INSURANCETHAI.NET
Fri 29/03/2024 16:11:34
Home » Don't miss it » สินมั่นคง ขาดทุน 29,421.37 ล้าน ยื่นขอฟิ้นฟูกิจการ\"you

สินมั่นคง ขาดทุน 29,421.37 ล้าน ยื่นขอฟิ้นฟูกิจการ

2022/05/26 739131👁️‍🗨️

บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ชื่อหลักทรัพย์ SMK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2565
ผลขาดทุนสุทธิ 29,421.37 ล้านบาท ลดลง 16,794.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
มีรายได้เท่ากับ 2,474.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.32 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 2,452.74 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.79%
– สาเหตุหลักมาจากเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้ในไตรมาสนี้เท่ากับ 2,410.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.21 ล้านบาท หรือ 2% เป็นผลจากสำรองเบี้ยประกันบวกกลับ ที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกับของปีก่อน ที่ 566.02 ล้านบาท
– รายได้และกำไรจากการลงทุนลดลง 17.54 ล้านบาท หรือลดลง 32.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สาเหตุจากรายได้รายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลลดลง 51.68 ล้านบาท หรือลดลง 73.38% แต่ผลขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมอยู่ที่ 38.20 ล้านบาท หรือลดลง 99.99% เนื่องจากไตรมาส 1/2564 มีผลขาดทุนจากสัญญา FX (สัญญาซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศ)

ค่าใช้จ่าย 31,624.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29,388.06 ล้านบาท หรือ 1,313.81% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปัจจัยหลักมากจาก

  • สำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดในไตรมาส 1/2565 เท่ากับ 6,374.52 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% เป็นผลมาจากสำรองเบี้ยประกันภัยไม่เพียงพอต่อค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 จึงต้องตั้งสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุนเพิ่มเติ่ม
  • ค่าสินไหมทดแทนไตรมาส1/2565 24,571.77 ล้านบาท +23,166.89 ล้านบาท หรือ +1,649.03%
    – ค่าสินไหมทดแทนประเภทอื่น ๆ 1,311.03 ล้านบาท
    – ค่าสินไหมทดแทนโควิด 23,260.74 ล้านบาท

ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ สินมั่นคงประกันภัย
ไตรมาส 1/65 ขาดทุนสุทธิ 29,421.37 ล้านบาท
จ่ายสินไหมประกันโควิดแค่ 3 เดือนแรกของปี 65 กว่า 23,260.74 ล้านบาท

18 พ.ค. 2022 สินมั่นคงประกันภัย แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง พร้อมแนวทางฟื้นฟู และหาแหล่งเงินทุนใหม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันโควิด-19

23 พ.ค. 65 นายเรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ระบุว่า ไตรมาสที่ 1/65 บริษัทขาดทุนสุทธิ 29,421.37 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16,794.48% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/64 บริษัทมีกำไรสุทธิ 176.23 ล้านบาท
วิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการดังนี้
1. รายได้รวมของบริษัทฯ ในไตรมาส 1/65 เท่ากับ 2,472.06 ล้านบาท
+19.32 ล้านบาท จากช่วงระยะเวลาเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,452.74 ล้านบาท หรือ +0.79%
สาเหตุหลัก ดังนี้
1.1 เบี้ยประกันภัย ที่ถือเป็นรายได้ในไตรมาสนี้ 2,410.43 ล้านบาท
+ 47.21 ล้านบาท หรือ +2% จากสำรองเบี้ยประกันภัย บวกกับที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนจำนวน 566.02 ล้านบาท
1.2 รายได้และกำไรจากการลงทุน -17.54 ล้านบาท -32.64% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน
สาเหตุหลักจากรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลที่ -51.68 ล้านบาท หรือ -73.38% แต่ผลขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรม -38.20 ล้านบาท หรือ -99.99% เนื่องจากไตรมาส 1/64 มีผลขาดทุนจากสัญญา FX
2. ค่าใช้จ่ายรวม เท่ากับ 31,624.92 ล้านบาท +29,388.06 ล้านบาท หรือ +1,313.81% จากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 2,236.85 ล้านบาท สาเหตุหลัก ดังนี้
– สำรองความเสี่ยงภัย ที่ยังไม่สิ้นสุดในไตรมาส 1 ปี 2565 เท่ากับ 6,374.52 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 100.00% เป็นผลมาจากสำรองเบี้ยประกันภัยไม่เพียงพอต่อค่าสินไหมทดแทน Covid-19 จึงต้องตั้งสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดเพิ่มเติม
– ค่าสินไหมทดแทน ในไตรมาส 1/65 เท่ากับ 24,571.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,166.89 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 1,649.03% โดยแยกเป็นค่าสินไหมทดแทนประเภทอื่นๆ 1,311.03 ล้านบาท และค่าสินไหมทดแทนโควิดเท่ากับ 23,260.74 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในปี 2564
3. กำไรจากการรับประกันภัย ไตรมาส 1/65 -29,187.25 ล้านบาท เนื่องจากการรับประกันภัยโควิดประสบผลขาดทุนเป็น จำนวนเงินสูงถึง 29,479.68 ล้านบาท การรับประกันภัยประเภทอื่นๆ มีผลกำไรจำนวน 292.42 ล้านบาท

สรุป สาเหตุหลักที่ทำให้ผลการดำเนินงานประสบผลขาดทุนสูงถึง 29,421.37 ล้านบาท มาจากจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 ซึ่งมีจำนวนเงินจ่ายสินไหมทดแทนโควิด เพียง 19.08 ล้านบาท

นอกจากนี้ สินมั่นคงประกันภัย ได้ทำการประกาศกรอบเวลาและขั้นตอนฟื้นฟูกิจการ เร่งแก้ไขปัญหาสินไหมโควิด หลังศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ จึงได้กำหนดกรอบระยะเวลาประมาณการเพื่อฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น และขั้นตอนกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาสินไหมโควิด และสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ต่อไป โดยกรอบระยะเวลาดำเนินการการฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้นดังนี้

กรอบระยะเวลาดำเนินการนี้เป็นการประมาณการเบื้องต้นและภายใต้สมมติฐานที่ดีที่สุด แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและจำเป็น

1. บริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล 17 พ.ค. 65
2. ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และกำหนดวันนัดพิจารณาลูกหนี้อยู่ในสภาวะบังคับชั่วคราว หรือ สภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) 18 พ.ค. 65
3. ศาลจัดส่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้บรรดาเจ้าหนี้ประมาณเดือน มิ.ย. 65
4. ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ 15 ส.ค. 65
5. ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนประมาณเดือน ต.ค. 65
6. ประกาศคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์และราชกิจจานุเบกษา (หลังจากศาลมีคำสั่งตามข้อ 5 ประมาณ 1 เดือน) ประมาณเดือน พ.ย. 65
7. เจ้าหนี้ต้องดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลา 1 เดือนนับจากวันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนประมาณเดือน ธ.ค. 65
8. ผู้ทำแผนจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและส่งแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือนนับจากวันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน (ขอขยายได้ 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 1 เดือน) ประมาณเดือน มี.ค. 66
9. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้กับเจ้าหนี้ประมาณเดือน เม.ย. 66
10. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาลงมติออกเสียงในแผนฟื้นฟูกิจการประมาณเดือน พ.ค. 66
11. ศาลล้มละลายพิจารณาคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการประมาณเดือน มิ.ย. 66
12. ผู้บริหารแผนดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ก.ค. 66 เป็นต้นไป

ผู้เอาประกันโควิด-19 “สินมั่นคง” ประกาศนัดรวมพลยื่นคัดค้านการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ที่ศาลล้มละลายกลาง วันจันทร์ 23 พ.ค. 2022

วันที่ 22 พ.ค. 2565
กรณีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด(มหาชน) หรือ SMK  ที่ล่าสุดออกมาชี้แจงว่าบริษัทมีภาระจ่ายเคลมประกันโควิด-19  รวมทั้งสิ้นกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท และได้มีการจ่ายสินไหมไปแล้ว 11,875 ล้านบาท โดยนำเงินจากกำไรสะสมทั้งหมดมาจ่าย ขณะที่ยังมียอดคงค้าง ของผู้ยื่นเคลมประกันอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เคลมให้กับผู้เอาประกันได้
โดยบริษัทสินมั่นคงฯได้ตัดสินใจยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่17พฤษภาคม2565 และเมื่อ วันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลล้มละลายฯได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว พร้อมกับได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เพื่อที่ศาลฯจะพิจารณาว่าจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่

หลังจากการที่ศาลล้มละลายฯได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ  มีผลทำให้เกิด”สภาวะการพักชำระหนี้” (Automatic Stay)
หมายความว่าบริษัท “สินมั่นคง” ในฐานะลูกหนี้จะได้รับความคุ้มครองหยุดพักชำระหนี้ โดยอัตโนมัติทันที จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้กลุ่มเจ้าหนี้ผู้เอาประกันโควิด”เจอจ่ายจบ”ในเพจต่างๆ อาทิ เพจรวมตัวฟ้องสินมั่นคงหากยกเลิกประกันโควิด

ตามกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันในฐาน “เจ้าหนี้” มีสิทธิคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้
ผู้เอาประกันโควิด-19 จำนวนมากแสดงความคิดเห็น บริษัทไม่มีความรับผิดชอบ และเกรงว่าถ้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จะทำให้ผู้ประกันตนโควิด ไม่ได้รับเงินค่าสินไหม หรืออาจจะทำให้จะต้องใช้เวลา 3ปี 5ปี ในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟู และหลายคนมองว่าการฟื้นฟูจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้(สินมั่นคง) มากกว่า แต่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันโควิด-19 จะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์
เพจเคลมประกันโควิค(สินมั่นคงประกันภัย) ฯลฯ มีการเชิญชวนรวมตัวกันไปยื่นคัดค้านการฟื้นฟูกิจการในวันจันทร์ 23 พ.ค. 2565 ที่ศาลล้มละลายกลาง

ลูกค้าสินมั่นคงประกันภัย จะเคลมประกันโควิดอย่างไร เมื่อบริษัทขอฟื้นฟูกิจการ
เมื่อบริษัทกำลังยื่นฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลาง มูลค่าหนี้ประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท หลังจาก บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ตามพ.ร.บ.ล้มละลายฯ โดยเสนอให้บริษัทตัวเอง เป็นผู้บริหารแผนเอง โดยศาลล้มละลายกลางเตรียมนัดไต่สวนเจ้าหนี้ที่ประกอบไปด้วยธนาคาร ไปจนถึงเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบที่แจ้งเคลม หรือใช้สิทธิ์เรียกร้องแล้วรวมกว่า 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท ในวันที่ 18 ส.ค. 65 นี้

ล่าสุด สินมั่นคงประกันภัย อธิบายประเด็นคำถามต่างๆ

ถาม : การยื่นฟื้นฟูกิจการ ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี หมายความว่าสินมั่นคงจะหยุดการจ่ายสินไหมโควิดไปอย่างน้อย 5 ปี จริงหรือไม่
ตอบ : ไม่จริง บริษัทฯ จะเริ่มจ่ายหลังจากศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นประมาณเดือนมิ.ย. 2566 และแนวทางการจ่ายชำระหนี้ที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการจะต้องมีการเจรจากันระหว่างเจ้าหนี้และบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะหาแนวทางการชำระหนี้ที่เร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ และจะต้องได้รับจากแผนฟื้นฟูมากกว่ากรณีปิดกิจการ

ถาม : เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูแล้ว ทำไมจึงไม่สามารถจ่ายเงินผ่อนตามสัญญาได้
ตอบ : หลังศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จะไม่สามารถจ่ายสินไหมโควิดให้ผู้เอาประกันกรมธรรม์โควิดได้เป็นการชั่วคราว เนื่องจากติดข้อห้ามตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการ Automatic Stay หรือสภาวะพักการชำระหนี้ เพื่อให้บริษัทฯ กับเจ้าหนี้ได้เจรจาตกลงหาแนวทางการชำระหนี้ผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยจะต้องมีการเสนอแผนการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โควิดอย่างเท่าเทียมกันทุกรายภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

ถาม : หากศาลไม่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จะกลับมาจ่ายสินไหมโควิดอีกหรือไม่
ตอบ : หากศาลไม่อนุญาตให้บริษัทฯ ฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จะไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเงินได้ ซึ่งบริษัทฯ จะไม่สามารถจ่ายสินไหมโควิดได้ สำนักงาน คปภ. จะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และบริษัทฯ ต้องหยุดดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน
การฟื้นฟูกิจการจึงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเพียงช่องทางเดียวที่มีอยู่ หากไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ จะมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากและไม่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใดเลย บริษัทฯ จึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะดำเนินการฟื้นฟูกิจการให้ประสบความสำเร็จ เพื่อประโยชน์แก่ผู้เอาประกันโควิดและผู้เอาประกันประเภทอื่นๆ

ถาม : เข้าฟื้นฟูกิจการแล้วจะยังมีการจ่ายหนี้โควิดหรือไม่
ตอบ : แม้จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ผู้เอาประกันยังเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะต้องเสนอแนวทางการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะต้องมีมูลค่าการชำระหนี้มากกว่ากรณีที่บริษัทฯ ต้องปิดกิจการอย่างแน่นอน และหากที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการและศาลเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าว เจ้าหนี้สินไหมโควิดย่อมได้รับชำระหนี้ตามข้อกำหนดของแผนต่อไป

ถาม : แผนฟื้นฟูกิจการมีระยะเวลา 5 ปี แต่การเรียกร้องค่าสินไหมของผู้เอาประกันหรือเจ้าหนี้มีอายุความ 2 ปี ทำให้อายุความในการเรียกร้องค่าสินไหมหมดก่อนที่แผนฟื้นฟูจะเสร็จ จริงหรือไม่
ตอบ : ไม่จริง การนับอายุความในการเรียกร้องค่าสินไหมจะหยุดลงเมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และจะเริ่มกลับมานับอายุความต่ออีกครั้งเมื่อออกจากการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น ระยะเวลาในแผนฟื้นฟูกิจการไม่ได้มีผลต่ออายุความในการเรียกร้องค่าสินไหม

ถาม : กระบวนการเจรจาในศาล จะเอื้อประโยชน์ให้ลูกหนี้มากกว่าเจ้าหนี้โควิด จริงหรือไม่
ตอบ : ไม่จริง การเจรจาในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ใช้หลักการให้เกิดผลชนะด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ภายใต้ความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกันด้วยเหตุ ด้วยผล และข้อเท็จจริง และกฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงว่าจะยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการที่บริษัทฯ เสนอหรือไม่
เนื่องจากเจ้าหนี้โควิดมีจำนวนหลายแสนราย ความคุ้มครองสูงสุดคือ 100,000 บาท และจำนวนหนี้รวม 30,000 ล้านบาท หากไม่มีการเจรจาเกิดขึ้น บริษัทฯ จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตในที่สุด และเจ้าหนี้ต้องไปเรียกร้องต่อที่กองทุนประกันวินาศภัยซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าทุกรายจะได้รับชำระหนี้

ถาม : การสอบถามสถานะเคลมสินไหมโควิด ติดต่อได้ที่ใดบ้าง
ตอบ : บริษัทฯ ยังเปิดให้บริการตามปกติ โดยผู้เอาประกันสามารถสอบถามสถานะเคลมสินไหมโควิดได้ที่อาคารสำนักงานใหญ่ และสาขาของบริษัทฯ ในแต่ละจังหวัด.

23 พ.ค. 65 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามที่ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ตามพ.ร.บ.ล้มละลายฯ โดยเสนอให้บริษัทตัวเอง เป็นผู้บริหารแผนเองนั้น

ล่าสุด ศาลล้มละลาย ได้ส่งหมายไปยังเจ้าหนี้ต่างๆ ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยแล้ว ซึ่งมีเจ้าหนี้หลายประเภท ตั้งแต่ธนาคาร ไปจนถึงเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบที่แจ้งเคลม หรือใช้สิทธิ์เรียกร้องแล้วรวมกว่าสามแสนราย จากกรมธรรม์ทั้งหมด 2 ล้านกรมธรรม์

ศาลจะนัดไต่สวน ผู้ร้อง ผู้คัดค้านในวันที่ 18 ส.ค. 65 นี้ จะมีบรรดาเจ้าหนี้หรือผู้แทน จะเข้ามาคัดค้านหรือไม่ ก็ต้องรอดู ในส่วนของลูกค้าที่เป็นผู้เอาประกันที่มีการแจ้งเคลมแล้ว ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้ด้วยกลุ่มหนึ่งหากจะเข้ามาในคดีเองทั้งหมดกว่าสามแสนกว่าคนอาจจะทำได้ยาก แต่อาจรวมตัวกันตั้งตัวแทนเข้ามาดูแลส่วนได้เสียของตนในคดีอาจจะเป็นการดีกว่า ในการแจ้งของศาลจะมีการแจ้งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และประกาศทางหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย

กรณีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จะคล้ายๆ กับการบินไทย ที่ฟื้นฟูกิจการ
จะมีลูกค้าที่บินกับการบินไทยแล้วสะสมไมล์ซึ่งมีสิทธิ์เรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือซื้อตั๋วแล้วแต่มีเลื่อนการเดินทาง ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้ทั้งสิ้น และมีจำนวนมาก ก็มีการแบ่งเป็นกลุ่มๆ และตั้งผู้แทน รับมอบอำนาจ เข้ามาในคดี เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูและตั้งผู้ทำแผนฯ แล้ว ก็จะเป็นงานของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

“การฟื้นฟูกิจการ จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ลูกหนี้ เพราะจะทำให้กิจการดำเนินต่อไปได้ ที่อาจทำให้บริษัทที่ฟื้นฟูมีมูลค่ามากกว่าการนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกันซึ่งจะเป็นกรณีที่บริษัทเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งหากกิจการไม่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากนัก เจ้าหนี้แต่ละรายอาจจะได้รับชำระหนี้คืนน้อยกว่าที่จะได้รับในการฟื้นฟูกิจการ”.





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow