรงไปตรงมา โดยมีกระบวนการทำงานอย่างเข้มข้น รัดกุม และที่สำคัญมีข้อกฎหมายและข้อมูลต่างๆ รองรับอย่างชัดเจน อีกทั้งยังผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการกลั่นกรอง และเสนอแนะการใช้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา บริษัทประกันภัย ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอา ประกันภัย หรือประชาชน หรือที่เรียกกันว่า “คณะกรรมการ ICU” ถึง 3 ครั้ง

รวมทั้ง บอร์ด คปภ.เอง ก็ได้พิจารณากันอย่างละเอียด และซักถามข้อสงสัยต่างๆ พร้อมให้สำนักงาน คปภ.วิเคราะห์ในเชิงลึก โดยพิจารณาทั้งประเด็นข้อกฎหมายและประเด็นอื่นๆ ประกอบกัน ทั้งก่อนที่จะมีมติก็ได้ให้ข้อสังเกตไปปรับปรุงในหลายประเด็น ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการครบถ้วนแล้ว และแม้ว่าจะยุติการเพิกถอนใบอนุญาตฯ ของบริษัท และเห็นชอบให้บริษัทเปิดดำเนินธุรกิจได้แล้ว แต่ คปภ.ยังคงติดตามการดำเนินงานของบริษัทอย่างใกล้ชิดต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีฐานะการเงินและการดำเนินงานที่มั่นคงน่าเชื่อถือ

สัจจะฯ ทำสถิติทุนใหม่ บริหารสั้นสุด 1 ปี 1 เดือน
บริษัทสัจจะประกันภัย ถือว่าได้สร้างสถิติใหม่ให้กับวงการ ประกันภัย ในฐานะ บริษัทประกันภัย ที่เปลี่ยนมือเจ้าของกิจการใหม่ และมีอันต้องปิดกิจการหรือม้วนเสื่อเร็วที่สุด โดยกลุ่มทุนใหม่ “สัจจะประกันภัย” ได้เข้ามาซื้อกิจการจากทุนเก่า บริษัทกมลประกันภัย และเริ่มรันงาน “สัจจะประกันภัย” ได้ก็เมื่อช่วงปลาย มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา หรือถ้านับการใช้เวลาบริหารถึงมีคำสั่งถูกเพิกถอนใบอนุญาต ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560 ใช้เวลาเพียง 1 ปีกับ 1 เดือนเศษๆ เท่านั้น

“เอทีเอฟประกันภัย” หรือ “วิคตอรี่ประกันภัย” หลังทุนใหม่เข้ามาเทคโอเวอร์ต่อ แต่ก็ฮึดบริหารมาได้ระยะหนึ่งราว 2-3 ปี หรือแม้แต่ “สัญญาประกันภัย” ที่ เสี่ยบิ๊ก ได้เข้าซื้อกิจการ พระนครธนบุรีประกันภัย ต่อจาก 3 กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ช่วงเดือน ส.ค. 2556 แต่ก็ยื้อชะตากรรมกว่าจะถูกเพิกถอนใบนุญาตได้ ก็ตกวันที่ 31 มี.ค. 2559 ปาเข้าไปเกือบร่วม 3 ปีทีเดียว

ลอยแพพนักงาน 200 กว่าชีวิต
จากกรณีคำสั่งปิดกิจการ “สัจจะฯ” ครั้งนี้ ความเสียหายโดยรวมยังไม่มาก คปภ.จึงใช้ บริษัทประกันภัย เพียง 23 แห่งเข้าไปรับช่วงโอนกรมธรรม์ลูกค้าสัจจะฯ ต่างจากกรณี สัญญาประกันภัย ที่ใช้ถึง 31 บริษัทประกันภัย โดยลูกค้าส่วนใหญ่ที่จะเจ็บตัวจะเป็นกลุ่มลูกค้าสหกรณ์ต่างๆ ที่มีสถิติความเสี่ยงภัยในการเคลมค่อนข้างสูงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และ บริษัทประกันภัย มักจะขยาดและไม่ค่อยรับกัน ส่วนที่จะเป็นปัญหาน่าหนักใจก็คือ พนักงาน 200 กว่าชีวิต ที่มีอันต้องตกงาน หรือหางานทำลำบากกัน เนื่องจากบางรายก็อายุมากแล้ว

ในขณะที่เงินชดเชยทางด้านแรงงานก็ยังพอจะมีทางออก เนื่องจากอาจจะไปยื่นเรื่องขอเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ จากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งก่อนหน้านี้พนักงานของ บริษัทสัญญาประกันภัย ก็เคยได้ไปยื่นฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน และชนะคดีมาแล้ว โดยศาลแรงงานให้กองทุนประกันวินาศภัยจ่ายชดเชยให้กับพนักงานบริษัทสัญญาน และทางกองทุนในฐานะผู้ชำระบัญชีก็ไม่ได้ติดใจะอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานต่อในประเด็นนี้ ซึ่งน่าจะนำมาใช้เป็นบรรทัดฐาน ช่วยให้พนักงานบริษัทสัจจะฯ ที่มีอยู่กว่า 200 ชีวิต ได้รับการเยียวยาจุดนี้ผ่านพ้นไปได้ ประกอบกับเงินเดือนพนักงานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สูงมากมาย โดยอยู่ระดับ 1-2 หมื่นบาทโดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นโครงสร้างเงินเดือนเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเป็น บริษัทกมลประกันภัย มานานแล้ว

บทเรียนทุนใหม่ซื้อ บ.ประกันภัย
บริษัทสัจจะฯ เป็นบทเรียนให้กลุ่มนายทุนใหม่ที่สายป่านไม่แข็ง หรือสายป่านสั้น แล้วจะก้าวขาเข้ามาชิมลางในธุรกิจนี้ เพราะ คปภ.เองถือว่ามีประสบการณ์ และผ่านร้อนผ่านหนาวกับการล้มลุกคลุกคลานของ บริษัทประกันภัย ประเภทง่อนแง่น และถูกเทคโอเวอร์มานักต่อนักแล้ว ย่อมจะรู้ทางหนีที่ไล่ หรือจุดแข็งจุดอ่อนของ บริษัทประกันภัย เป็นอย่างดี ดังจะเห็นการปฎิบัติการเข้าชาร์ทเวลา บริษัทประกันภัยเกิดปัญหา ณ เวลานี้ ค่อนข้างเร็ว

อีกทั้งการออกกฎระเบียบเข้มข้น ทั้งให้ทุกบริษัทมีการส่งรายงานเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส แถมยังมีกระบวนการกลั่นกรองของ คณะกรรมการกลั่นกรอง และเสนอแนะการใช้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา บริษัทประกันภัย ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอา ประกันภัย หรือประชาชน หรือที่เรียกกันว่า “คณะกรรมการ ICU” ซ้อนอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น บริษัทประกันภัย รายใดที่ไม่แข็งจริง หรือคิดจะมาตายเอาดาบหน้าคงจะคิดผิด โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหม่รายไหนที่วาดฝันกับการที่จะมาเอาดี จากการเข้ามากอบโกยกำไรจากการขาย ประกันภัยรถยนต์ ที่ซื้อขายได้คล่อง

โดยเฉพาะงาน พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ ที่เป็น ประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับ หรือแม้แต่ลูกค้างานประกันกลุ่มสหกรณ์ก็ตาม คงต้องคิดเสียใหม่แล้ว โดยเฉพาะในระยะหลังๆ มานี้ ในเรื่องของแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทที่ประสบปัญหา มักจะพูดถึงและเน้นให้ความสำคัญของเรื่องไอที หรือเรื่องระบบเป็นอย่างมาก เพราะมีส่วนสำคัญต่อการจัดเก็บข้อมูล และเชื่อมต่อกับ คปภ.ในการดำเนินงาน

การดำเนินธุรกิจ ประกันภัย ในยุคนี้ คงไม่ดีเหมือนกับสมัย 10 ปีที่แล้ว กลุ่มทุนที่สายป่านไม่ยาว หรือแข็งจริง ยังพอจะมีโอกาสเข้ามาทำธุรกิจในแนวทางเอาเบี้ย ประกันภัย ใหม่ของลูกค้าที่เข้ามา แล้วนำจ่ายสินไหมให้กับลูกค้าได้ แต่บทบาท คปภ.ในยุคนี้ได้เปลี่ยนวิธีการทำงานไปมาก โดยเฉพาะการนำกฎเหล็กการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง หรือ RBC เข้ามาใช้กำกับ

RBC Risk Based Capital การกำกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง
CAR Capital Adequacy Ratio  อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน

การดํารงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk-based Capital)
เงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง คือ จํานวนเงินกองทุนที่บริษทควรจะดำรงไว้ภายใต้ความเสี่ยงที่บริษทเผชิญในการดำเนินธุรกิจทั้งในด้านของประเภทและความรุนแรงของความเสี่ยง ซึ่งบริษทที่ดําเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง ก็พึงดํารงเงินกองทุนไว้สูงเพื่อรองรับความเสี่ยงจากผลขาดทุนที่ไม่ได้คาดไว้และสร้างความมั่นใจว่าบริษัทมีความมั่นคงด้วยการดํารงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. ให้บริษทประกันภัยมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง ณ ระดับความเชื่อมั่นที่ยอมรับได้และเทียบ เคียงได้กับสถาบันการเงินอื่น
2. ให้บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี สะท้อนตามความเสี่ยงที่แต่ละบริษัทมีและดํารงเงินกองทุนให้เพียงพอในการรองรับความเสี่ยงอย่างเหมาะสมกับการประกอบธุรกิจ
3. เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าเมื่อระดับความเพียงพอของเงินกองทุนลดต่ําลง เพื่อทื่บริษัท หรือ ผู้กํากับดูแลสามารถดําเนินมาตรการแก้ไขที่จําเป็นได้อย่างรวดเร็ว

สำนักงาน คปภ. กำหนดให้การกำกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง( Risk Based Capital :RBC) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 เพื่อให้บริษัทประกันภัยมีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับความสูญเสีย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงสร้างศักยภาพธุรกิจประกันภัยไทยให้เข้มแข็งตามมาตรฐานสากล โดยในช่วงแรกได้กำหนดอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 125 โดยจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัยมีเวลาปรับตัวมากขึ้น ดังนี้ – 1 กันยายน 2554 – 31 ธันวาคม 2555 กำหนดอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนสำหรับการเข้าแทรกแซงบริษัท (Solvency CAR) เท่ากับ ร้อยละ 125 – 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป กำหนดอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนสำหรับการเข้าแทรกแซงบริษัท (Solvency CAR) เท่ากับ ร้อยละ 140 โดยในปี 2557 สำนักงานคปภ. จะทำการทบทวนค่าความเสี่ยงแต่ละประเภทความเสี่ยง รวมถึงอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ใช้ในการแทรกแซงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในขณะนั้น นอกจากนี้เกณฑ์ RBC ที่จะใช้นี้ จะวัดระดับเงินกองทุน 2 ขั้น คือ – ต่ำกว่าร้อยละ 125 บริษัทประกันภัยยังสามารถรับประกันภัยได้อยู่ แต่จะให้จัดทำแผนแก้ไขฐานะการเงิน ซึ่งระหว่างนั้นจะถูกสั่งห้ามลงทุนหรือขยายธุรกิจใดๆ เพิ่มเติม – ต่ำกว่าร้อยละ 100 หากเป็นบริษัทประกันวินาศภัยจะถูกสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราวทันที ส่วนบริษัทประกันชีวิต จะถูกเข้าควบคุมกิจการ ทั้งนี้ การใช้ RBC จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าบริษัทประกันภัยมีความมั่นคงพียงพอที่รองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะถ้าบริษัทมีความเสี่ยงมาก ก็จะต้องมีเงินกองทุนมารองรับความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย

และมีการวัด Car Ratio รายงานเผยแพร่ต่อสาธารณะชน อัพเดทตลอดเป็นรายเดือน รายไตรมาส เพราะฉะนั้นหากบริษัทไหนไม่มีเงินเพียงพอสำรองสำหรับรองรับความเสี่ยง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ รับประกันงานใหม่เข้ามา โดยไม่มีเงินบนหน้าตักเพียงพอต่อการรองรับค่าสินไหม หรือความเสี่ยงภัยที่จะเกิด คปภ.ย่อมจะเข้ามาปฎิบัติการชาร์ททันที เริ่มต้นตั้งแต่การสั่งหยุดรับ ประกันภัย ชั่วคราว จนกระทั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไขสถานะ และความเพียงพอของเงินทุน รวมไปถึงการจัดให้มีการวางระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือได้ในการดำเนินธุรกิจต่อ





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow