INSURANCETHAI.NET
Fri 26/04/2024 18:06:54
Home » การประกันภัย » หลักส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย (Principle of Insurable Interest)\"you

หลักส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย (Principle of Insurable Interest)

2019/02/11 23558👁️‍🗨️

หลักส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย (Principle of Insurable Interest) ถือเป็นหลักสำคัญพื้นฐานของการประกันภัย (Basic Doctrine) หลักในข้อนี้แป็นทั้งแนวคิดในกฎหมายและแนวคิดในทางศีลธรรมด้วย

ส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย หมายถึง ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีกรรมสิทธิ สิทธิประโยชน์ หรือความรับผิดตามกฎหมายในวัตถุหรือเหตุที่เอาประกันภัยในขณะที่ทำสัญญาประกันภัย

ส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยอาจจะเป็นกรรมสิทธิ์ สิทธิตามกฎหมายหรือความรับผิดชอบตามกฎหมาย  ผู้มีสิทธิ์ที่จะเอาประกันภัยไม่ว่าจะเป็นการประกันวินาศภัย หรือการประกันชีวิต ผู้นั้นจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย เท่านั้น ทั้งนี้ก็โดยถือหลักว่า การประกันภัยเป็นการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับความความเสียหายที่แท้จริงเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นเกิดความระมัดระวังและป้องกันทรัพย์สินหรือสิ่งของที่เอาประกันไว้ไม่ให้เกิดความเสียหายโดยง่าย  นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันมิให้ใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือของการพนัน เพื่อแสวงหากำไรหรือการเก็งกำไรจากความเสียหายที่ตนไม่ได้มีส่วนได้หรือไม่ได้รับความเดือดร้อนจากการเกิดเหตุร้ายนั้น ซึ่งถ้าหากผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียในเหตุประกันภัยนั้นก็อาจทำให้ผู้นั้นไม่ระมัดระวังในทรัพย์ที่เอาประกันภัย หรือผู้เอาประกันภัยต้องการให้เกิดภัยกับทรัพย์นั้นด้วยเจตนาเพื่อตนจะได้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยก็ได้ ฉะนั้นผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียซึ่งมิใช้ผู้ที่ตกอยู่ในการเสี่ยงภัยจึงไม่อาจทำประกันภัยได้

บุคคลที่มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย คือ บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเจ้าของบ้านย่อมได้รับความเสียหาย ถ้าบ้านของตนถูกเพลิงไหม้ เจ้าของรถยนต์ย่อมได้รับความเสียหาย ถ้ารถยนต์ของตนถูกชน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผู้เป็นเจ้าของหรือมีสิทธิ หรือได้ประโยชน์จากทรัพย์สิน หรือสิ่งใดโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมจะเอาประกัน ทรัพย์สินหรือสิ่งนั้นได้ ผู้ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์ หรือสิ่งใดย่อมเอาประกันภัยทรัพย์สิน หรือสิ่งนั้นไม่ได้

บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในวัตถุหรือเหตุที่เอาประกัน

กรณีการประกันวินาศภัย

1.1 เป็นเจ้าของ   ผู้ครอบครอง หรือผู้ดูแล หรือผู้พิทักษ์ทรัพย์ทรัพย์สินนั้น

ผู้เป็นเจ้าของย่อมมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินซึ่งการเป็นเจ้าของย่อมมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เอาประกันภัย และเจ้าของย่อมเสียหายหรือสูญเสียผลประโยชน์ ถ้าทรัพย์ที่เอาประกันภัยไว้เกิดความเสียหาย การแสดงความเป็นเจ้าของนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว อาจเป็นเจ้าของร่วมหรือเป็นเจ้าของบางส่วนก็ได้ เช่นผู้ซื้อบ้านหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ระบบเงินผ่อนด้วยการตกลงผ่อนส่งเงินเป็นงวด ๆ ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำสินค้านั้นมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าภายหลังสินค้าหรือตัวทรัพย์สินเหล่านั้นเกิดสูญหายหรือเสียหายตนก็ยังต้องรับผิดชอบในการผ่อนส่งเงินตามงวดชำระที่ยังผ่อนชำระไม่ครบ

1.2   ผู้เป็นเจ้าหนี้

เจ้าหนี้ย่อมมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ตนยึดถือไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อประกันในการชำระหนี้เช่น ผู้รับจำนำ ผู้รับจำนอง เช่น นาย ก. ไปขอกู้เงินจากธนาคารจำนวน 1 ล้านบาท โดยนำเอาบ้านของตนไปจำนองไว้กับธนาคาร ฯ ซึ่งผู้เป็นเจ้าหนี้เกรงว่าจะเกิดไฟไหม้แก่บ้านที่รับจำนองไว้ ธนาคารมีสิทธิจะเอาบ้านไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันภัยได้โดยใส่ชื่อธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์ ถ้าเพลิงเกิดไม้บ้านหลังดังกล่าวบริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคาร         

1.3   ผู้มีสิทธิตามสัญญา

สัญญาในที่นี้หมายถึง ข้อผูกพันที่ได้ทำการตกลงถึงเฉพาะกรณีและมีผลบังคับคู่สัญญา เป็นสิทธิที่เรียกร้องให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องกระทำหรือจ่ายเงินชดใช้ความเสียหายถ้ามีเหตุให้ทรัพย์นั้นต้องเสียหายหรือสูญหายเกิดขึ้น ผู้มีส่วนได้เสียที่เกิดจากสัญญามักเกิดในกรณีเอาประกันวินาศภัย เช่น ผู้ให้เช่าย่อมมีส่วนได้เสียในค่าเช่าที่ได้รับจากผู้เช่า เจ้าของอาคารทำสัญญากับผู้เช่าอาคารให้ผู้เช่าอาคารรับผิดชอบค่าเสียหายถ้าเกิดอัคคีภัยกับอาคารนั้น ดังนั้นจึงทำให้ผู้เช่าได้รับสิทธินั้น ซึ่งส่วนได้เสียนี้อาจเอาประกันได้จึงย่อมทำประกันภัยอาคารได้

1.4   ผู้มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย

ความรับผิดชอบตามกฎหมายเป็นความรับผิดต่อทรัพย์สิน ซึ่งเกิดขึ้นตามกฎหมาย และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายเมื่อเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชีวิตที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยแก่ทรัพย์ที่รับมอบให้ดูแลรักษา เช่นผู้รับขนส่งสินค้า ผู้รับเหมา ผู้เช่า ผู้รับจ้างทำของต้องดูแลทรัพย์นั้นให้ปลอดภัย จึงถือว่าผู้รับผิดชอบดังกล่าวนั้นมีส่วนได้เสีย สามารถเอาประกันภัยทรัพย์ได้ อันเป็นกรณีปร

1.5   ผู้มีส่วนได้เสียในฐานะตัวแทนของเจ้าของ

ตัวแทน หมายถึง บุคคลที่มีอำนาจทำการแทนอีกบุคคลหนึ่งตามที่ได้ตกลงไว้

การเป็น “ตัวแทน” จะเป็นโดยการแต่งตั้งแสดงออกโดยชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้ เนื่องจากตัวแทนเป็นบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของให้กระทำการแทน จึงต้องรับผิดชอบดูแลทรัพย์สินให้ได้รับความปลอดภัย และต้องชดใช้ถ้าหากเกิดความเสียหายต่อทรัพย์นั้น ตัวแทนจึงมีสิทธิที่จะเอาประกันภัยทรัพย์นั้นได้ ส่วนได้เสียในฐานะตัวแทนมักจะเกิดในกรณีประกันวินาศภัย เช่น เจ้าของคลังสินค้ารับมอบอำนาจจากเจ้าของสินค้าหรือผู้นำสินค้ามาฝากให้ช่วยดูแลรักษาทรัพย์สินนั้นให้ได้รับความปลอดภัย โดยเจ้าของคลังสินค้าออกใบประทวนสินค้าให้แก่ผู้ฝากหรือเจ้าของสินค้า ถ้าเกิดความเสียหายแก่สินค้าในคลังสินค้าเจ้าของคลังสินค้าจะต้องชดใช้ให้กับเจ้าของสินค้าหรือผู้ฝากสินค้าหรือผู้ถือใบประทวนสินค้านั้น

เจ้าของคลังสินค้ามีสิทธิเอาประกันภัยสินค้าที่รับฝากได้โดยระบุให้เจ้าของสินค้าเป็นผู้รับประโยชน์หรือถ้าไม่ระบุชื่อผู้ฝากสินค้าหรือจะระบุให้ผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนได้เสียในสินค้านั้นเป็นผู้รับประโยชน์ก็ได้โดยระบุว่า “To Whom It May Concern”

 2.   กรณีประกันชีวิต

2.1   เป็นเจ้าของชีวิตหรือร่างกายนั้น

บุคคลย่อมมีส่วนได้เสียในชีวิตของตนเองคือการเป็นเจ้าของชีวิตหรือร่างกายนั้นตามข้อกำหนดในกฎหมายจึงย่อมเอาประกันชีวิตตนเองได้ แต่ถ้าซื้อประกันขีวิตบุคคลอื่น ตนเองต้องมีส่วนได้เสียในชีวิตผู้นั้นด้วย ซึ่งส่วนได้เสียนี้อาจเกิดจากความสัมพันธ์ทางด้านครอบครัว สายเลือดเดียวกันโดยมีการแจ้งจดทะเบียนในทะเบียนบ้านและในสูติบัตร ทะเบียนสมรส ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา สามี ภรรยา บุตร สำหรับญาติพี่น้องต้องพิสูจน์ว่ามีการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ตลอดจนส่วนได้เสียอันเกิดจาการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน เพื่อร่วมกันทำกิจการค้าขายหรือร่วมลงทุนซึ่งพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตของห้างหุ้นส่วน

2.2  ผู้เป็นเจ้าหนี้

สำหรับเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจากลูกหนี้ย่อมเกิดความเสียหายได้ถ้าลูกหนี้ถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บทุพพลภาพ ดังนั้นเจ้าหนี้จึงมีส่วนได้เสียในชีวิตลูกหนี้ เจ้าหนี้สามารถจะเอาประกันชีวิตลูกหนี้ได้โดยจำนวนเงินเอาประกันเท่ากับยอดเงินที่กู้ยืม และเจ้าหนี้เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตลูกหนี้ดังกล่าว

2.3   ผู้มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย

บุคคลที่มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย เช่นนายจ้างที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อการปฏิบัติหน้าที่และชีวิตของลูกจ้าง ถ้าลูกจ้างได้รับอันตรายหรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการทำปฏิบัติงาน ส่วนได้เสียของนายจ้างสามารถทำประกันภัยได้

กรณีบริษัทประกันภัยซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าความเสียหายให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์บริษัทประกันภัยจึงมีส่วนได้เสียในทรัพย์หรือชีวิตที่เอาประกันภัยบริษัทรับประกันภัยนั้นมีสิทธิที่จะเอาประกันภัยได้ด้วยวิธีการเอาไปประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยอื่น เช่น บริษัทไทยรับประกันภัยต่อแห่งประเทศไทย (The Thai Re-Insurance of Thailand)  รับทำประกันภัยโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งซึ่งมีวงเงินคุ้มครอง จำนวน 100 ล้านบาท แต่บริษัทมีขีดความสามาถที่จะรับไว้ได้เองเพียง 60 ล้านบาท ซึ่งเรียกลักษณะการรับประกันภัยประเภทนี้ว่า “ภาระในการเสี่ยงภัย (Retention)” ส่วนจำนวนเงินที่เหลืออีก 40 ล้านบาท บริษัทประกันภัยนำ ก. ก็นำไปประกันภัยต่อหรือเรียกว่า “ประกันช่วง (Re-Insurance)” กับบริษัทประกันภัยอื่นในประเทศหรือนอกประเทศก็ได้ เช่น บริษัทไทยรับประกันภัยต่อแห่งประเทศไทย บริษัทรับประกันภัยต่อประเทศเยอรมัน  หรือในประเทศอังกฤษ  ฯลฯ ซึ่งบริษัทประกันภัย ก. สามารถทำได้ เพราะบริษัทมีส่วนได้เสียในโรงงานน้ำตาลด้วย

สาระสำคัญของส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย

1.   ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีกรรมสิทธิ์ สิทธิ์ ประโยชน์ หรือความรับผิดตามกฎหมายซึ่งสามารถตีราคาเป็นเงินได้

2.  ผู้เอาประกันจะต้องมีกรรมสิทธิ์ สิทธิ หรือประโยชน์เหล่านั้นจะต้องมีอยู่เหนือตัวทรัพย์ หรือความรับผิดชอบอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะที่ทำสัญญาประกันภัย

3.   ผู้เอาประกันมีความผูกผันกับวัตถุที่เอาประกันภัยในกรณีที่จะเกิดประโยชน์กับเขาหากวัตถุที่เอาประกันภัยนั้นจะปลอดจากวินาศภัยหรือปลอดจากความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากวินาศภัยนั้น

ความผูกพันระหว่างผู้เอาประกันภัยกับวัตถุที่เอาประกันนั้นจะต้องเป็นไปตาม

1.   วินาศภัยที่เกิดขึ้นจะต้องมีผลกระทบต่อการสูญเสียเงินทอง (Financial Loss)

เช่น เจ้าของสินค้ามีสิทธิประกันภัยความเสียหายในสินค้าของตน หรือผู้รับจำนำสินค้ามีสิทธิเอาประกันภัยสินค้าที่ตนรับจำนำไว้ และในกรณีเจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์มีสิทธิทำประกันภัยรถยนต์ของผู้อื่นทุกคันที่นำมาซ่อมในอู่ของตน

2. ตามประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์มาตราที่ 863 ได้บัญญัติไว้ว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

ถ้าหากในระว่างสัญญาประกันภัย การเสี่ยงภัยได้หมดไปหรือวัตถุที่เอาประกันหมดไปหรือได้มีการโอนวัตถุที่เอาประกันไปให้ผู้อื่นแล้ว ส่วนได้เสียในเหตุประกันนั้นก็จะหมดไปด้วย ซึ่งจะทำให้สัญญาประกันภัยนั้นไม่มีผลผูกพันกับผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุประกันภัยนั้นต่อไป.

ตัวอย่าง

1.  นาย A เป็นเจ้าของบ้าน ขายบ้าน ให้นาย B ไปแล้ว ส่วนได้เสียของนาย A ที่ทำประกันอัคคีภัยบ้านหลังนั้นก็สิ้นสุดลง

2. เมื่อนาย C ได้ไถ่ถอนบ้านที่เขาจำนองไว้กับธนาคารD เรียบร้อยแล้ว ส่วนได้เสียของธนาคารD ในบ้านหลังนั้นที่ธนาคารเคยรับจำนองไว้ก็เป็นอันสิ้นสุดลง

ผู้รับผลประโยชน์

ตามมาตรา 862 กล่าวว่า  “ผู้รับประโยชน์หมายความว่า บุคคลผู้พึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินใช้ให้” อนึ่งผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์จะเป็นบุคคลเดียวกันก็ได้ในการปฏิบัติผู้รับประกันจะต้องพิจารณาผู้รับประโยชน์ในกรมธรรมควรจะเป็นบุคคลต่าง ๆ ดังนี้

  1. ผู้เอาประกันภัย
  2. บิดา มารดาของผู้เอาประกันภัย
  3. ภรรยาหรือสามีของผู้เอาประกันภัย
  4. บุตรของผู้เอาประกันภัย
  5. เจ้าหนี้
  6. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด
  7. กองมรดกในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้ระบุว่าใครเป็นผู้รับประโยชน์ ดังในมาตรา 897 “ถ้าผู้เอาประกันได้เอาประกันไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนมิได้เจาะจงระบุหรือผู้หนึ่งผู้ใดได้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้พึงเอาเป็นทรัพย์สินแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้”

กรณีผู้รับประโยชน์ กฎหมายมิได้ระบุว่าจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยไว้จะเป็นใครก็ได้ ถ้าในข้อสัญญาหรือในเงื่อนไขไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้แต่อย่างไรก็ตามในความจริงแล้วการที่บริษัทประกันภัยจะรับประกันภัยนั้น ผู้รับประโยชน์ควรจะต้องมีส่วนได้เสียกับผู้เอาประกันภัย เพราะถ้าไม่มีส่วนได้เสียแล้วผู้รับประโยชน์อาจจะฆ่าผู้เอาประกันภัยเพื่อหวังเงินประกันก็ได้

ในการประกันภัยนั้น ผู้เอาประกันจะต้องมีส่วนได้เสียในวัตถุหรือเหตุที่เอาประกันภัยนั้น ถ้าไม่มีส่วนได้เสียจะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

ตัวอย่างเช่น

นาย A เป็นตัวแทนประกันชีวิตได้จัดการให้นาย B เอาประกันชีวิตได้กับบริษัทหนึ่งโดยนาย A เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันและกรมธรรม์ระบุให้นาย A เป็นผู้รับประโยชน์ โดยนาย Aไม่มีส่วนได้เสียหรือมีความสัมพันธ์ใด ๆ ในการเอาประกันชีวิตของนาย B เมื่อนาย B ตายภายในกำหนดระยะเวลาการเอาประกัน นาย A จะไม่ได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์เพราะถือว่า นาย Aไม่มีส่วนได้เสีย

ขนาดเงินทุนประกันภัย และขนาดของส่วนได้เสีย

1. ขนาดเงินทุนประกันภัย  การเอาประกันภัยของผู้มีส่วนได้เสียในกรณีประกันวินาศภัยและประกันชีวิตนั้น ได้มีการกำหนดขนาดจำนวนวงเงินเอาประกันภัยไว้ว่าไม่เกินส่วนได้เสียที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุร้ายที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์ เช่น เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินไปโดยมีหลักทรัพย์วางค้ำประกันในวงเงิน 100,000 บาท เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเอาประกันภัยทรัพย์ที่เป็นหลักประกันได้ในวงเงิน 100,000 บาท บวกกับดอกเบี้ยที่จะได้รับจากเงินกู้ดังกล่าวเท่านั้น ในทำนองเดียวกันถ้าผู้กู้ยืมไม่มีหลักทรัพย์วางค้ำประกันเงินกู้ ผู้กู้ยืมอาจทำประกันชีวิตของตนเองในวงเงินเอาประกันบวกด้วยจำนวนดอกเบี้ยโดยการระบุชื่อเจ้าหนี้เป็นผู้รับประโยชน์ ได้เช่นเดียวกัน

 2.   ขนาดของส่วนได้เสีย  โดยทั่วไปส่วนได้เสียกำหนดได้โดยจำนวนความเสียหายหรือสูญเสียอันอาจประเมินเป็นจำนวนเงินหรือมูลค่าได้ ที่บุคคลหนึ่งจะได้รับถ้ามีภัยเกิดขึ้น กล่าวคือ

– ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดย่อมมีส่วนได้เสียเท่ากับจำนวนแห่งทรัพย์
– ผู้เป็นเจ้าของร่วม ย่อมมีสิทธิในส่วนได้เสียเท่ากับส่วนที่ตนเป็นเจ้าของ
– ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เช่าทรัพย์สินไปตลอดนั้น ย่อมมีส่วนได้เสียเท่ากับจำนวนทรัพย์ที่ตนได้ครอบครอง
– ผู้รับจ้างทำของ  ผู้รับซ่อม  ผู้ดูแล ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของทรัพย์สินที่มอบไว้แก่ตน บุคคลดังกล่าวนี้ย่อมมีส่วนได้เสียเท่ากับจำนวนทรัพย์สินที่ตนได้ครอบครองไว้

กำหนดเวลาของส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย

การทำประกันวินาศภัย หรือการทำประกันชีวิต ผู้เอาประกันภัยจำเป็นต้องมีส่วนได้เสียในขณะที่ทำสัญญา ยกเว้น กรณีการประกันภัยทางทะเล ซึ่งผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้เสียในขณะที่ทำสัญญาประกันภัยก็ได้ แต่จะต้องมีส่วนได้เสียในขณะที่เกิดเหตุเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์จึงจะมีสิทธิได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์จึงจะมีสิทธิได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัย  เช่นผู้สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศโดยทำการขนส่งสินค้าทางทะเลได้ทำการประกันภัยสินค้าที่ตนสั่งซื้อโดยการสั่งนั้นใช้เงื่อนไขแบบ F.O.B (Free on Board) ตามเงื่อนไขนี้ผู้ซื้อสินค้ายังไม่มีกรรมสิทธิ์และยังไม่ต้องจ่ายเงินค้าสินค้า ให้แก่ผู้ขายจนกว่าสินค้านั้นจะขนลงเรือเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ถือว่าผู้ซื้อสินค้ายังไม่มีส่วนได้เสียในสินค้าของช่วงระหว่างการขนส่งจากโรงงานหรือโกดังสินค้าของผู้ขายไปยังเรือสินค้า ถ้าสินค้าเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งจากแหล่งผู้ขายไปยังเรือบรรทุกสินค้า ผู้สั่งซื้อสินค้าก็ไม่มีสิทธิได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย

กรณีกลับกัน ถ้าเกิดเหตุร้ายซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายระหว่างที่สินค้าอยู่ในเรือสินค้าแล้ว ผู้ซื้อสินค้ามีกรรมสิทธิ์ในสินค้า ผู้ซื้อสินค้าจึงมีส่วนได้เสียในขณะที่เกิดเหตุเสียหาย และมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยได้ โดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะจ่ายตามมูลค่าที่เสียหายที่แท้จริงไม่เกินจำนวนวงเงินเอาประกัน  ซึ่งต่างจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีการประกันชีวิต ซึ่งจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้กำหนดมูลค่าหรือจำนวนเงินชดใช้จำนวนที่แน่นอนชัดเจนไว้ล่วงหน้าแล้ว

โดยทั่วไปการประกันภัยจะพิจารณาเวลาที่จะต้องมีส่วนได้เสียนั้นให้ถือเอาในขณะทำสัญญาประกันภัยเป็นเกณฑ์ ซึ่งหมายความว่าในขณะตกลงทำสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ทำประกันภัยนั้นสัญญาประกันภัยจึงจะใช้ได้ แต่ถ้า “ส่วนได้เสียหมดสิ้นไปหลังจากทำสัญญาแล้ว”แต่ระยะเวลาการคุ้มครองในสัญญาประกันภัยยังไม่สิ้นสุดหรืออายุคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวยังไม่หมด การพิจารณาชดใช้เงินค่าเสียหายจำแนกวินิจฉัยออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

1. กรณีประกันวินาศภัย การเอาประกันทรัพย์สินในทางประกันวินาศภัยเกิดขึ้นหลังจากส่วนได้เสียหมดสิ้นไปแล้ว ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์หมดสิทธิ์ ที่จะเรียกร้องเงินค่าชดใช้จากบริษัทประกันภัย เพราะไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด (ป.พ.พ. มาตรา 877)

ตัวอย่าง

นาย A ทำประกันอัคคีภัยบ้านของตนไว้  500,000 บาท โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี จากวันที่ 1 มกราคาม ถึงวันที่ 1 ธันวาคม หลังจากสัญญาประกันอัคคีภัยเริ่มมีผลใช้บังคับต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม นาย A ได้บอกขายบ้านหลังที่เอาประกันภัยไว้โดยขายและจดทะเบียนโอนโฉนดกันเรียบร้อยแล้วในวันที่ตกลงซื้อขายกัน ซึ่งถือว่าส่วนได้เสียในบ้านของนาย A ได้หมดสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่โอนบ้านให้แก่ผู้ซื้อ ต่อมาเกิดเพลิงไหม้บ้านหลังดังกล่าว นาย A จะเรียกร้องบริษัทที่รับประกันภัยให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเดิมไม่ได้เพราะตนไม่มีส่วนได้เสียในบ้านหลังที่ขายโดยไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านหลังนั้นแล้ว

 2. กรณีประกันชีวิต  การเอาประกันชีวิตถึงแม้ส่วนได้เสียจะหมดไปแล้วถ้าสัญญาประกันชีวิตยังมีผลใช้บังคับอยู่ด้วยการส่งชำระเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่อง ภายหลังภัยได้เกิดขึ้น ผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตได้ เช่น สามีทำประกันชีวิตภรรยาไว้ ต่อมาสามีภรรยาคู่นี้เกิดการหย่ากัน สามีซึ่งเอาประกันชีวิตภรรยาของตนก็ยังส่งเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สัญญายังมีผลบังคับใช้อยู่เสมอ ต่อมาภรรยาได้ตาย สามีหรือผู้รับประโยชน์ สามารถเรียกร้องขอรับเงินเอาประกันชีวิตได้จากบริษัทประกันชีวิตดังกล่าว





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow